Taifudo Academy

บทที่ 6 ท่าดีมวยไชยา (Muay Chaiya)

บทที่ 6 ท่าดีมวยไชยา (Muay Chaiya)
taifudo book6 (Web V)

“ต๊ะ นายเรียนแต่มวยต่างประเทศทำไมไม่เรียนมวยไทยด้วยว่ะ” เพื่อนคนหนึ่งพูดขึ้น ผมหันไปมองหน้าเพื่อนคนนั้นทันทีจนเพื่อนกังวลว่าผมจะไม่พอใจ “เออ จริงว่ะ” ผมตอบไป ผมไม่ได้รู้สึกโกรธที่เพื่อนทักแบบนั้น แต่กลับสะดุดในคำถามที่ผมก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มเรียนมวยไทยที่ไหนและยังไงกับใครดี

วันหนึ่งผมนั่งรถเมล์และลงตรงโชคชัย 4 เดินลงมาก็เจอแผงหนังสือ ตาพลันไปสะดุดปกหนังสือเล่มหนึ่งที่วางขายอยู่ เป็นนิตยสารสารคดีขึ้นปกนักมวยไทย (นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 33 ปีที่ 3 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2530 มวยไทยสุดยอดศิลปะแห่งการต่อสู้) ผมรีบซื้อทันที ผมอ่านรายละเอียดด้านในแล้วรีบโทรหาบรรณาธิการหนังสือ เพื่อขอเบอร์โทรติดต่อครูมวยไทยที่ทางหนังสือทำสกู๊ปสัมภาษณ์ไว้ ท่านชื่อ “ครูทองหล่อ ยาและ”

มวยไทยไชยา จากหลักฐานและคำบอกเล่าของชาวบ้านเริ่มต้นที่พ่อท่านมา ไม่มีใครทราบว่าท่านมีชื่อจริงว่าอย่างไร ทราบแต่เพียงว่าท่านเป็นครูมวยใหญ่จากพระนคร บ้างก็ว่าท่านเป็นขุนศึกแม่ทัพแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวเมืองจึงเรียกเพียงว่า พ่อท่านมา ท่านได้เดินทางมาที่เมืองไชยา และได้ถ่ายทอดวิชาการต่อสู้ไว้ให้แก่ชาวเมือง และศิษย์ที่ทำให้มวยเมืองไชยาเป็นที่รู้จักมากที่สุดในยุครัชกาลที่ 5 คือพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย)

ประวัติของครูทองหล่อ ยาและ

ครูทองหล่อ ยาและ หรือครูทอง เชื้อไชยา เป็นนักมวยไทย ผู้เป็นศิษย์ของเขตร ศรียาภัย และอาจารย์กิมเส็ง เป็นครูมวยไทยสายมวยไชยาที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ครูทองเกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2472 ที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ เมื่อเรียนอยู่ชั้น ป.6 ที่โรงเรียนวัฒนศิลป์ ประตูน้ำ ครูทองเริ่มเรียนมวยสากลกับครูประสิทธิ์นักมวยสากลจากกรมพละ ช่วงอายุ 13-14 ปี ครูทองได้ออกหาค่ายมวยไทยที่จะเรียนอย่างจริงจัง แต่ละค่ายนั้นเวลาซ้อมนักมวยจะเจ็บตัวกันมากไม่มีการป้องกันตัวเลย ครูทองจึงได้ไปหัดเรียนมวยไทยกับป๊ะลาม ญาติของแม่แถวซอยกิ่งเพชร มีครูฉันท์ สมิตเวช กับครูชาย สิทธิผล สอน

หลังจากจบภาคการศึกษา ครูทองได้มาทำงานที่การรถไฟ มักกะสัน ได้รู้จักกับเพื่อนของพ่อชื่ออาจารย์สามเศียร ได้พูดคุยเรื่องมวย และพาไปพบกับอาจารย์เขตรที่บ้าน ครูทองจึงเริ่มเรียนมวยไชยาขั้นพื้นฐานตามลำดับ เรียนอยู่หลายเดือน จึงคิดจะขึ้นชกเวทีเหมือนอย่างรุ่นพี่บ้าง ช่วงนั้นครูทองอายุประมาณ 16 ปี จึงไปขออนุญาตอาจารย์เขตร อาจารย์ท่านก็ดูฝีไม้ลายมือว่าใช้ได้ จึงบอกให้ครูทองฟิตให้ดีแล้วจะพาไปชก

แต่ครูทองท่านได้แอบไปชกมวยเวทีตามต่างจังหวัดรอบ ๆ กรุงเทพฯ ชนะมากกว่าแพ้ และได้ชกชนะมวยดังฉายาเสือร้ายแปดริ้วที่ฉะเชิงเทรา เป็นข่าวรู้ถึงอาจารย์เขตร นับแต่นั้นครูทองจึงได้ชกในกรุงเทพฯ โดยอาจารย์เขตรจะพาไปเอง ครูทองชกครั้งแรกที่เวทีราชดำเนินกับสมชาย พระขรรค์ชัย ครูทองแพ้ด้วยความตื่นเวทีใหญ่ เมื่อครูทองติดต่อขอแก้มือแต่ฝ่ายสมชายไม่ขอแก้มือด้วย มาเลิกชกมวยเมื่ออายุ 24 ปี เมื่อคุณย่าท่านป่วยหนัก และได้ขอร้องให้ครูทองเลิกชกมวยเวที ครูทองก็ให้สัจจะแต่ขอคุณย่าไว้ว่าจะเลิกต่อยแต่ไม่เลิกหัด คุณย่าท่านก็อนุญาต

ครูทองได้เรียนมวยกับอาจารย์เขตรอยู่อีกหลายปีจนอาจารย์เขตรออกปากว่าจะพาไปเรียนกับอาจารย์ใหญ่ อาจารย์เขตรจึงฝากครูทองให้ไปเรียนวิชาต่อกับอาจารย์กิมเส็ง ครูทองท่านสนใจเรียนมวยมากเมื่ออาจารย์กิมเส็งให้ถือดาบไม้และให้ลองเล่นกับท่านดู โดยบอกว่า ก็เล่นเหมือนกับเล่นมวย นั้นแหละ ลองอยู่สักพัก อาจารย์กิมเส็งท่านก็บอกว่า ใช้ได้นี่ ด้วยเหตุนี้ครูทองจึงไม่ได้เรียนดาบกับอาจารย์กิมเส็ง

การถ่ายทอดวิชามวยไชยา

ครูทองได้มาช่วยเพื่อนชื่อไหวสอนมวยอยู่ราชบูรณะ และเริ่มสอนมวยอย่างจริงจัง เมื่อย้ายบ้านมาอยู่ที่ย่านบางนา มีทหารเรือมาฝึกกับท่านจำนวนมาก ครูทองจึงได้ไปขออนุญาตอาจารย์เขตรว่าจะสอน ครั้นพูดจบอาจารย์เขตรท่านก็เหวี่ยงแข้งเตะมาที่ครูทองทันที ครูทองก็รับปิดป้องว่องไวตามที่ได้เรียนมา อาจารย์เขตรจึงว่าอย่างนี้สอนได้ และได้ให้ครูทองมาเรียนวิชาครูเพิ่มเติม

ครูทองท่านใช้ชื่อค่ายมวยว่า “ค่ายศรีสกุล” ต่อมาใช้ “ค่ายสิงห์ทองคำ” แต่ซ้ำกับค่ายอื่น ท่านจึงไปกราบขอชื่อค่ายมวยจากอาจารย์เขตร ซึ่งก็ได้รับความกรุณาโดยอาจารย์ได้ตั้งชื่อให้ว่า “ค่ายไชยารัตน์” ด้วยเหตุว่าครั้งเรียนวิชามวยไชยากับอาจารย์เขตร ศิษย์ทุกคนจะใช้สกุลในการขึ้นชกมวยว่า “เชื้อไชยา”

ครูทองมีลูกศิษย์หลายรุ่น แต่ละรุ่นท่านก็สอนไม่เหมือนกัน บางคนจะชกมวยสากลบางคนจะชกมวยไทยเวที ท่านจะสอนแตกต่างกันตามโอกาส จนเมื่อ พ.ศ. 2526 ครูทองท่านได้ไปเผยแพร่มวยไทยคาดเชือกที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานผ่านฟ้า และได้พบกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ชมรมต่อสู้ป้องกันตัว อาวุธไทย ได้ขอท่านเรียนมวยแรก ๆ ก็ไปเรียนที่บ้านครู แต่ระยะหลังจึงได้เชิญครูทองท่านมาสอนที่มหาวิทยาลัย

ครูทองได้เริ่มสอนแบบโบราณคาดเชือกด้วยเห็นว่าท่าย่างสามขุมของดาบนั้นเป็นแนวเดียวกับการเดินย่างของมวยคาดเชือก จนถึง พ.ศ. 2527 ประธานชมรมศิลปะป้องกันตัวและอาวุธไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้นได้เชิญครูท่านไปเป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสอนวิชามวยไทยสายไชยาและกระบี่กระบอง ในรูปแบบของการตีหัวไม้ และการต่อสู้ด้วยดาบแบบใช้แม่ไม้เชิงมวย และการต่อสู้ด้วยไม้พลองสั้นให้กับสมาชิกชมรมศิลปะป้องกันตัวและอาวุธไทยตั้งแต่นั้นมา

ครูทองได้ถ่ายทอดศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวมวยคาดเชือกสายไชยาให้กับทั้งสองสถาบันคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นหลัก ส่วนสถาบันการศึกษาอื่นที่ครูทองเคยได้รับเชิญไปสอน ได้แก่ มหาวิทยาลัยสยาม และวิทยาลัยเทคโนโลยีบางกะปิ เป็นต้น

การเริ่มเรียนมวยไทยกับครูทอง

“สวัสดีครับ ผมได้อ่านเกี่ยวกับมวยไทยในนิตยสารสารคดี ผมสนใจอยากเรียนมวยไทยครับ” ผมโทรหาครูทอง ท่านรับสายและบอกว่าท่านมีสอนที่ไหนบ้าง ผมเลือกเรียนวันเสาร์และวันอาทิตย์ที่บ้านแถวเอกมัย เพราะสะดวกทั้งการเดินทางและเวลาเรียน

ในปี พ.ศ. 2530 ขณะนั้นผมเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่กรุงเทพฯ ผมเข้าชมรมคาราเต้ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย UTCC Karate Club ผมฝึกคาราเต้ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ช่วงเวลา 16.00-20.00 น. และฝึกเทควันโดกับอาจารย์กฤชทุกคืนเวลา 21.00-24.00 น. ต่อมาผมก็ได้ฝึกมวยไทยกับครูทองในวันเสาร์และวันอาทิตย์ช่วงเวลา 13.00-15.00 น. ผมฝึกทั้งสามวิชาต่อเนื่องด้วยกันตลอดทั้งปี

ผมไปเรียนมวยไทยกับครูทองครั้งแรก พร้อมรุ่นพี่ที่ฝึกคาราเต้ในชมรมมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยด้วยกัน แต่หลังจากนั้นไม่มีใครไปกับผมอีก ช่วงนั้นผมจึงได้ฝึกพร้อมกับเด็กนักเรียนจากโรงเรียนสวนกุหลาบที่ฝึกอยู่ก่อนแล้วราว 8 คน

ในตอนนั้น บ้านที่เอกมัยที่ผมไปฝึกกำลังมีการต่อเติมหรือซ่อมแซมห้องน้ำ ทำให้มีทรายที่กองอยู่ บางส่วนก็เรี่ยราดมาที่ลานที่พวกเราฝึก ในการฝึกท่ามวยหรือการจดมวย ท่าครูหรือท่าย่างสามขุม ฝึกปั้นหมัด พันแขน พันหมัด กระโดดตบศอก พันหมัดพลิกเหลี่ยม เต้นแร้งเต้นกา ย่างสามขุม เสือลากหาง ฝึกป้อง ปัด ปิด เปิด ฯลฯ เวลาฝึกและต้องเดินยกย่ำยกย่างด้วยเท้าเปล่าบนเศษทรายที่ร้อนแดดยามเที่ยง พวกเรายกย่างเท้ากันพัลวันอย่างขะมักเขม้น มันช่างได้อรรถรสดีแท้

อยากขอบใจเพื่อนที่พูดให้ผมได้ฉุกคิดเรื่องเรียนมวยไทย ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ผู้ฝึกยุทธทั่วโลกให้การยอมรับว่าเป็นอีกหนึ่งสุดยอดการต่อสู้ ผมคนนึงก็ไม่พลาดที่ได้ฝึกฝนมีเชื้อมวยไทยไชยากับครูทองหล่อ ผู้เป็นศิษย์ของปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย และอาจารย์กิมเส็ง ครูมวยไทยสายมวยไชยาที่มีชื่อเสียงอ ผู้เป็นศิษย์ของปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย และอาจารย์กิมเส็ง ครูมวยไทยสายมวยไชยาที่มีชื่อเสียง

ติดต่อเรา

บทความและข่าวสารอื่นๆ

Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หลานไฉ่เหอ (藍采和; แต้จิ๋ว: น่าไชหัว, ฮกเกี้ยน: หน่าไฉฮัม) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนผู้เ...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หานเซียงจื่อ (韓湘子; ฮกเกี้ยน: ฮั้นเจียวจู้) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนแห่งลัทธิเต๋า ผู้ม...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หลี่เถียไกว่ (李鐵拐; กวางตุ้ง: เหล่ยทิดกวาย, แต้จิ๋ว: ลี้ทิก๋วย, ฮกเกี้ยน: ลี่ทิกุย) หรือที่รู้จักในชื...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
เหอเซียนกู (何仙姑; แต้จิ๋ว: ฮ่อเซียนโกว, ฮกเกี้ยน: เฮอเซียนก๊อ) หรือที่รู้จักในชื่อ “นางฟ้าเหอ&#...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
ลฺหวี่ ต้งปิน (呂洞賓; แต้จิ๋ว: ลือท่งปิน, ฮกเกี้ยน: ลีตงปิ่น) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนใ...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
จงหลีเฉฺวียน (鐘离權; กวางตุ้ง: จงสิดขือ, ฮกเกี้ยน: เจี๋ยงตีควน) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซีย...