Taifudo Academy

บทที่ 7 บรูซ ลี แรงบันดาลใจ

บทที่ 7 บรูซ ลี แรงบันดาลใจ
taifudo book7 (Web V)

ในปี พ.ศ.2530 ขณะนั้นผมเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่กรุงเทพฯ ผม (อาจารย์ชีวิน อัจฉริยะฉาย) เข้าชมรมคาราเต้ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย UTCC Karate Club ผมฝึกคาราเต้ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ช่วง 16.00 น.-20.00 น. และฝึกเทควันโดกับอาจารย์กฤช วรธำรงค์ ทุกคืนเวลา 21.00 น.-24.00 น. ต่อมาผมก็ได้ฝึกมวยไทยไชยากับครูทอง เชื้อไชยาในวันเสาร์และวันอาทิตย์ช่วง 13.00 น.-15.00 น. ฝึกทั้งสามวิชาต่อเนื่องด้วยกันตลอดทั้งปี ผมฝึกกำลัง, วิดพื้น, ยืนม้า, ท่าชก, ท่าเตะ ฯลฯ ณ เวลานั้น ผมมุ่งมั่นจดจ่อในการฝึกศิลปะการต่อสู้อย่างมาก

ซึ่งตั้งแต่ผมได้เริ่มฝึกคาราเต้นั้น ในวงสนทนาของผู้ฝึกยุทธมักมีการพูดถึงบรูซ ลี ซึ่งเป็นนักแสดงและผู้เชี่ยวชาญเรื่องการต่อสู้ป้องกันตัวเขาเป็นดาราเอเชียที่ฝรั่งยอมรับในฐานะดาราชาวจีนคนแรกที่ไปประสบความสำเร็จในฮอลลีวูดด้วยความเชี่ยวชาญ กังฟู ทั้งอาวุธ และมือเปล่าตัวจริงเสียงจริง วิธีการต่อสู้ที่ดัดแปลง รวมมวยสากล และมวยจีนเข้าด้วยกัน ทำให้ท่าทางการต่อสู้ของเขาไม่เหมือนดาราคนอื่นๆ เป็นหนึ่งในนัก ศิลปะการต่อสู้ ที่คนทั้งโลกรู้จัก ต้องมีชื่อเขาคนนี้

อาจารย์ชีวิน อัจฉริยะฉาย กับความชื่นชอบบรูซ ลี (Bruce Lee)

ภาพจำ “บรูซ ลี” เขาคือมนุษย์ที่มีเรือนร่างสมบูรณ์พร้อม ทั้งหน้าท้อง มัดกล้าม ไม่มีไขมันให้เห็นสักนิดเดียว หน้าตาจริงจัง บุคลิกดีดูเท่ห์มากในเวลานั้น ผมมักเห็นภาพบรูซ ลี ในนิตยสาร Black Belt และนิตยสาร Inside Kung Fu ซึ่งเป็นนิตยสารอเมริกันที่นำเสนอศิลปะการป้องกันตัวและการต่อสู้ นิตยสารมีวางขายเฉพาะร้านหนังสือชั้นนำบนห้างขนาดใหญ่ ภาพส่วนใหญ่จะเป็นภาพตั้งท่าการต่อสู้ทั้งมือเปล่า หรือภาพถืออาวุธกระบองสองท่อนที่ดูเป็นเอกลักษณ์ ผมจะซื้อเก็บไว้และได้แต่เปิดดูภาพเพราะตัวหนังสือเป็นภาษาอังกฤษทั้งเล่ม ภายในเวลาเกือบหนึ่งปีผมยังออมเงินค่าขนมเพื่อทยอยซื้อม้วนวิดีโอภาพยนตร์ของบรูซ ลี The Big Boss, Fist of Fury, The Way of the Dragon, Enter the Dragon, Game of Death จนซื้อได้ครบทุกเรื่องและอีกม้วนคือ The Legend of Bruce Lee ซึ่งเป็นประวัติของบรูซ ลี ผมซื้อวิดีโอเหล่านี้จากร้านแมงป่องในห้างมาบุญครอง

ในปี พ.ศ.2530 นั้น ผมมาเรียนและอาศัยอยู่บ้านญาติในห้องที่ผมพักไม่มีทีวีไม่มีเครื่องเล่นวิดีโอ ผมซื้อม้วนวิดีโอบรูซ ลี มาได้ครบทุกม้วนแล้วแต่ก็ไม่เคยได้ดูก่อนเข้านอนผมมักนำม้วนวิดีโอมาจับพลิกไปพลิกมาเปิดที่ด้านบนตลับม้วนวิดีโอ เพื่อดูฟิล์มพลางหลับตาคิดว่าบรูซ ลีจะมีท่าทาง กังฟู ในวิดีโอเป็นอย่างไร

ในปี พ.ศ.2531 ผมย้ายมาเรียนที่มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ และผมเช่าบ้านอยู่เองแล้วจึงอยากซื้อทีวี และเครื่องเล่นวิดีโอไว้ดู ทั้งสองอย่างตอนนั้นรวมกันราคาเกือบ 12,000 บาท ผมพยายามเก็บออมเงินค่าขนมเกือบทั้งปีได้เงินราว 6,000 บาท ผมตัดสินใจนำสร้อยคอทองคำหนักหนึ่งบาทที่แม่ให้ผมไว้ นำไปขายได้เงินมาอีก 6,000 บาท รวมเงินกันแล้วรีบแปลงเป็นทีวีและเครื่องเล่นวิดีโอทันที ผมตื่นเต้นมากที่จะได้ดูบรูซ ลี ในบทบาทมวย กังฟู จากม้วนวิดีโอที่ผมซื้อเก็บไว้แต่ไม่เคยเปิดดูเลย ได้แต่จินตนาการเองมาเป็นแรมปี

Movie : The Big Boss

เรื่อง The Big Boss (เรื่องราวเกิดขึ้นในเมืองไทย) เรื่อง Fist of Fury (เฉินเจินแห่งสำนักจิงอู่) 2 เรื่องนี้กำกับโดยหลอเว่ย เรื่อง The Way of the Dragon บรูซ ลี นำแสดง เขียนบท และกำกับเอง ในที่มีฉากสู้กับแชมป์คาราเต้ของอเมริกาอย่างชัค นอร์ริส ในโคลอสเซียม

Movie : Enter the Dragon

เรื่อง Enter the Dragon บรูซ ลีแสดงหนังร่วมทุนสร้างฮอลลีวู้ด (โดยวอร์เนอร์บราเธอร์ส) กับฮ่องกง (โดยโกลเด้นฮาร์เวสต์) ประสบความสำเร็จในแง่รายได้ (ทำรายได้ประมาณ 20 ล้านในอเมริกา และ 90 ล้านจากทั่วโลก โดยใช้งบสร้างไม่ถึง 1 ล้านเหรียญ)

Movie : Game of Death

เรื่อง Game of Death ผลงานชิ้นสุดท้ายของ บรูซ ลี (แต่ไม่ท้ายสุด เพราะยังมีหนังเกี่ยวกับเขาสร้างออกมาเรื่อยๆ ทั้งฝรั่งและเอเชีย) ซึ่ง บรูซ ลี รับบทดาราหนังที่แกล้งตาย เพื่อจัดการกับศัตรูที่ปองร้าย บรูซ ลี เสียชีวิตระหว่างถ่ายทำ ทางผู้สร้างต้องแก้ปัญหาโดยนำฟุตเทจที่ไม่ได้ใช้ในของบรูซ ลีมาตัดต่อและใช้นักแสดงแทนมาสวมบทแทนบรูซ ลี ซึ่งภาพ บรูซ ลี ในชุดสีเหลืองอันแสนคลาสสิคก็มาจากหนังเรื่องนี้

เรื่อง Legend of Bruce Lee กับศิลปะการต่อสู้

ในส่วนของเรื่อง Legend of Bruce Lee ก็เป็นการเสนอประวัติของ บรูซ ลี ตอนนั้นผมเอาแต่ดูวิดีโอของ บรูซ ลี อย่างตั้งใจ ผมถึงขั้นนอนแล้วฝันว่า บรูซ ลี มาสอนมวยให้ผมอีกด้วย ผมดูทุกๆ ฉากการต่อสู้ของทุกๆ เรื่องซ้ำแล้วซ้ำอีก เปิดซ้ำไปซ้ำมาเพื่อผมจะฝึกการต่อสู้เลียนแบบลีลาท่าทางการออกหมัดเท้าตามอย่างบรูซ ลี ผมฝึกชกเทียนวันละเป็นพันๆ หมัด

จนในช่วงแรกมีอาการเอ็นอักเสบ กล้ามเนื้อสะบักหลังฉีก ผมไม่ลดละพยายามฝึกต่อไป และด้วยพลังในช่วงวัยหนุ่มอายุ 18 ปี ของผมที่ฝึกกำลังมาอย่างหนักตลอด และผ่านการฝึกมวยมาหลายวิชาแล้วทำให้ผมสามารถเลียนแบบท่าการต่อสู้ ออกหมัด เท้าแบบบรูซ ลี ในทุกฉากการต่อสู้ได้ทุกท่าทุกสเต็ป และขอบอกตามตรงเลยว่าตอนนั้นแม้ผมสามารถทำได้ทุกท่าทุกสเต็ปก็จริงแต่ผมไม่ได้เข้าใจหลักการใช้มวยของบรูซ ลี อย่างลึกซึ้งแต่อย่างใด

ทุกคนจะรู้จักบรูซ ลีว่าเป็นทั้งนักแสดง นักสู้, นักแสดง, นักปรัชญา, ศิลปินนักเขียนภาพ เขียนกลอน, นักเขียนหนังสือ, แชมป์เต้นรำ เป็นคนที่เอากังฟูไปเผยแพร่อย่างได้มีประสิทธิผล เขาทำให้กระแสการเรียนศิลปะการป้องกันตัวในอเมริกายุค 70 เฟื่องฟู เขาลบภาพที่ฝรั่งมองว่าคนจีนนั้นอ่อนแอขี้โรค บรูซ ลี ไม่ใช่แค่นักแสดงแต่เป็นผู้เปลี่ยนวงการการต่อสู้ของชาวจีนด้วย

บทที่ 7 บรูซ ลี (Bruce Lee) แรงบันดาลใจ

ประวัติบรูซ ลี (Bruce Lee) แรงบันดาลใจ อาจารย์ชีวิน อัจฉริยะฉาย

บรูซ ลี (Bruce Lee) หรือ หลี่ เสี่ยวหลง (李小龙) เกิดที่ซาน ฟรานซิสโก บรูซ ลี เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2483 บรูซ ลี เป็นชื่อที่นางพยาบาลตั้งให้ เพราะมันเรียกง่ายและฟังดูเป็นฝรั่งดีเหมาะกับซานฟรานซิสโก เมืองที่เขาถือกำเนิดขึ้นมา ส่วนชื่อจีนคือ ลี เสี่ยวหลง หรือ ลี จุน ฟาน ซึ่งมีความหมายว่า “เจ้ามังกรน้อย” ที่น่าแปลกใจมากๆ คือบรูซ ลี ไม่เพียงเกิดในปีมะโรงซึ่งถือเป็นปีมังกรตามความเชื่อของชาวจีนเท่านั้น แต่เขายังเกิดในช่วงเวลาของมังกรระหว่าง 06.00 น. -08.00 น. ของเช้าวันนั้นด้วย

บรูซ ลี เกิดในช่วงที่ ลีฮอยฉวน พ่อของเขาซึ่งเป็นนักแสดงงิ้วที่โด่งดังมากกำลังไปตระเวนแสดงพร้อมกับคณะ งิ้วกวางตุ้งในอเมริกา พ่อของลีเป็นชาวจีนเต็มตัว ขณะที่ เกรซ แม่ของเขานั้นเป็นลูกครึ่งจีน-เยอรมัน มังกรน้อยเลยได้ถือสัญชาติอเมริกันโดยปริยาย หลังจากให้ลีไปปรากฏตัวในหนังขณะอายุได้เพียงสามเดือน พ่อของเขาก็พาครอบครัวกลับฮ่องกง ดินแดนที่ทำให้หนูน้อยได้พบมังกร

เมื่อเริ่มย่างเข้าวัยรุ่น บรูซ ลี และ เสี่ยวหลง เข้าก๊วนกับพวกแก๊งเด็กเกเรแถวบ้าน ออกชกต่อยตะลุมบอนกับเด็กแก๊งอื่นไปทั่ว วันหนึ่งเขาโดนอัดจนเละเพราะไม่มีพรรคพวก ความเจ็บปวดและพ่ายแพ้เร้าให้ บรูซ ลี หาวิธีไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกปี พ.ศ.2496 เส้นทางจอมยุทธของบรูซ ลี ก็เริ่มต้นขึ้น เขาฝากตัวเป็นศิษย์กับอาจารย์ยิปมัน ปรมาจารย์มวยแห่งหวิงชุนแรกเริ่มการศึกษาศิลปะป้องกันตัวทำให้มังกรน้อยผยอง ไม่เกรงใคร เขาแต่งตัวแบบคนจีนโบราณไปไหนมาไหน หากใครสบตา เขาก็ไม่รอช้าที่จะท้าตีด้วยวิชามวยกังฟู

บรูซ ลี ศึกษากับอาจารย์ยิปมันได้ 4 ปี เขามีความมุ่งมั่นฝึกศิลปะการต่อสู้เพื่อเป็นเลิศในด้านการต่อสู้ให้ได้ แต่ลีฮอยฉวน ซึ่งแม้จะเป็นอาจารย์สอนมวยให้เป็นคนแรก ก็ไม่คิดว่ากังฟูจะให้อนาคตสดใสแก่ลูกชายได้ เมื่อลีอายุได้ 19 ปี วันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2502 พ่อส่งเขาขึ้นเรือไปอเมริกา เพราะเกิดเรื่องคุกรุ่นจากการที่เขาปะทะกับแก๊งนักเลง และแม่ของเขาต้องค้ำประกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งข้อหาของตำรวจ ซึ่งทำให้การเดินทางล่าช้าออกไป บรูซ ลี จากบ้านมามีเงินติดตัวเพียงร้อยเหรียญ พร้อมคำประกาศตนว่า สักวันหนึ่ง เขาจะต้องเป็นอย่าง เจมส์ ดีน และ จอห์น เวย์น ให้ได้

บรูซ ลี เข้าเรียนในสาขาวิชาปรัชญาในมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และทำงานพิเศษด้วยการเป็นพนักงานเสิร์ฟ และเริ่มต้นสอนศิลปะการป้องกันตัวให้กับคนที่มาว่าจ้างไปพร้อมๆ กัน

บรูซ ลี เคลื่อนไหวเร็วมาก จนกล้องจับไม่ทันความเร็วทั้งมือทั้งเท้าของบรูซ ลี ได้มาจากการฝึกต่อยวันละ 5,000 ครั้ง ที่ไม่ช่วยแค่พัฒนาความเร็วแต่ยังเพิ่มความทรงพลังในหมัดของเขาด้วย หลังจากชื่อเสียงของ บรูซ ลี เริ่มโด่งดังจนถึงขนาดที่ว่าโรงเรียนสอนศิลปะการป้องกันตัวของญี่ปุ่นในซีแอตเทิล ต้องขอมาทดสอบฝีมือด้วย บรูซ ลี สามารถต่อยคนตัวโตให้กระเด็นออกไปไกลๆ ได้ในโชว์ “One Inch Punch” และยังวิดพื้นได้ด้วยการใช้เพียงนิ้วชี้และนิ้วโป้งอีกด้วย ทำท่า V Position ท่าออกกำลังกายที่ยากมากท่าหนึ่งโดยการนั่งเอามือหรือหลังยันพื้นแล้วงอขาให้เป็นรูปตัว V ได้นานถึง 30 นาที แถมยังใช้นิ้วมือทิ่มกระป๋องโซดาเป็นรูได้อีกด้วย

บทที่ 7 บรูซ ลี (Bruce Lee) แรงบันดาลใจ

ในยุคนั้น บรูซ ลี ยังได้คิดค้นรูปแบบการต่อสู้ที่เรียกว่า Jeet Kune Do (จีตคุนโด) หรือวิถีแห่งการสกัดหมัด Jeet Kune Do เป็นหลักการต่อสู้มือเปล่าที่บรูซ ลี คิดค้นขึ้นเพื่อการต่อสู้อย่างแท้จริงไม่ใช่เพื่อการกีฬา เขาได้นำเอาเทคนิคและข้อดีของศิลปะการต่อสู้ เช่น กังฟู มวยปล้ำ มวยไทย มวยสากล คาราเต้ ยิวยิตสู ฯลฯ ไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน โดยมีท่วงทำนองที่ลื่นไหลและยืดหยุ่นมากขึ้น เขาเขียนเป็นตำราเหลือไว้ให้นักต่อสู้รุ่นหลังๆ ได้ศึกษาด้วย

บรูซ ลี เขียนหนังสือเล่มแรกของเขา “กังฟูจีน : ปรัชญาศิลปะในวิชาต่อสู้ป้องกันตัว” เล่าเรื่องราวการประยุกต์รวมศิลปะการป้องกันตัวกับปรัชญา และหนังสือเล่มที่ 2 ของเขา “เต๋าแห่งจีตคุนโด” ที่รวบรวมมาจากบันทึกต่างๆ ของบรูซ ลี เล่มนี้ออกภายหลังบรูซ ลี เสียชีวิตแล้ว

บรูซ ลี เป็นดาราจีนที่โด่งดังในระดับฮอลลีวูด ด้วยความสามารถด้านศิลปะการต่อสู้แบบจีตคุนโด เขาสามารถพูดอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และยังเป็นแชมเปี้ยนเต้นชะชะช่า ในปี ค.ศ.1967 นิตยสารเอ็มไพร์ (อังกฤษ) จัดเขาเป็นหนึ่งใน 100 ดารานำตลอดกาล

จากประวัติที่มีการให้สัมภาษณ์ของภรรยาบอกว่า บรูซ ลี สมองบวมเนื่องจากการใช้ยาแก้ปวด ในช่วงสองสามปีหลังเขาได้รับบาดเจ็บที่หลังมากถึงขนาดที่ว่าอาจจะไม่สามารถแสดงได้อีก คาดว่าเป็นสาเหตุของการใช้ยาแก้ปวด วันที่เสียชีวิตทานยาแก้ปวดเข้าไปแล้วก็ไม่ได้สติ เมื่อพอไปถึงโรงพยาบาลหมอก็บอกเสียชีวิตซึ่งสาเหตุที่ทำการพิสูจน์ก็คือสมองบวม เนื่องมาจากการใช้ยาแก้ปวด บรูซ ลี เสียชีวิตด้วยวัยเพียง 32 ปี เมื่อปี ค.ศ.1973 (พ.ศ. 2516) ในปี พ.ศ. 2516 นั้นผมอายุเพียงแค่ 3 ขวบ

บรูซ ลี คือนักแสดงกังฟูคนแรกที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก คนๆหนึ่งจะมีอิทธิพลต่อคนอีกหลายคนได้ขนาดนี้ แม้กายจะสิ้นไปหลายสิบปีแล้ว แต่คนยังพูดถึง เป็นต้นแบบให้ใครหลายคนได้เรียนรู้ศึกษา เหมือนตายแต่ตัว แต่วิญญาณหรือพลังงานของเขายังอยู่ เป็นแรงผลักดัน แรงบันดาลใจให้กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่

อาจารย์ชีวิน อัจฉริยะฉาย กับความชื่นชอบ บรูซ ลี (Bruce Lee) ในวิชา กังฟู

สำหรับผม บรูซ ลี เป็นผู้มีศิลป์อยู่ในตัวเอง เป็นแรงบันดาลใจสู่ความมหัศจรรย์ของพลังชีวิต เป็นอาจารย์อีกท่านที่สอนมวยให้ผมทั้งเป็นแบบอย่างให้ผมมีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการฝึกศิลปะการต่อสู้อย่างจริงจัง ผมขอคารวะ อาจารย์บรูซ ลี ผู้เป็นตำนานการต่อสู้และเป็นอัจฉริยะบุคคล

ติดต่อเรา

บทความและข่าวสารอื่นๆ

Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หลานไฉ่เหอ (藍采和; แต้จิ๋ว: น่าไชหัว, ฮกเกี้ยน: หน่าไฉฮัม) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนผู้เ...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หานเซียงจื่อ (韓湘子; ฮกเกี้ยน: ฮั้นเจียวจู้) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนแห่งลัทธิเต๋า ผู้ม...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หลี่เถียไกว่ (李鐵拐; กวางตุ้ง: เหล่ยทิดกวาย, แต้จิ๋ว: ลี้ทิก๋วย, ฮกเกี้ยน: ลี่ทิกุย) หรือที่รู้จักในชื...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
เหอเซียนกู (何仙姑; แต้จิ๋ว: ฮ่อเซียนโกว, ฮกเกี้ยน: เฮอเซียนก๊อ) หรือที่รู้จักในชื่อ “นางฟ้าเหอ&#...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
ลฺหวี่ ต้งปิน (呂洞賓; แต้จิ๋ว: ลือท่งปิน, ฮกเกี้ยน: ลีตงปิ่น) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนใ...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
จงหลีเฉฺวียน (鐘离權; กวางตุ้ง: จงสิดขือ, ฮกเกี้ยน: เจี๋ยงตีควน) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซีย...