เดิมทีวิชาการเหล่านี้เป็นลัทธิไสยศาสตร์ของพวกพราหมณ์ ครั้นนานเข้าความรู้สึกเดิมหายไป ชวนให้เห็นเป็นลัทธิพุทธศาสนา โดยไปเจริญอยู่ในท่ามกลางภิกษุฝ่ายมหายาน มีคณาจารย์สั่งสอนเวทย์มนต์ขึ้น ตลอดจนได้ดัดแปลงแก้ไขไสยวิทยาคม ด้วยการคัดเอามนต์พราหมณ์ออกเสีย โดยบรรจุพระพุทธมนต์เข้าแทนด้วยเห็นว่า แม้มนต์ของพราหมณ์ยังมีอานุภาพมากมาย หากนำเอาพระพุทธมนต์ จะต้องมีอานุภาพยิ่งกว่านี้แน่ เช่น การเป่า, ปลุก, เสก, ลงเลข, ลงยันต์ แต่ก็ยังมีคนส่วนมากที่ไม่เชื่อว่าเครื่องรางของขลัง หรือเวทย์มนต์คาถาเลขยันต์ เหล่านี้จะให้ผลได้จริง กลับเห็นเป็นสิ่งไร้สาระหรือเห็นเป็นเครื่องหลอกลวงกันเล่น เพราะทดลองดูแล้วไม่ปรากฏผลเป็นจริงดังว่า ส่วนผู้ที่เชื่อถือว่าเป็นจริงได้ก็เพราะได้ทดลองเห็นประจักษ์แก่ตัวเองแล้ว ฉะนั้นขอให้ท่านใครครวญและพิสูจน์โดยการใช้วิจารณปัญญาของท่านเอง ตรึกตรองดูให้ถ่องแท้แน่แก่ใจ การใช้เวทมนต์ คาถา ทั้งหลายนั้น มิได้หมายความว่าเมื่อท่องจำได้แล้วจะนำเอาไปใช้ให้มีความขลังศักดิ์สิทธิ์ เกิดผลประโยชน์ได้เลยก็หาไม่ พึงเข้าใจว่า เวทมนต์คาถาเป็นคำสอนภาวนาบริกรรม ทำให้โน้มน้าวจิตใจให้เกิดสมาธิแน่วแน่ มีมโนคติช่วยปลุกพลังจิต ทำให้เกิดมโนมยิทธิ (ฤทธิที่สำเร็จได้ทางใจ) เข้มแข็งยิ่งขึ้น ดั่งผู้จะเรียนจำต้องสำรวมใจให้เป็นสมาธิ โดยการฝึกฝน สวดมนต์ ภาวนา บริกรรม กำหนดลมหายใจ เข้าออกให้สม่ำเสมอ ทำให้เกิดพลังทางกระแสจิตอย่างแรงกล้า เพื่อช่วยให้กระแสของกาย ใจ ให้มี มโนมยิทธิ ขึ้น บันดาลให้เกิดความสำเร็จสมความปรารถนา
การตั้งขันครู
- การเล่าเรียนเวทมนต์คาถา จะต้องมีวิธีครอบครูหรือไหว้ครูเสียก่อน เพื่อไม่ให้ต้องธรณีสาร และเพื่อให้การทำของให้ขึ้น ในที่นี้จะกล่าวถึง การตั้งขันเล็ก คือ ขัน ๕, ขัน ๗ และขัน ๙ ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์ดังต่อไปนี้
- พานตั้งขัน
- พานวางหนังสือหรือตำราต่าง ๆ
- ธูป ๕
- เทียน ๕
- เงิน ๖,๙,๑๒ หรือ ๓๖ บาท
- ยาฉุน,ยาเส้นหรือบุหรี่
- ไม้ขีด
- ผ้าขาว,ผ้าแดง อย่างละหนึ่งคืบ หรือ หนึ่งพับ
- แก้วน้ำ
- ขันน้ำมนต์
- เทียนน้ำมนต์
- ดอกไม้ ๓,๕ หรือ ๙
- ดอกบัว ๓,๕ หรือ ๙
- ทองคำเปลวแท้
- น้ำมันจันท์แท้
- สีผึ้ง
- ผลไม้ต่าง ๓,๕,๗ หรือ ๙ เป็นต้น
ขึ้นอยู่กับมติของแต่ละอาจารย์ว่าจะให้ตั้งขันใด โดยให้แจ้งกับครูผู้สอนเสียก่อนให้แน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง
การกำหนดลมหายใจในการใช้เวทมนต์
จะต้องสำรวมจิตใจให้เป็นสมาธิ ระลึกถึง พระรัตนตรัย ครูบาอาจารย์ คุณบิดามารดา ภาวนากำหนดลมหายใจเข้าออก ให้สม่ำเสมอกัน พร้อมทั้งว่าเวทมนต์คาถาให้เสมอกันไปด้วย อย่าให้ระยะช้าบ้างเร็วบ้าง โดยไม่ได้จังหวะ เมื่อปฏิบัติดังนี้แล้ว จะรู้สึกขนลุกซู่ซ่าทั่วสารพางค์กาย ก็จะเกิดความขลัง มีอานุภาพ ความศักดิ์สิทธิ์
ว่าคาถาพร้อมสูดลมหายใจช้า ๆ เข้า ๑ ที จนจบเนื้อมนต์ แล้วผ่อนลมหายใจออกช้า ๆ ๑ ที จนจบเนื้อมนต์ ว่าในใจก็ได้ ด้วยการผ่อนสูดลมหายใจเข้าออก ให้สม่ำเสมอกันนั่นเอง ถ้าเนื้อมนต์สั้น เมื่อหายใจเข้าจำต้องว่าหลายจบ และหายใจออกจำต้องว่าหลายจบ ดุจกัน
ภาวนาบริกรรม หายใจเข้า ๑ ที และหายใจออก ๑ ที เรียกว่า ๑ คาบ ภาวนาเป็นจำนวน คาบ เช่น ๓,๗,๙,๑๐๘ คาบ จำต้องชักลูกประคำไปด้วย เพื่อให้จิตมีสมาธิ และมั่นคง และไม่ลืมจำนวนครั้งที่ท่องไปแล้ว
ถ้าหากมีมนต์คาถาหรือโองการ เป็นบทยาว ก็ต้องสำรวมใจ ให้เป็นสมาธิ จิตมั่นคง ว่าคาถา พร้อมกับหายใจเข้าออกให้เสมอกัน โดยมุ่งให้ดวงจิตแน่เป็นสมาธิ โดยไม่ต้องพะวงถึงสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น ที่จะไม่ให้สมาธิเสื่อม
การปลุกเสก
ดำเนินวิธีการภาวนาคาบ กระทำจนดวงจิตเป็นสมาธิ การเพ่งกสิณ คือ กระทำให้เกิด อุคหะนิมิต บังเกิด ปีติด้วยลักษณะ อาการต่างๆ เช่น เกิดอาการขนพองสยองเกล้า และใช้กำลังของธาตุต่าง ๆ มาช่วยเสริม
หมายเหตุ: การตั้งขันครูบายศรีใหญ่ ให้ดูจากหนังสือ อาจารย์เทพ สาริกบุตร หรือตำราพระเวทย์ต่าง ๆ มีแจ้งไว้ หรือแล้วแต่มติของอาจารย์แต่ละท่าน
กำหนดวิธีภาวนา
โดยอาศัยลมหายใจเข้าออกเป็นเกณฑ์ เวลาหายใจเข้านั้น ให้มั่นอยู่ในคำภาวนา สูดเอาคาถาที่ภาวนาเข้าไปในกายตัว พร้อมกับหายใจเข้า เมื่อจบลมหายใจเข้าก็ให้จบคาถาที่ภาวนา ทั้งนี้ไม่จำกัดว่า การสูดลมหายใจเข้าแต่ละทีจะว่าคาถาได้กี่จบ เพราะเป็นบทสั้น ๆ ก็อาจจะว่าได้หลายจบ ส่วนนี้เรียกว่า คาบคาถา
การทำสมาธิเกี่ยวกับการเสกเป่า
เวลาหายใจเมื่อการภาวนาคาบคาถา เมื่อหายใจออกนั้นแทนที่จะหายออกธรรมดา ให้ใช้เป่าลมออกไปทางปาก โดยเป่าออกไปนั้นก็ให้มันอยู่ในภาวนาด้วย ขณะหายใจเข้าได้กี่บท เมื่อเป่าออกก็ภาวนาให้ได้เท่ากับหายใจเข้า โดยการเป่าให้สิ้นสุดกระแสลมเป่าพอดี ชนิดนี้เรียกว่า บริกรรมเป็นคาบ
ภาวนาแบบอึดใจ
ในกรณีรีบด่วนที่จะต้องทำ ทำประดุจหนึ่ง คนดำลงไปในน้ำ อึดใจหนึ่งนี้เรียกว่า คาบหนึ่ง การภาวนาชนิดนี้ท่านเรียกว่า คาบลม
อานิสงส์ของสมาธิ
เป็นมาตรฐานแรกแห่งวิปัสสนาญาณ บรรลุได้ไม่เกินขั้น ญาณสมาบัติ ผู้ที่ได้ญาณสมาบัติ ก็อาจจะแสดงอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ได้ตามภูมิญาณ ที่บรรลุ
หากบังเกิดเป็นครั้งคราวแล้วก็แปรปรวนไป ต้องพยายามหัดบำเพ็ญ กระทำอยู่เสมอ สมาธิชนิดนี้ ท่านเรียกว่า “อุปจารสมาธิ” คือ สมาธิ ที่บังเกิดขึ้นอย่างฉาบฉวย เป็นครั้งเป็นคราว ไม่มั่นคงถาวร ได้แต่เพียงเฉพาะกาล แต่ถ้าดวงจิตนั้น อยู่ในอารมณ์เดียว ไม่เปลี่ยนแปลงไปสู่อารมณ์อื่นเลย อุปจารสมาธิ ก็จะคืบคลานไปสู่ขั้น “อัปปนาสมาธิ” คือ สมาธิที่บังเกิดขึ้นอย่างหนักแน่น มั่นคง ไม่มีอาการเสื่อมคลาย แต่หากมีสิ่งแวดล้อม มาทำให้จิตใจแปรปรวน อาจจะทำให้เสื่อมคลายไปได้ ต้องพยายามหมั่นกระทำอยู่เสมอ โดย
- ต้องหาที่อยู่อย่างสบาย
- ระวังอย่าให้แสงอาทิตย์ส่องหน้า
- ต้องหลีกเลี่ยงอย่าให้ได้ยินถ้อยคำไม่เพราะหู
- ต้องกินอาหารไม่เป็นโทษต่อร่างกาย
- รู้จักข่มจิต ปล่อยจิต ประคองจิต ให้ชุ่มชื่นอยู่เสมอ
- ให้หลีกเลี่ยงอย่าเข้าใกล้ คนที่อ่อนแอ ฟุ้งซ่าน และคบคนที่เข้มแข็ง มั่นคง
- ระวังอย่าให้ใจเร็ว วู่วาม เกินไป หรือเกียจคร้าน
การวางจิตในการปลุกเสก
คือ การใช้มโนมยิทธิ อธิฐาน ให้สิ่งที่กระทำนั้นเกิดอิทธิฤทธิ์ ขึ้น จุดสำคัญอยู่ที่กระแสจิต ถ้าประสงค์ ในทาง อยู่คงกระพันชาตรี ต้องวางอารมณ์ให้แข็งแกร่ง โดยไม่คิดย่นย่อต่อ ศาสตรา อาวุธ ทั้งปวง ทำกำลังใจให้แข็งแกร่ง
ถ้าปลุกเสก ในทาง เมตตามหานิยม ต้องวางกำลังใจ ให้อ่อนละมุน ละมัย ไม่ให้มีจิต โทสะ ความโกรธ ในจิต ทำจิตใจให้สดชื่น ร่าเริง อ่อนหวาน และเยือกเย็น จึงจะทำให้บังเกิด เสน่ห์นิยม ขึ้นได้
ถ้าจะปรุงใจ ด้านลาภสักการะ ก่อให้เกิดความร่ำรวย หรือ ทำให้เกิดยศศักดิ์ เลื่อนตำแหน่ง หน้าที่การงาน ทำมาค้าขึ้น ตลอดจนเกิด ศิริมงคล ต้องพยายามทำใจ ให้หมดภาระต่าง ๆ ทำจิตให้เห็นเงินทอง ลาภยศ ที่ปรารถนา แล้วจึงแผ่เมตตาจิต ลงทับของสิ่งนั้น ทำจิตให้หมดนิวงศ์ สิ่งที่ปรารถนาจะบังเกิดขึ้น