หากพูดถึงประวัติความเป็นมา อาจารย์ชีวิน อัจฉริยะฉาย คือผู้ก่อตั้ง “โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ” และผู้สร้างหลักสูตรไทฟูโด ซึ่งเป็นศิลปะป้องกันตัวแขนงใหม่ที่เกิดจากประสบการณ์เรียนรู้ศิลปะการต่อสู้หลากหลายแขนงของอาจารย์ชีวินที่สะสมมานานเกือบ 40 ปี ไทฟูโดจึงเป็นศาสตร์ที่ผสมผสานความรู้และเทคนิคจากศิลปะการต่อสู้หลายประเภท เข้าด้วยกันอย่างลงตัว
หัวข้อ
หากไม่นับการฝึกมวยจีนที่อาจารย์ชีวินได้รับจากปู่ผู้เป็นนักสู้มวยจีนและมวยไทเก๊กที่อพยพมาจากประเทศจีน อาจารย์ชีวินเริ่มต้นการเรียนศิลปะการต่อสู้ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ โดยฝึกฝนในศาสตร์การต่อสู้ที่หลากหลายจากเอเชีย เช่น มวยไทย ไทเก๊ก กังฟู เทควันโด คาราเต้ ไอคิโด วันฮวาโด ยูยิตสู และอื่น ๆ รวมถึงการใช้อาวุธในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยความเชี่ยวชาญในหลายศาสตร์นี้ อาจารย์ชีวินได้รับเลือกเป็นที่ปรึกษาและร่วมออกแบบเทคนิคการต่อสู้ในภาพยนตร์ชื่อดังอย่างองค์บาก 2 และองค์บาก 3
ประวัติความเป็นมาของโรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
อาจารย์ชีวิน อัจฉริยะฉาย เริ่มคิดค้นหลักสูตร “ไทฟูโด” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 โดยเริ่มทดลองสอนให้กับลูกศิษย์ที่สนใจ และปรับปรุงหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2541 จึงได้ทำเรื่องขออนุญาตเปิดโรงเรียนสอนไทฟูโดจากกระทรวงศึกษาธิการ หลังจากใช้เวลากว่า 6 ปี ในปี พ.ศ.2547 โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ “สถาบันไทฟูโด” ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็ได้เปิดทำการอย่างเป็นทางการ และในปัจจุบันยังมีสาขาเพิ่มเติมที่กรุงเทพฯ อีกด้วย
อาจารย์ชีวินกล่าวว่า “สำหรับผู้ที่ไม่เคยผ่านการเรียนศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวมาก่อน หลักการไทฟูโดไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจยาก ไทฟูโดจะเป็นพื้นฐานให้ผู้เรียน ได้ค้นพบว่าตัวเองเหมาะกับศาสตร์ใดเพื่อฝึกฝนให้เกิดความเชี่ยวชาญ ขณะเดียวกันก็เหมาะกับผู้ที่เคยผ่านการเรียนศิลปะป้องกันตัวแขนงอื่นมาแล้ว โดยผู้เรียนแค่เปิดใจยอมรับก็สามารถนำหลักการของไทฟูโดไปต่อยอดสิ่งที่เคยเรียนมาได้ทันที”
“การพัฒนาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีเก่ามันถึงมีใหม่ แต่สิ่งที่ดีขึ้นในศาสตร์ใหม่ก็คือ แนวทางที่เราเอามาจากครูได้ถูกปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้นำไปสู่การเรียนการสอน ที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ไทฟูโดเองนับเป็นศาสตร์การต่อสู้ของไทยชนิดหนึ่งที่อยู่บนแนวทางของมวยไทย ผสมกับศิลปะการต่อสู้หลายๆ อย่าง โดยมุ่งเน้นที่การป้องกันตัว”
เมื่อผ่านการฝึกฝนมามาก อาจารย์ชีวินพบว่าศิลปะการต่อสู้แต่ละศาสตร์มีจุดเด่นไม่เหมือนกัน เหมาะสมที่จะนำไปใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เนื่องจากในสถานการณ์จริง ไม่มีใครสามารถนำทุกศาสตร์มาใช้ในเวลาเดียวกันได้ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเริ่มคิดค้นและเรียบเรียงจุดเด่นของศิลปะการป้องกันตัวแต่ละแขนงเข้าด้วยกัน และจัดลำดับท่าขึ้นใหม่ จนกลายเป็นหลักการง่ายๆ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ป้องกันตัวได้จริง รวมถึงนำไปพัฒนาทักษะการต่อสู้ของตนเองในแขนงต่างๆ หรือเพื่อประกอบอาชีพ เช่น ผู้สอนศิลปะป้องกันตัว บอดี้การ์ด และสตั้นท์แมน เป็นต้น
ตามแนวคิดอาจารย์ชีวิน
ตามแนวคิดของอาจารย์ชีวิน อัจฉริยะฉาย ในการใช้ศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัวให้สมบูรณ์ ผู้เล่นจำเป็นต้องมีองค์ประกอบพื้นฐาน 3 อย่าง ดังนี้
- กำลังของร่างกายส่วนต่างๆ โดยเฉพาะมือ ซึ่งเป็นอาวุธสำคัญสำหรับวิชาไทฟูโด
- ท่ามวย หรือท่วงท่าการต่อสู้
- เทคนิคหรือเคล็ดวิชา
อาจารย์ชีวินอธิบายว่า “เทคนิคคือหลักการที่ผมจะสอนให้คุณ มันเป็นหลักการที่เกิดจากความเข้าใจทั้งหมดของผม เมื่อคุณรู้แล้วสามารถนำไปใช้เชื่อมโยงกับศิลปะการป้องกันตัวได้ทุกแขนง แต่จู่ๆ ถ้าผมยื่นให้แต่หลักการหรือความเข้าใจก็ไม่ได้ มันต้องกลับไปหารูปลักษณ์เพื่อให้คุณฝึกฝนการใช้หลักการเหล่านั้น”
หลักสูตรแรกของไทฟูโดคือ “หลบหลีกปัดป้อง” ซึ่งเป็นการฝึกทักษะการป้องกันตัว ส่วนกระบวนท่าหมัด-เท้า-เข่า-ศอก เป็นท่าตอบโต้หรือจู่โจมแบบทักษะยืนพื้น สำหรับหลักสูตร “คว้าหักจับทุ่ม” จะใช้ท่วงท่าพลิ้วไหว ตามแรงและย้อนแรงด้วยหลักการมวยอ่อนจากไทเก๊ก แต่หากเป็นการจู่โจมในระยะประชิดก็จะปรับมาใช้ท่ามวยหมัดระยะประชิดของมวยจีนหวิงชุน ทำให้ศิลปะการต่อสู้ไทฟูโดครบเครื่องเรื่องการป้องกันตัว
กระบวนท่าต่างๆ เหล่านี้ อาจารย์ชีวินเรียกว่า “รูปลักษณ์” ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาร้อยเรียงมาจากจุดเด่นของศิลปะการต่อสู้หลายแขนง เพื่อให้เหมาะกับการนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ
หลักการระยะประชิดในการต่อสู้
อาจารย์ชีวินยกตัวอย่างหลักการเรื่อง “การเข้าสู่ระยะ” โดยเแบ่งระยะประชิดในการต่อสู้ออกเป็น 4 ระยะ เริ่มจากระยะที่ประชิดที่สุด ได้แก่
- ระยะศอก
- ระยะเข่า
- ระยะหมัด
- ระยะเท้า
เมื่อเข้าใจหลักการเรื่องระยะแล้ว ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการป้องกันตัวเบื้องต้นได้ทันที
สำหรับหลักการป้องกันตัว “มุ่งไปยังเป้าหมายที่ต้องการ” อาจารย์ชีวินยกตัวอย่างว่า เมื่อถูกคนร้ายจับข้อมือ ขณะที่คนส่วนใหญ่มักสนใจไปที่การแก้ข้อมือที่โดนจับด้วยการใช้กล้ามเนื้อและแรงในการสะบัดหรือพลิกมือออก เทคนิคที่ง่ายกว่า คือ “มุ่งไปยังเป้าหมายที่ต้องการ” โดยไม่ต้องสนใจมือที่โดนจับ แต่ให้ใช้มืออีกข้างหรือขาโจมตีไปยังเป้าหมาย เช่น ตา คอหอย หรือจุดอวัยวะต่างๆ การป้องกันตัวด้วยเทคนิคนี้ง่ายกว่า เร็วกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่า
หลายๆ หลักการของ “ไทฟูโด” คือปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติที่หลายคนทำอยู่แล้วโดยไม่ทันสังเกตลำดับขั้นตอน แต่ระหว่างผู้ที่เคยฝึกวิชาป้องกันตัวกับผู้ที่ไม่เคยฝึกฝนมาก่อน อาจมีปฏิกิริยาตอบสนองที่แตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพในการใช้แรงและความไว การฝึกฝนเทคนิคเหล่านี้ผ่านกระบวนท่าต่างๆ จึงเป็นการฝึกปฏิกิริยาตอบสนองที่เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์
อาจารย์ชีวิน อธิบายว่า “ถ้าไม่อยากโดนต่อย คุณก็ต้องยืนอยู่ในระยะที่ 4 แต่เมื่อคุณยืนอยู่ในระยะนี้ หากต้องการโต้ตอบ คุณจะต้องใช้วิธีถีบหรือเตะ เพราะถ้าต่อยก็จะไม่ถึง จนกว่าคุณจะก้าวเข้าไปหาคู่ต่อสู้ในระยะที่ใกล้ขึ้น หรือหากคุณอยู่ในระยะศอก คุณต้องถอยออกมาอย่างน้อย 3 ระยะ เพื่อไม่ให้คู่ต่อสู้ทำร้าย แต่ถ้าหนีไม่ได้ คุณอาจต้องใช้หลักวิชามวยจีน โดยมุ่งสู่เป้าหมายที่จุดตายทั้ง 12 จุดของคู่ต่อสู้”
อาจารย์ชีวินสรุปสั้นๆ ถึงหัวใจสำคัญของไทฟูโดว่า “มันต้องสมมาตรระหว่างความคิดกับการใช้แรง”
สุดท้ายปรมาจารย์แห่งศิลปะศาสตร์ไทฟูโดได้ทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าจะเป็นศิลปะการต่อสู้แขนงไหนก็ตาม หัวใจสำคัญที่ถือเป็น “สุดยอด” แห่งศิลปะการป้องกันตัว คือ “การไม่เกิดการต่อสู้”
ติดต่อเรา
- สถานที่ : ถนน ปุณณกัณฑ์ ตำบล คอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ สงขลา 90110
- Facebook : Taifudo Academy – โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
- Instagram : taifudoacademy.official
- Tiktok : Taifudo Academy
- Twitter : Taifudo Academy
- Youtube : @taifudoacademy
- LINE : Taifudo Academy
- เบอร์โทร : 083 923 4204
- เว็บไซต์ : www.taifudo.com
- แผนที่ : Taifudo Academy