Taifudo Academy

บทที่ 4 คาราเต้วิถีมือเปล่า

บทที่ 4 คาราเต้วิถีมือเปล่า
taifudo book4 (Web V)

ในปี พ.ศ. 2530 ผมเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่กรุงเทพฯ ผมอยากฝึกฝนมวยต่อแต่ครั้งนี้ผมมองหามวยอื่นอีกที่นอกเหนือจากยูโดและมวยสากลที่ผมได้ฝึกมาก่อนแล้ว ผมนั่งดูการฝึกคาราเต้อยู่ราวหนึ่งสัปดาห์ ผมจึงตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกที่ชมรมคาราเต้ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (UTCC Karate Club) เพื่อจะได้ฝึกคาราเต้อย่างจริงจัง ผมน่าจะเป็นสมาชิกรุ่นที่ 15

คาราเต้: วิถีแห่งการต่อสู้ด้วยมือเปล่า

คาราเต้ (Karate) คือการต่อสู้ด้วยการใช้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น กำปั้น, เท้า, สันมือ, นิ้ว, ศอก เป็นต้น แต่เมื่อถูกดัดแปลงเป็นกีฬาแล้วเหลือเพียงมือและเท้า

คาราเต้ (空手, karate) หรือ คาราเต้โด (空手道, karatedo) เป็นศิลปะการต่อสู้ที่ถือกำเนิดที่โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น เป็นการผสมผสานระหว่างการต่อสู้ของชาวโอกินาวาและชาวจีน คาราเต้ได้เผยแพร่เข้าสู่ญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2464 (ค.ศ. 1921) เมื่อชาวโอกินาวาอพยพเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น

การพัฒนาของคาราเต้

ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14 โอกินาวาได้มีการติดต่อการค้ากับทางจีนแผ่นดินใหญ่ ที่มีมานานมากตั้งแต่สมัยอดีต ในขณะนั้นได้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม วิชาการความรู้แขนงต่าง ๆ รวมถึงศิลปะป้องกันตัว โอกินาวาได้มีศิลปะการต่อสู้ประจำอยู่แล้ว และได้ผสมผสานกับทักษะที่ได้รับมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งก็คือมวยใต้และเส้าหลินใต้ในฟูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) แล้วพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมา จนสามารถเรียกว่าเป็นต้นกำเนิดของคาราเต้โดยโอกินาวาจะเรียกศิลปะป้องกันตัวของตนเองว่า โทเต้ (Tode) ในภาษาโอกินาวา (หรือในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกโอกินาวาเต้)

การเผยแพร่และการพัฒนาในญี่ปุ่น

ในปี ค.ศ. 1922 ฟูนาโกชิ กิชิน ลูกศิษย์ของ อังโก อิโตสึ (Anko Itosu) แห่งชูริเต้ ได้พัฒนาคาราเต้ และเผยแพร่เข้าสู่ญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการที่โตเกียวโดยได้รับการสนับสนุนของจิกาโร่ คาโน่ (Jikaro Kano) ผู้ก่อตั้งยูโดโคโดกัน (Kodokan Judo) และต่อมา บรรดาศิษย์ของฟูนาโกชิ ได้เรียกรูปแบบการสอนของฟูนาโกชิว่า โชโต (Shoto 松涛) ตามนามปากกาของท่านและได้เรียกโรงฝึกแห่งแรกของท่านว่า โชโตกัน (松涛館)

การพัฒนาเพิ่มเติม

คันเรียว ฮิกาอนนะ (Kanryo Higaonna) ลูกศิษย์ของ อาราคากิ เซย์โช (Arakagi Seisho) ผู้เชี่ยวชาญนาฮาเต้ ได้เดินทางสู่ฟูเจี้ยนเพื่อหาประสบการณ์และศึกษาวิชาการต่อสู้ของจีน ได้เรียนกับ ริวริวโก (Ryu Ryu Ko) ผู้เชี่ยวชาญมวยจีน และเดินทางกลับมาพัฒนานาฮาเต้ ต่อมาโชจุน มิยากิ (宮城 長順 Miyagi Chojun, 1888-1953) ผู้สืบทอดนาฮาเต้ของคันเรียวได้เปลี่ยนชื่อสำนักนาฮาเต้ เป็น โกจูริวคาราเต้ (剛柔流空手) เพื่อพัฒนาให้ทันสมัยและได้เข้ามาในญี่ปุ่นและเริ่มทำการสอนคาราเต้

ความหมายของคำว่า คาราเต้

คำว่า “คาราเต้” เดิมทีมาจากการออกเสียงแบบชาวโอกินาวา ตัว “คารา” 唐 ในภาษาจีน หมายถึง “ประเทศจีน” หรือ “ราชวงศ์ถัง” ส่วน “เต้” 手 หมายถึง มือ คาราเต้ หมายความว่า “ฝ่ามือจีน” หรือ “ฝ่ามือราชวงศ์ถัง” หรือ “กำปั้นจีน” หรือ “ทักษะการต่อสู้แบบจีน” ในปี ค.ศ. 1933 หลังจากสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่นครั้งที่ 2 กิชิน ฟุนาโคชิ (船越義珍 Funakoshi Gichin, 1868-1957) ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะ บิดาแห่งคาราเต้สมัยใหม่ได้เปลี่ยนตัวอักษร “คารา” ไปเป็นตัวอักษรที่มีเสียงเหมือนกันแต่มีความหมายว่า “ความว่างเปล่า” 空 แทน

วิถีแห่งคาราเต้

คำว่า “มือเปล่า” ไม่เพียงแต่นักคาราเต้จะต่อสู้โดยปราศจากอาวุธแล้ว ยังซ่อนความหมายตามความเชื่อแบบเซนไว้ด้วย เพราะตามวิถีแห่งเซนการพัฒนาความสามารถและศิลปะของแต่ละบุคคล จะต้องทำจิตใจให้ว่างเปล่าละเว้นจากความปรารถนาความมีทิฐิและกิเลสต่าง ๆ

ความสำคัญของคาราเต้

คาราเต้ แปลว่า วิถีแห่งการใช้มือ (ร่างกาย) ต่อสู้โดยปราศจากอาวุธ วิถีแห่งคาราเต้เป็นวิธีการดึงพลังจากทั้งร่างมารวมให้เป็นหนึ่งในการต่อสู้โจมตี ซึ่งความรุนแรงของการโจมตีนั้นมีคำกล่าวถึงว่า “อิคเคน ฮิซัทสึ” (一拳必殺) หรือ “พิชิตในหมัดเดียว” สิ่งที่สำคัญของคาราเต้คือการต่อสู้กับตนเองเช่น การ ฝึกยั้งแรงการโจมตี โดยใช้ในการหยุดโจมตีเมื่อสัมผัสร่างกายคู่ต่อสู้แม้เพียงเล็กน้อย เพื่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บไม่มากและป้องกันการบาดเจ็บ ซึ่งเป็นการฝึกการกำหนดความรุนแรงของการโจมตี เมื่อผู้ฝึกสามารถยั้งแรงได้ เขาก็จะเพิ่มความรุนแรงในการโจมตีได้จนถึงขีดความสามารถเช่นเดียวกัน

คำว่า “โด” ในคาราเต้

คำว่า โด แปลว่า วิถีทาง ลู่ทาง ศาสตร์ อีกทั้งยังหมายถึง ปรัชญาเต๋าอีกด้วย โด เป็นคำต่อท้ายที่ใช้สำหรับศิลปะหลายชนิด ให้ความหมายว่า นอกจากจะศิลปะเหล่านั้นจะเป็นทักษะแล้ว ยังต้องมีพื้นฐานของจิตวิญญาณอยู่ด้วย สำหรับในความหมายที่เกี่ยวข้องกับศิลปะการต่อสู้ อาจจะแปลได้ว่า “วิถีแห่ง…” เช่น ใน ไอคิโด ยูโด เคนโด ดังนั้น “คาราเต้โด” จึงหมายถึง “วิถีแห่งมือเปล่า”

“โด” อาจมองได้ 2 แบบ คือ แบบปรัชญาและแบบกีฬา

“โด” แบบปรัชญาด้วยความหมายที่แปลว่า วิถีทาง และเป็นชื่อศาสนาเต๋าของศาสดาเหล่าจื๊อ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมาก ในด้านปรัชญาพุทธศาสนานิกายเซนของญี่ปุ่นการตีความหมายคำนี้จึงอาจมองได้ว่า วิถีทางการดำเนินชีวิต จิตวิญญาณของนักคาราเต้ เป็นต้น ซึ่งนักคาราเต้บางท่าน อาจใช้ คาราเต้ เป็นวิถีแห่งการเข้าถึง จิตวิญญาณแห่งธรรมชาติ (เต๋า เซน) ได้

ดังนั้นคำว่า “โด” ของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละคนจำมีวิธีการในการเดินแตกต่างกัน “โด” แบบกีฬาจริงๆ ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่ามีทั้งคำว่า คาราเต้ และคาราเต้โด ทำไมต้องเพิ่มคำว่า โด คำว่า “โด” เริ่มใช้ครั้งแรกใน ศิลปะป้องกันตัว ยูโด โดยปรมาจารย์จิกาโร่ คาโน่ แห่งโคโดกันยูโด เพื่อเปลี่ยนแปลง และแบ่งแยกวิชาใหม่ โดยแยกตัวออกจากวิชา ยิวยิตสู ซึ่งยูโดได้ตัดทอนกระบวนท่าที่อันตรายออกไป เพื่อการฝึกฝนได้อย่างเต็มที่ และสามารถจัดการแข่งขันได้

คาราเต้ แต่เดิมไม่มีคำว่าโดเช่นกัน แต่ก่อนจะเรียกว่า คาราเต้จิทสุ หรือว่า คาราเต้ แต่เริ่มใช้คำว่า “โด” เมื่อมีการจัดการแข่งขันชิงชนะเลิศ ซึ่งต้องรวมนักคาราเต้จากทั้ง 4 สำนักใหญ่เข้าไว้ จึงต้องบัญญัติกฏการแข่งขันใหม่ ลดทอนการจู่โจมที่อันตราย และสามารถแข่งขันกันได้อย่างเต็มที่ และเป็นกลางที่สุด คำว่า “โด” ในคาราเต้จึงเกิดขึ้น และมีความหมายว่า วิถีทางการต่อสู้ในรูปแบบของคาราเต้ซึ่งคำว่าคาราเต้โด โดยมากจะใช้ในการแข่งขัน

3K ของคาราเต้

คาราเต้ ประกอบด้วย 3K คือ Kihon (กิฮ้อง) เป็นท่าพื้นฐาน Kumite (คุมิเต้) เป็นการต่อสู้ Kata (คาตะ) เป็นท่าเพลงมวย รวมแล้วเป็น KARATE (คาราเต้) เป็นการฝึกเพื่อให้มีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง และสามารถต่อสู้ป้องกันตัว ช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นได้ในยามคับขัน และสิ่งสุดท้ายคือ DO (โด) ในคำว่า คาราเต้โด คือการฝึกตนเองให้มีระเบียบวินัยต่อตนเองและผู้อื่น มารยาทกาลเทศะ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และหลักปรัชญาพุทธนิกายเซน

ชมรมคาราเต้โด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

สำหรับชมรมคาราเต้โด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2513 โดย อาจารย์อัศวิน ปุณศรี (พี่ตุ๊) ซึ่งเรียนอยู่ขณะนั้น โดยมีผู้ฝึกสอน คือ อาจารย์เท็ตสึโอะ ซาดาฮิโร่ บิดาแห่งวงการคาราเต้โกจูไกประเทศไทย อาจารย์สอนคาราเต้คนแรกของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ช่วงเวลาฝึกของผมคือ วันจันทร์ถึงวันศุกร์เวลา 16.00-20.00 น. ตลอดที่ฝึกคาราเต้ ผมได้ฝึกกับรุ่นพี่ที่มานำฝึกซ้อม ฝึกกับพี่ไสว (อาจารย์ไสว เสรีสุขสันต์), พี่ตุ๊ (อาจารย์อัศวิน ปุณศรี) และอาจารย์เท็ตสึโอะ ซาดาฮิโร่ด้วย

สิ่งที่ผมได้จากการฝึกคาราเต้โดตอนนั้น

จากประสบการณ์การฝึกคาราเต้โดในช่วงเวลานั้น ผมได้เรียนรู้และซึมซับธรรมเนียมปฏิบัติและทักษะต่างๆ ดังนี้

1. ธรรมเนียมปฏิบัติ (Seisa)

  • ท่าเคารพต่างๆ : การปฏิบัติตนต่อเซนเซ (อาจารย์) เซมไป (รุ่นพี่) รวมถึงมารยาทในโดโจ (โรงฝึก)
  • ระเบียบในการฝึก : การฝึกฝนและปฏิบัติตามหลักการอย่างเคร่งครัด

2. คีฮ้อง 1 (Kihon 1)

  • ชิเซนไต (ท่ายืนธรรมชาติ): การยืนที่สมดุลและมั่นคง
  • ซึกิ (ท่าชก): ท่าชกพื้นฐาน
  • อุเกะ (ท่าปัดป้อง): ท่าปัดป้องและหลบหลีก
  • เกริ (ท่าเตะ): ท่าเตะที่หลากหลาย
  • ดาจิ (ท่ายืนและการย่างก้าว): การยืนและการย่างก้าวที่ถูกต้อง

3. คีฮ้อง 2 (Kihon 2)

  • การนำท่าชก ปัด หรือเตะมารวมกับท่าย่างก้าวจนเป็นท่าพื้นฐานต่างๆ
  • การฝึกเข้าคู่กันโดยให้ฝ่ายหนึ่งบุกและฝ่ายหนึ่งรับ

4. กาต้า (Kata)

  • การฝึกสมาธิและท่าร่ายรำกระบวนท่าต่างๆ
  • การนำท่าพื้นฐานมาประกอบกันเป็นชุดรำที่ใช้ทั้งมือและเท้าในการโจมตีและตั้งรับ

5. คูมิเต้ (Kumite)

  • การต่อสู้กับคู่ต่อสู้อย่างอิสระ ภายใต้กรอบกติกาคาราเต้โดสากล
  • เป็นวิธีที่ใช้ในการแข่งขันทั่วไป

ภาพ : อาจารย์ชีวิน อัจฉริยะฉาย (ผู้ก่อตั้งโรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ)

การฝึกในแต่ละวัน

รวมเวลา 4 ชั่วโมงของการฝึกในแต่ละวัน เมื่อผ่านช่วงเวลาฝึกพื้นฐานจนถึงตอนฝึกคูมิเต้ ผมชื่นชอบการฝึกคูมิเต้เพราะได้ฝึกเข้าคู่ฝึกรุกรับต่อสู้กัน และผมฝึกท่ากาต้าโดยมีรุ่นพี่มาช่วยฝึกซ้อมให้ ผมมักขอยืนสแตนบายเพื่อฝึกปัดป้อง โดยให้ทุกคนเข้าแถวตอนเรียงหนึ่งแล้วโจมตีออกหมัดเท้าใส่ผม

ในช่วงอาทิตย์แรกๆ ที่ฝึกปัดป้องแขนผมบวมแดงเปล่งมากจากการรับปะทะมือเท้าจากทุกคนที่ฝึกด้วย แต่เมื่อผ่านไปไม่นานผมก็ปัดป้องมือเท้าทุกคนได้อย่างแม่นยำ ทำให้ไม่มีอาการบวมแดงหรือรู้สึกเจ็บแล้ว จนมีคนที่ชมรมฯให้สมญานามผมว่าหมีควาย ที่ทนถึกปัดป้องกับการกระหน่ำมือเท้าอยู่คนเดียว ส่วนผมเองรู้สึกได้เลยว่าผมปัดป้องได้แม่นยำว่องไวในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อผมฝึกปัดป้องได้อย่างแม่นยำ ทำให้ผมออกหมัดเท้าโจมตีคู่ซ้อมได้จังหวะที่ดีมีประสิทธิภาพตามมาด้วย

ท่าการออกหมัดและเตะที่มีประสิทธิภาพ

  • ท่าซึคิ (ท่าชกหมัดตรง) : การออกหมัดตรง (Cross punch) เป็นท่าหลักที่ผมใช้ในการแข่งขัน
  • ท่าเตะไมกิริ (ท่าเตะด้านหน้า) : การเตะด้านหน้า (Front kick) เป็นท่าเตะหลักที่ผมใช้ในการแข่งขัน

การออกหมัดเท้าของคาราเต้เป็นความสามารถในการขยับหมัดและเท้าได้อย่างรวดเร็ว ว่องไว แม่นยำ และแน่นอนว่าการใช้ท่าคาราเต้ให้มีประสิทธิภาพต้องอาศัยความแรงและความเร็วซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก

การฝึกคาราเต้ไม่เพียงแต่ทำให้ผมแข็งแกร่งทางร่างกาย แต่ยังฝึกฝนจิตใจให้มั่นคง และมีความอดทนต่อความยากลำบากในการฝึกฝน มารยาทและความเคารพต่อผู้อื่นที่ได้รับการปลูกฝังจากการฝึกคาราเต้ ยังช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพให้เป็นคนที่มีระเบียบวินัยและเคารพผู้อื่นเสมอ

ติดต่อเรา

บทความและข่าวสารอื่นๆ

Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หลานไฉ่เหอ (藍采和; แต้จิ๋ว: น่าไชหัว, ฮกเกี้ยน: หน่าไฉฮัม) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนผู้เ...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หานเซียงจื่อ (韓湘子; ฮกเกี้ยน: ฮั้นเจียวจู้) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนแห่งลัทธิเต๋า ผู้ม...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หลี่เถียไกว่ (李鐵拐; กวางตุ้ง: เหล่ยทิดกวาย, แต้จิ๋ว: ลี้ทิก๋วย, ฮกเกี้ยน: ลี่ทิกุย) หรือที่รู้จักในชื...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
เหอเซียนกู (何仙姑; แต้จิ๋ว: ฮ่อเซียนโกว, ฮกเกี้ยน: เฮอเซียนก๊อ) หรือที่รู้จักในชื่อ “นางฟ้าเหอ&#...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
ลฺหวี่ ต้งปิน (呂洞賓; แต้จิ๋ว: ลือท่งปิน, ฮกเกี้ยน: ลีตงปิ่น) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนใ...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
จงหลีเฉฺวียน (鐘离權; กวางตุ้ง: จงสิดขือ, ฮกเกี้ยน: เจี๋ยงตีควน) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซีย...