เส้นทางศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของผมนั้น เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2540 ครับ ในปีนั้นครูหวันซึ่งเดิมเป็นครูสอนเปียโนอยู่ที่ รร.ดนตรีหาดใหญ่ ที่โรบินสัน ได้ย้ายออกมาเปิดโรงเรียนสอนดนตรีของตัวเองบนถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 ชื่อโรงเรียนดนตรีบุญลีย์ ผมซึ่งตอนนั้นอยู่ ป.5 และได้เริ่มเรียนเปียโนมาตั้งแต่ ป.2 ได้ย้ายตามมาเรียนกับครูหวันที่โรงเรียนแห่งใหม่ด้วย
จากนั้นในช่วงใกล้ปิดเทอมเดือนตุลาคมของปีนั้นเอง ทางโรงเรียนได้มีโครงการสอนศิลปะป้องกันตัวไอคิโดช่วงปิดเทอมขึ้น ผมนั้นก็ชอบเรื่องของหมัดมวยตามธรรมชาติของเด็กผู้ชายอยู่แล้ว (และจากการปลูกฝังด้วยภาพยนตร์จีนกำลังภายในจากคุณพ่อ) จึงเริ่มเกิดความสนใจ แต่ก็ยังแปลกใจอยู่ว่าไอคิโดคืออะไร เนื่องจากในตอนนั้นวิชาที่มักจะได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือ ยูโด คาราเต้ และเทควันโด เท่านั้น ต่อมาจากการสอบถามจึงได้รู้คร่าวๆ ว่า หลักของไอคิโดคือเป็นมวยอ่อน เน้นการยืมแรงเป็นหลัก เท่านั้นเอง คุณแม่ของผมจึงส่งเสริมผมมากขึ้นไปอีกครับ ในที่สุดผมก็ได้สมัครเรียนไปครับ
เมื่อช่วงเวลาปิดเทอมมาถึง ผมก็อดตื่นเต้นไม่ได้ครับ แต่รู้สึกว่าผมจะพลาดการฝึก 2 วันแรกไป เนื่องจากไม่สบาย วันแรกของผมที่เริ่มฝึก เพื่อนๆ คนอื่น จึงล้ำหน้าผมไปบ้างแล้วครับ ผู้ที่มาทำการฝึกสอนให้นั้นเป็นนักศึกษาจากชมรมไอคิโดของ ม.อ. ชื่อ พี่ก๊อตและพี่เหน่ง พี่ทั้งสองคนใจดีมากครับ โดยเฉพาะพี่ก๊อตที่ดูน่าเชื่อถือ เนื่องจากบุคลิกและหน้าตาของพี่ก๊อตอาจจะล้ำหน้าอายุไปบ้าง (ล้อเล่นนะครับ) การฝึกก็เป็นไปอย่างสนุกสนาน ช่วงแรกก็ฝึกพวกท่าพื้นฐาน อย่างเช่น การดัดข้อมือ การเคลื่อนเท้า การโล้ตัว ล้มตัว
สถานที่ฝึกก็เป็นห้องซ้อมที่ทางโรงเรียนจัดไว้ให้ครับ ไม่กว้างมาก แต่ค่อนข้างยาว มีเบาะไว้ให้ล้มตัวและมีกระจกติดอยู่ที่ผนังด้านหนึ่ง ผมก็ไปฝึกอย่างสม่ำเสมอจนในที่สุดคอร์สปิดเทอม 2 อาทิตย์ ก็จบลงครับ
แต่หลังจากนั้นไม่นานครูหวันก็มีข่าวดีมาบอกครับ เนื่องจากกระแสตอบรับที่ดีจากนักเรียน จึงมีโครงการที่จะเปิดสอนต่อช่วงเปิดเทอมในวันเสาร์อาทิตย์ครับ ผมก็ลงเรียนต่อทันทีเลยครับ โดยเลือกเรียนวันเสาร์ และผู้ฝึกสอนก็ยังเป็นคนเดิมอยู่ครับ การฝึกจึงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ครับ
จนกระทั่งถึงช่วงปลายปีประมาณเดือนธันวาคมครับผมก็ไปเรียนตามปกติ แต่บางสิ่งบางอย่างกำลังจะเปลี่ยนไปโดยที่ผมไม่รู้มาก่อน วันนั้นพี่ก๊อตและพี่เหน่งเดินเข้ามาในห้องฝึกพร้อมคนแปลกหน้าคนหนึ่ง เป็นชายวัยเกือบจะกลางคน เชื้อสายจีน ผิวขาว หน้าตาเคร่งขรึม ท่าทางเคร่งเครียดมาก และนั่นคือการพบกันครั้งแรกของผมและอาจารย์ชีวิน อัจฉริยะฉาย ครับ จากการเปิดตัวครั้งแรกของอาจารย์ชีวิน อาจารย์ได้เข้ามาทำหน้าที่่เป็นผู้ฝึกสอนคนใหม่ที่โรงเรียนดนตรีบุญลีย์ โดยมีพี่ก๊อตและพี่เหน่งเป็นผู้ช่วยและอาจารย์ได้เริ่มเผยแพร่ศิลปะแขนงใหม่ นั่นคือ “ไทฟูโด” ในช่วงแรกผมคิดว่าไทฟูโด ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากไอคิโดมากนักเพราะมีการหักล็อกข้อมือเหมือนกัน แต่เมื่อเรียนต่อไปเรื่อยๆ
ก็เริ่มมีหลายสิ่งหลายอย่างเพิ่มเข้ามาครับ โดยในระยะแรกของไทฟูโดนั้น วิชายังไม่ได้รับการจัดระบบให้ลงตัว ก็มีหลายๆ อย่างรวมกันอยู่ ทั้งการฝึกบนเบาะ
การฝึกการป้องกันตัวด้วยมือเปล่า และการรำมวยจีน ในช่วงแรกที่อาจารย์ชีวินเข้ามาสอน อาจารย์เข้มงวดกับการฝึกซ้อมเป็นอย่างมากครับ ลองนึกถึงการฝึกซ้อมที่โรงยิมในบางวัน ที่ศิษย์ทั้งหลายไม่ค่อยตั้งใจฝึก หรือเล่นกันมาก แล้วอาจารย์อารมณ์เสีย ในช่วงแรกอาจารย์มักจะอารมณ์นั้นเกือบทุกครั้งที่มาสอนเลยก็ว่าได้ และมักจะทำหน้าดุตลอดเวลา
มีครั้งหนึ่งที่อาจารย์สอนว่า “ต้องรู้จักควบคุมตัวเองให้นิ่งอยู่เสมอ หัวเราะได้ ยิ้มได้ แต่สายตาต้องนิ่ง”
การฝึกในยุคแรกเป็นไปอย่างเข้มงวดและหนักแน่น เน้นการฝึกพื้นฐานโดยเฉพาะการตบเบาะ และการยืนม้า เรียกได้ว่าบางวันไม่ต้องทำอะไรเลยครับ ตบเบาะกันจนเหงื่อโชก หรือไม่ก็ยืนม้าจนขาสั่น แล้วก็กลับบ้าน ด้วยเหตุนี้มีนักเรียนหลายคนที่สู้ไม่ไหวและลาออกไป ส่วนผมนี่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ทนเรียนต่อไป ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากการผลักดันของพ่อและแม่ผมครับ วันไหนผมงอแงไม่อยากไปเรียน แม่ก็จะบอกว่าไปเรียนหน่อยเถอะลูก ไปออกกำลังกายนะ และอีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากใจที่รักในศิลปะการต่อสู้และความศรัทธาต่ออาจารย์ครับ เนื่องจากอาจารย์นั้นดูน่าเกรงขามและน่าเชื่อถือ ผมจึงทนเรียนต่อไป
หลังจากเวลาผ่านไปประมาณ 3-4 เดือน จึงมีการสอบเลื่อนสายครั้งแรกขึ้น โดยจัดขึ้นที่โรงเรียนดนตรีบุญลีย์นี่เองครับ เมื่อวันสอบมาถึงผมตื่นเต้นมาก เนื่องจากเป็นการสอบสายครั้งแรก กลัวสอบไม่ผ่านครับ การสอบวันนั้นมีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เริ่มที่การสอบทฤษฎี สอบพร้อมกันทุกคน ตอนแรกคิดว่าน่าจะมีแต่คำถามยากๆ เพราะเวลาที่อาจารย์สอนนั้น มักจะมีการสอดแทรกหลักปรัชญาและทฤษฎีเข้าไปอยู่เสมอๆ แต่เมื่อเวลาสอบมาถึง อาจารย์ให้เอากระดาษเปล่ามาคนละใบและอาจารย์จะเป็นคนบอกคำถาม
มีอยู่หลายคำถาม แต่ผมจำได้สองคำถามครับ “แม่ของชินจังชื่ออะไร?” และ “ป้ายทะเบียนรถของอาจารย์เลขทะเบียนอะไร?” คำถามอื่นอาจจะไม่แหวกแนวเท่านี้ แต่เท่านี้ก็ทำให้ผมและทุกคนงงได้แล้วครับ แต่ในภายหลังจึงได้รู้ว่าเจตนาของอาจารย์นั้นคือต้องการทดสอบการสังเกต สิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในการป้องกันตัว ต่อจากนั้นจึงเป็นการสอบปฏิบัติ เป็นการทดสอบทักษะพื้นฐานทั้งหมด ซึ่งจุดที่หนักที่สุดคงไม่พ้นการตบเบาะที่ตบเต็มเซ็ทและต่อเนื่องจนแทบไม่มีเวลาพักหายใจ เหนื่อยมากครับ แทบจะหมดแรงจริงๆ นอกจากจะต้องมีทักษะแล้ว ยังต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งและอดทนด้วย
ต่อจากนี้ยังมีการสอบพิเศษอีกหนึ่งอย่างครับ อาจารย์จะให้ทุกคนออกมานอกห้องฝึกและคอยเรียกเข้าไปทีละคนครับ ซึ่งผมรู้สึกตื่นเต้นและหวาดหวั่นมากครับ เนื่องจากไม่รู้ว่ามีอะไรรออยู่ในห้อง มีความคิดไปต่างๆ นานา ความคิดที่น่ากลัวที่สุดคือให้เข้าไปประลองกับอาจารย์ชีวินตัวต่อตัว แต่โชคดีที่ไม่ใช่ครับ เมื่อผมถูกเรียกชื่อและเดินเข้าไปในห้องฝึกซ้อม อาจารย์ชีวินนั่งอยู่บนเก้าอี้ที่ด้านหนึ่งของห้อง และบนเบาะที่มุมห้องฝั่งหนึ่ง มีอาวุธหลากหลายชนิดวางเรียงรายอยู่ และอาจารย์ได้บอกสถานการณ์สมมติว่า มีคนกำลังจะเข้ามาทำร้ายเรา ให้เลือกอาวุธมา 1 ชนิดเพื่อใช้ป้องกันตัว เมื่อเลือกได้แล้ว อาจารย์ก็ถามต่อว่าจะใช้อาวุธนั้นป้องกันตัวอย่างไร และยังมีคำถามอื่นตามมาอีกครับ สำหรับผมแล้วการสอบครั้งนั้นเป็นการสอบที่กดดันที่สุดเท่าที่ได้สอบสายมาจนถึงปัจจุบันครับ
ผลการสอบก็เป็นที่น่าพอใจ ผมผ่านการสอบและได้เลื่อนขึ้นสู่สายเหลือง แต่สภาพร่างกายของผมหลังสอบโทรมมาก จนอาจเรียกได้ว่ายับเยิน ผมตื่นนอนวันรุ่งขึ้นเกือบๆ เที่ยงวัน และเมื่อผมจะลุกจากเตียง ลุกไม่ขึ้นครับ แม้แต่ยกคอยังทำไม่ได้ ผมต้องค่อยๆ ตะแคงตัวแล้วใช้มือดันตัวขึ้นด้วยความทุลักทุเล ผมปวดเมื่อยตามตัวไปทุกส่วนของร่างกาย และปวดไปอย่างนั้นหนึ่งสัปดาห์เต็มๆ และนี่คือยุคเริ่มต้นของไทฟูโด และการสอบสายครั้งแรกของผมครับ
เขียนโดย : นายพิชญ