Taifudo Academy

บทที่ 25 ไทฟูโดศาสตร์ศิลป์พัฒนากายใจ

บทที่ 25 ไทฟูโดศาสตร์ศิลป์พัฒนากายใจ
taifudo book25 (Web V)

“ไทฟูโด” ศาสตร์การต่อสู้ที่รวบรวมท่ายอดไม้เด็ดของศิลปะการต่อสู้แขนงต่างๆ มาไว้ในหนึ่งเดียว แก่นของวิชาไทฟูโด มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีสติกับอิริยาบถการเคลื่อนไหวทุกท่วงท่า และหายใจให้ถูกต้อง เพื่อจะเป็นการสร้างพลังจากภายใน และสามารถป้องกันตัวหรือตั้งรับได้ดีมากกว่าการเอาชนะหรือต่อสู้โดยตรง รวมถึงเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงจากการฝึกฝนเป็นประจำ

“ไทฟูโด ฝึกฝนเพื่อสุขภาพ และการป้องกันตัวหาใช่มุ่งเน้นการต่อสู้ และเอาชนะหากแต่ให้มีสติ และอ่อนน้อมถ่อมตน”

บทที่ 25 "ไทฟูโด" ศาสตร์ศิลป์พัฒนากายใจ

จุดเด่นของไทฟูโด

อยู่ที่เรียนรู้ง่าย เนื่องจากนำระบบการเรียนรู้แบบญี่ปุ่นมาใช้ เพื่อให้ผู้เรียนศึกษาและฝึกฝนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จากเดิมที่ประเพณีสอนการต่อสู้แบบไทยหรือจีน ผู้สอนมักสอนแบบนึกอะไรได้ก็สอน ทำให้ท่าทางในการใช้งานจริงของผู้เรียน แม้จะเรียนมาจากครูคนเดียวกันก็ยังแตกต่างกันออกไปโดยเฉพาะท่าไม้ตายที่หากไม่ใช่ศิษย์รักก็หมดสิทธิรับรู้

ประโยชน์ของไทฟูโด

คือการเคลื่อนไหวและการหายใจ ที่เป็นจังหวะหลังจากการเรียน รวมถึงความเป็นครอบครัว เนื่องจากมีการเรียนการสอนแบบสำนักวิชาแบบจีน ครูเป็นผู้ให้ความรู้ด้านทฤษฎีและปฏิบัติ จากนั้นให้ลองปฏิบัติดูตามความเข้าใจ ศิษย์พี่หรือคนที่เรียนมาก่อนช่วยสอนศิษย์น้องที่สมัครเข้ามาทีหลัง เพื่อเป็นการทบทวนความรู้ ช่วยกันฝึกและแก้ปัญหาร่วมกัน โดยมีการสอบเพื่อปรับระดับความสามารถ และได้สายไม่ต่างจากศิลปะการป้องกันตัวแบบญี่ปุ่น

ฉะนั้นไทฟูโดไม่เพียงเป็นทักษะการป้องกันตัว แต่ทุกคนที่มาเรียนจะได้รับการขัดเกลาจิตใจ จากกิจกรรมพูดคุยทำความรู้จัก และคุ้นเคยระหว่างศิษย์กับอาจารย์ รุ่นพี่รุ่นน้องเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาชีวิตจริงเสมือนมีเพื่อนเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความผูกพันแบบครอบครัว มากกว่าการมาเรียนเพื่อมาเอาวิชาความรู้แล้วกลับบ้านแค่นั้น

ไทฟูโดสามารถใช้สอนเด็กตั้งแต่ 3 ขวบ จนถึงผู้สูงอายุ คนสมาธิสั้น เพียงมีร่างกายและใจสู้ และสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวก็เรียนได้ โดยแจ้งผู้สอนให้ทราบว่ามีปัญหาด้านไหน เพื่อเลือกเรียนเฉพาะท่าทางที่ไม่เกิดความเสี่ยงหรือใช้กล้ามเนื้อจุดที่มีปัญหาเกินกำลัง

ความพร้อมก่อนเรียนสำหรับไทฟูโดนั้น ผู้ที่สนใจในศาสตร์นี้ ควรจะสังเกตการเรียนการสอนด้วยตนเอง อย่าเลือกเรียนตามคำบอกเล่า หรือจากการชักชวนของคนรอบข้าง หรืออย่าบังคับให้ลูกหลานฝืนใจมาเรียน เพราะการเรียนจากความชอบและสนใจ จะทำให้สมองรับความรู้ได้ดีกว่าการถูกบังคับให้มาเรียน

ในห้องฝึกซ้อมนอกจากมีรูปปรมาจารย์จากวิชาต่างๆที่ผมได้เรียนมาแล้วนั้น สิ่งที่ผมภาคภูมิใจมากคือมีธงชาติไทย พระบรมฉายาลักษณ์พระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรี โต๊ะหมู่พระบรมรูปหล่อบูรพกษัตริย์แห่งสยาม มหากษัตริย์ชาตินักรบผู้กอบกู้เอกราชแผ่นดิน ให้ผู้ฝึกไม่ว่าสัญชาติใดที่ต้องการฝึกไทฟูโดต้องทำความเคารพก่อนฝึกซ้อม เพราะไทฟูโดคือศิลปะการป้องกันตัวของคนไทย

ผมเริ่มฝึกฝนศาสตร์การต่อสู้มาหลากหลายวิชาหลายสำนักจากอาจารย์หลายๆ ท่าน ผมฝึกฝนมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ผมสัมผัสได้ว่าทักษะทุกวิชามีจุดดีในตัวเองยิ่งได้ฝึกหลายๆ มวยก็ได้เข้าใจด้วยตัวเองเลยว่าทักษะจากวิชาเหล่านั้นสามารถเชื่อมโยง และส่งเสริมซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี จุดมุ่งหมายของการเผยแพร่ศิลปะป้องกันตัว

เพื่อให้ผู้ฝึกรู้จักและเข้าใจหลักการป้องกันตัว หลักปรัชญาในศิลปะต่างๆ แนวความคิดหลักการฝึกเพื่อให้รู้จัก และเข้าใจประโยขน์การฝึกฝนทั้งทางด้านการป้องกันตัว และความพร้อมทางร่างกายและจิตใจเพื่อให้การแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ในหมู่ผู้ฝึก และผู้ที่สนใจในวิชาหรือจากแขนงต่างๆเพื่อเป็นการยกระดับพัฒนาเผยแพร่ในหมู่ผู้ที่สนใจฝึกและเป็นการอนุรักษ์สืบทอดเจตนารมณ์ของครูอาจารย์ให้คงอยู่นานเท่านาน

ผมเอาตัวเองเป็นห้องสมุดรวบรวม ฝึกฝน ค้นคว้าศาสตร์การต่อสู้ป้องกันตัวต่างๆ พัฒนาจัดระบบการฝึกฝนเป็นศาสตร์ที่เรียกว่า “ศิลปะป้องกันตัวไทฟูโด” ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ฝึกการป้องตัวได้ง่ายและปลอดภัยขึ้น ด้วยหลักผ่อนแรง ย้อนแรงและตามแรง จึงเหมาะกับทุกเพศทุกวัยและผู้ที่สนใจการออกกำลังกายด้วยการฝึกการป้องกันตัว

หน้าที่และผลงาน

ผมรับหน้าที่เป็นวิทยากรทางด้านการป้องกันตัวให้แก่หน่วยงานรัฐและเอกชน รับงานอารักขาบุคคลสำคัญ ผมมีผลงานการแสดงภาพยนตร์องค์บาก 2 และ 3 ร่วมแสดงในซีรีส์ดังเรื่อง “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ทางช่อง One รับบทเป็นพ่อไผ่ (ไผ่ฮอร์โมน ต่อ ธนภพ ลีรัตนขจร ผู้แสดง) ฮอร์โมน คือ ซีรีส์สะท้อนชีวิตวัยรุ่นไทยยุคใหม่แบบทุกซอกทุกมุม ชนิดที่ไม่เคยมีใครกล้าพูดถึง โดยเรื่องราวจะถูกถ่ายทอดผ่านชีวิตวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ที่ล้วนมีความต่างและด้วยสิ่งนี้เองท้าให้พวกเขาเจอเรื่องราวมากมายไม่ซ้ำ กัน แต่ไม่ว่าชีวิตของพวกเขาจะพบเจออะไร จะเลือกหาทางออกอย่างไร สุดท้ายพวกเขาจะได้เรียนรู้ผลของการกระทำก้าวผ่านมัน และเติบโตขึ้นในที่สุด

วัยรุ่น วัยที่ชีวิตเต็มไปด้วยสีสันและความยุ่งเหยิง วัยแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจ วัยแห่งการทดลอง ผิดพลาดและเรียนรู้ วัยแห่งการค้นหาและค้นพบวัยที่ชีวิตขับเคลื่อนด้วยฮอร์โมน

เสน่ห์ของฮอร์โมนที่ทำให้ประสบความสำเร็จ เพราะเล่าเรื่องจริงที่คนดูสัมผัสได้ และสะท้อนช่วงชีวิตหนึ่งของวัยรุ่น ไม่ว่าคนที่เคยผ่านช่วงวัยรุ่นมาแล้ว หรือคนที่กำลังอยู่ในช่วงนี้

ผมร่วมแสดงเป็นตัวประกอบพ่อค้าขายเกาลัดที่เยาวราชในภาพยนตร์ Top Secret วัยรุ่นพันล้าน ภาพยนตร์สร้างแรงบันดาลใจที่มีเขาโครงจากเรื่องจริงของนักธุรกิจรุ่นใหม่ชาวไทยที่ฝ่าฟันทั้งอุปสรรคและความไม่มั่นใจจนพบความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึง

ผมได้ผ่านประสบการณ์การฝึกฝนและเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้หลายแขนงวิชามาตลอดยาวนานกว่า 40 ปี ราวกับว่าที่ผ่านมาผมได้ฝึกฝนในแต่ละวิชาการต่อสู้ให้ความรู้สึกเหมือนกับจิ๊กซอว์ที่ได้มาแล้วนำมาต่อกันได้อย่างลงตัว เมื่อผ่านการฝึกฝนมามาก จึงหล่อหลอมทักษะศิลปะการต่อสู้ในหลากหลายวิชาที่มีมาแต่ดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้ว นำเคล็ดวิชาที่ศิลปะการต่อสู้แต่ละศาสตร์อันมีจุดเด่นจุดด้อยไม่เหมือนกัน เหมาะที่จะนำไปใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เพราะในสถานการณ์จริง ไม่มีใครสามารถนำทุกศาสตร์มาใช้ในเวลาเดียวกันได้

ผมเริ่มคิดค้นและเรียบเรียงเอาจุดเด่นของศิลปะการป้องกันตัวแต่ละแขนงมาร้อยเรียงและจัดลำดับท่าขึ้นใหม่ จนเป็นหลักการง่ายๆ เพื่อให้ผู้เรียนนำไปใช้ป้องกันตัวได้จริง รวมถึงนำไปพัฒนาทักษะการต่อสู้ของตนเองในแขนงต่างๆ หรือเพื่อนำไปประกอบอาชีพ เช่น อาชีพสอนศิลปะป้องกันตัว, อาชีพนักแสดงบทบู๊, สตั๊นท์แมน (ในภาพยนตร์แอคชั่น) และอาชีพงานอารักขา (Bodyguard)

“ไทฟูโด” เป็นชื่อเรียกศิลปะป้องกันตัวแขนงใหม่โดยผมชีวิน อัจฉริยะฉาย ผู้ก่อตั้ง ศิลปะป้องกันตัวไทฟูโด และในปี พ.ศ.2562 ไทฟูโดมีอายุครบ 30 ปี และย่างเข้าสู่ปีที่ 31 ในปี พ.ศ.2563 นี้แล้ว

30 ปีของการก่อตั้งและเผยแพร่ไทฟูโด

30 ปี ของการก่อตั้งและเผยแพร่ไทฟูโด ผมเจออะไรมาบ้าง? ยกตัวอย่างเช่น

1. การท้าประลอง

ครั้งหนึ่งราวปี พ.ศ.2533 วันแรกที่ผมเปิดสอนไทฟูโด ที่ยิมเอกชนในเมืองเชียงใหม่ อาจารย์สิทธิพร ทรงสัตย์ (อาจารย์เปี๊ยก) ขับรถมาจอดและลงมาจากรถกับลูกศิษย์เดินเข้ามาแบบคนมีของ สอบถามผมว่าไทฟูโดคืออะไร และผมเรียนมวยอะไรกับใครมาบ้าง ตอนนั้นผมนึกในใจว่า “งานเข้าตั้งแต่วันแรกเลยนะต๊ะ (ชื่อเล่นผม)” ผมได้เล่าว่าผมเรียนมวยอะไรมากับใคร อาจารย์เปี๊ยกเปลี่ยนท่าทีเมื่อทราบว่าผมได้เรียนมวยไชยากับครูทองหล่อ ยาและ (ครูทอง เชื้อไชยา) ไม่ได้มีการประลองเกิดขึ้นแต่อย่างใด เราได้พูดคุยกันอีกเล็กน้อย หลังจากนั้นผมกับอาจารย์สิทธิพรไปมาหาสู่กันและมีความสนิทคุ้นเคยกันตลอดมานับ 30 ปี

อาจารย์สิทธิพร ทรงสัตย์ แห่งสำนักดาบศรีอยุธยาเรียนทักษะดาบสองมือตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 อีกทั้งกระบี่ พลอง ง้าวและไม้ศอก อาจารย์สิทธิพรได้รับการครอบครูจากปรมาจารย์อารีย์ บุญห่วง แห่งสำนักดาบศรีอยุธยา

ในปี พ.ศ.2528-2529 อาจารย์สิทธิพร ฝึกวิชาเทควันโด สำนักคิคูวาน ระดับสายดำดั้ง 1 จากอาจารย์ซอง คิยองและในปี พ.ศ.2529 อาจารย์สิทธิพรเรียนมวยไชยา พื้นฐานจาก ครูทองหล่อ ยาและ (ครูทอง เชื้อไชยา) ไปด้วย (ผมเรียนมวยไชยากับครูทองในปี พ.ศ.2530 ฝึกที่บ้านแถวเอกมัย)

อาจารย์สิทธิพรเล่าว่า “ช่วงที่ทำงานที่กรุงเทพฯอยู่กรมป่าไม้ ปี พ.ศ.2519 ถึง พ.ศ.2522 ผมสอนกระบี่กระบองให้นักเรียนโรงเรียนเซนต์จอห์นอยู่ 1 รุ่น ได้ฝึกซ้อมและใช้แสดงในงานโรงเรียนและงานลูกเสือแห่งชาติหลายครั้ง”

อาจารย์สิทธิพรมีประสบการณ์สอนดาบไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 ส่วนเทควันโดเริ่มสอนตั้งแต่ปี พ.ศ.2530

วิชาการต่อสู้อื่นก็มีพื้นฐานไอคิโดและยูโด สายขาว พื้นฐานรำมวยไท่เก๊กและรำกระบี่ไท่เก๊ก ฝึกยิมนาสติก 5 อุปกรณ์ มีฟลอร์เอ๊กเซอร์ไซส์ ราวเดี่ยว ราวคู่ ม้าหูและห่วง และมีประสบการณ์การสอน 2 ปี

อาจารย์สิทธิพรยังเล่าอีกว่า “ผมสอนวิชาเคมีเป็นอาชีพหลัก แต่สอนดาบ มวย เปิดเป็นชมรมศิลปะป้องกันตัว สำนักดาบศรีอยุธยา สาขาโรงเรียนมงฟอร์ต เชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 จนถึงปี พ.ศ.2530” “ผมลาออกแต่ชมรมฯ ยังอยู่ถึงปี พ.ศ.2535 ก็ปิดตัวลง”

“ที่มงฟอร์ต มีการแสดงสม่ำเสมอเป็นประจำปีคือ การแสดงในทีวีช่อง 8 ลำปาง งานฤดูหนาวจังหวัดเชียงใหม่ งานประจำปีของโรงเรียนงานกีฬา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และประชาชนทั่วไป”

“ที่มงฟอร์ตได้สร้างลูกศิษย์ไว้ 7-8 รุ่นๆ ละ 5-10 คน ยังมีการติดต่อและบางคนยังฝีกซ้อมและสืบทอดอยู่ปัจจุบัน มีสำนักดาบศรีอยุธยาเชียงใหม่และชมรมศิลปะการต่อสู้ด้วยดาบไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”

ปรมาจารย์อารีย์ บุญห่วง (กันยายน พ.ศ.2470 – 11 ธันวาคม พ.ศ.2521) มีพื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ เดิมอาศัยอยู่ที่ ซอยศาลาต้นจันทน์ ต.บ้านช่างหล่อ ใกล้กับวัดระฆังโฆสิตาราม จ.ธนบุรี ท่านเป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ในช่วงวัยรุ่น ท่านได้เรียนวิชากระบี่กระบองร่วมกับเพื่อนอีก 5-6 คนบริเวณข้างวัดระฆังโฆสิตารามและได้เรียนวิชากระบี่เพิ่มเติมจากสำนักดาบเจริญพาสบริเวณสี่แยกบ้านแขกในภายหลังจนกระทั่งได้รับการยกย่องว่ามีความเชี่ยวชาญวิชากระบี่และวิชาง้าว โดยท่านได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการประลองอาวุธประเภทง้าวกับตัวแทนจากประเทศจีน แต่ด้วยเหตุขัดข้องบางประการทำให้ตัวแทนจากประเทศจีนไม่สามารถเดินทางมาร่วมการแข่งขันได้ การประลองในครั้งนั้นจึงได้ถูกยกเลิกไป

ต่อมาปรมาจารย์อารีย์ได้ย้ายขึ้นมาอยู่ ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยพักอาศัยอยู่ที่บ้านของคุณบูรณ์ บริเวณข้างวัดเมืองกาย (บ้านเด่น: ต.วัดเกต อ.เมือง จ.เชียงใหม่) ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านของมารดาและน้องชาย (คุณปรารภ บุญห่วง: อดีตช่างภาพโทรทัศน์ ช่อง 8 จ.ลำปาง) ของท่านและเมื่อปี พ.ศ.2504 ท่านถูกขอร้องให้สอนวิชากระบี่กระบองให้กับนักเรียนโรงเรียนผดุงศิลป์เพื่อทำการแสดงละครประวัติศาสตร์ เรื่อง “พระแสงดาบคาบค่ายของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ในงานฤดูหนาวจังหวัดเชียงใหม่ นักเรียนโรงเรียนผดุงศิลป์กลุ่มนี้จึงถือเป็นศิษย์รุ่นแรกของท่านปรมาจารย์อารีย์นับตั้งแต่ท่านได้ย้ายขึ้นมาอยู่ภาคเหนือ ในเวลาต่อมาได้มีการรวมตัวศิษย์รุ่นแรกเพื่อฝึกซ้อมและออกแสดงงานต่างๆ ท่านปรมาจารย์อารีย์จึงได้ตั้งชื่อกลุ่มให้ว่า “สำนักดาบศรีอยุธยา เชียงใหม่” (ปรมาจารย์อารีย์ บุญห่วง ที่มา : PageFacebook สำนักดาบศรีอยุธยา เชียงใหม่)

หลังจากผมย้ายกลับมาอยู่หาดใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2540 อาจารย์สิทธิพรเองก็ย้ายไปอยู่ประเทศนิวซีแลนด์นานๆ ทีถึงจะเดินทางกลับมาเมืองไทย จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2549 ผมได้เจออาจารย์สิทธิพรอีกครั้งที่กรุงเทพฯ อาจารย์สิทธิพรหรือพี่เปี๊ยก เป็นผู้ฝึกยุทธที่มีบุคลิกที่เป็นคนเปิดใจ ใจกว้าง มีน้ำใจ เราคุยเรื่องมวย คุยถึงอาวุธมีดและดาบกันอย่างออกรส ครั้งนี้พี่เปี๊ยกจึงแนะนำท่าตีเกร็ด 10 ไม้ของสำนักดาบศรีอยุธยาให้ผมไว้ และเขียนบันทึกให้ผมความว่า “ถ่ายทอดพื้นฐานแม่ไม้ ไม้สาม ไม้เจ็ด ไม้เก้าและไม้สูงครึ่งท่า แม่ไม้ดาบสองมือสำนักดาบศรีอยุธยาเชียงใหม่ (ครูอารีย์ บุญห่วง) ให้ต๊ะสำหรับใช้ประโยชน์ต่อไป เมื่อประสานกับท่าเท้าแล้วสามารถคิดพลิกแพลงแตกลูกไม้ให้ใช้ได้ดังใจ”

ป.ล.ฝึกไม้ต่างๆ จนคล่องดีแล้วจึงฝึกตีเกร็ดต่อไป รวมทั้งฝึกดาบจริงให้ฟันไม้ไผ่สดให้ขาดปล้องให้ได้เพื่อพัฒนาการใช้อาวุธให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต บันทึกในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2549 ส่วนผมก็แนะนำท่าอาวุธมีดสั้นให้พี่เปี๊ยกไว้ด้วยเช่นกัน วันแรกที่พบกันผมไม่แน่ใจว่าพี่เปี๊ยกจะเข้ามาท้าประลองผมอย่างที่ผมคาดไว้หรือไม่และถ้ามีการประลองขึ้น ผมจะได้มิตรหรือศัตรูก็ไม่สามารถตอบได้ แต่ที่แน่ๆ เพราะเรามีครูเดียวกัน(ครูทองหล่อ แห่งมวยไชยา) มิตรภาพจึงเกิดขึ้น ศิษย์มีครู ดีอย่างนี้นี่เอง วันนั้นจนถึงวันนี้นับ 3O ปี มิตรภาพที่ดีและความเคารพนับถือที่ผมมีให้พี่เปี๊ยกยังคงเหมือนเดิมเสมอมา

ราว 30 ปีที่แล้ว คนส่วนใหญ่ รู้จักกับยูโด คาราเต้ ไท่เก๊ก กังฟูมวยจีน มวยสากล มวยไทย เทควันโด เป็นต้น หากมียิมที่เปิดสอนศิลปะเหล่านี้ทุกคนก็พอจะนึกภาพออกว่าฝึกเกี่ยวกับทักษะอะไร ในการขอท้าประลองบางคนก็แค่อยากทดสอบว่าฝีมือตัวเองอยู่ในระดับไหนแล้ว บางคนก็อยากรู้จริงๆ ว่าคนที่เขาอยากจะเลือกเป็นอาจารย์มีฝีมือกว่าเขาหรือไม่ คนที่เมื่อประลองกันแล้วต่อมาเป็นลูกศิษย์ก็จะหมดความคลางแคลงใจ ตั้งใจฝึกฝน แต่สำหรับคนที่แพ้แล้วหายไปจากสารบบผมเลยก็มีไม่น้อยและเป็นธรรมดาของคนที่มีฝีมือมวยเมื่อเห็นใครที่ออกตัวเรื่องมวยแล้วอยากเล่นด้วย ไม่สนใจเรื่องแพ้ชนะ ขอให้ได้สู้ มีความสุขที่เจอและคุยกับคนที่เล่นมวยเหมือนกันและอีกประเภทคือมาท้าประลองเพื่อหวังชนะและให้คนแพ้ปิดสำนักหรือไม่ก็ต้องเลิกสอนไปซะ อารมณ์แบบสำนักมวยจีนยังไงยังงั้น

ตลอด 30 ปี ที่เปิดสอนไทฟูโดแน่นอนว่าในช่วงบุกเบิกผมต้องเจอการท้าประลองในทุกประเภทที่กล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ผมต้องแข็งแกร่งและยืนหยัดมาให้ได้ สำหรับผมเมื่อจะต้องมีเหล่าจอมยุทธจากสำนักต่างๆ เข้ามาเยี่ยมเยียนเพื่อสอบถามหรืออยากทดสอบฝีมือ คำถามแรกที่มักจะโดนถามคือไทฟูโดเป็นยังไง ตอนนั้นผมเป็นคนไม่ช่างอธิบาย มาขอทดสอบ ผมก็จัดให้ เพราะความฟิตในวัยหนุ่มทำให้ผมมั่นใจในการประลอง แต่บ่อยๆ เข้าก็ชักไม่สนุก เพราะบางครั้งเราก็ได้ศัตรูเป็นของแถม และที่ร้ายไปกว่านั้นคือเมื่อประลองแล้วผู้ขอท้าทักษะกำลังด้อยกว่า อาจกลัวเสียหน้าเสียเหลี่ยมจึงสื่อสารออกไปในทำนองว่าผมฝีมือไม่เท่าไหร่ หนักกว่านั้นก็บอกผมไม่เป็นมวย แบบประเภทที่ไม่เคยได้ประลองฝีมือกันเลย แต่ไปพูดเป็นตุเป็นตะว่าทดสอบฝีมือผมมาแล้ว ผมสู้เขาไม่ได้ แบบนี้ก็เคยมี เจอคนประเภทนี้ถ้าตีมวยกันผมสู้ไม่ถอย แต่เจอตีด้วยปากมุสาและอคติ ผมจะสู้คนแบบนี้ยังไง

2. แอบอ้างวิชาครู หรือไม่กล่าวถึงครู

ผมเปิดสอนไทฟูโดและเขียนถึงประวัติว่าเรียนมวยอะไรกับใครมาบ้าง เพื่อยกย่องและระลึกถึงครูอาจารย์ประสิทธิประสาทวิชาให้ช่วง 10 ปีแรกมีกระแสมาเป็นระยะๆ ว่าผมเรียนมวยนั้นมวยนี้มาแค่นิดๆ หน่อยๆ แล้วทำมาอ้างรึเปล่า สมัยที่ผมเรียนมวย การบันทึกภาพหรือวิดีโอไม่ได้ทำกันง่ายๆ ยิ่งครูไม่อนุญาตด้วยแล้วอย่าหมายว่าจะอัดคลิปกลับไปทบทวนเหมือนอย่างสมัยนี้ ผมเป็นคนที่ฝึกโดยไม่มีคำถาม ครูให้ฝึกยังไง ฝึกแค่ไหน ก็ทำซ้ำๆ จนหมดเวลาแล้วก็กลับบ้าน เวลาฝึกก็มุ่งมั่นตั้งใจฝึก พยายามจำทุกท่าให้ได้ กลับมาบ้านก็ต้องฝึกทบทวนท่าให้ชำนาญขึ้น จดอธิบายวาดท่าประกอบตามความเข้าใจลงในสมุดบันทึกของตัวเอง ไม่ว่าผมจะเจอครูที่ถ่ายทอดให้ผมเป็นปีๆหรือครูที่มีวาสนาเจอกันและถ่ายทอดให้เพียงแค่ครั้งเดียว สิ่งที่ครูถ่ายทอดให้ ผมพยายามนำมาฝึกประยุกต์ใช้และถ่ายทอดต่อให้ได้ประสิทธิภาพและผมไม่ลืมที่จะพูดถึงครูผู้ถ่ายทอดทุกคน และเชื่อเถอะว่าถ้าผมไม่กล่าวถึงครูที่ได้ถ่ายทอดมาให้นั้น ผมก็ต้องโดนครหาเรื่องไปเรียนมวยนั้นมวยนี้มาแล้วไม่กล่าวถึงครูบาอาจารย์อยู่ดี พูดถึงก็หาว่าแอบอ้างไม่พูดถึงก็หาว่าเนรคุณ

ผมได้ข้ามฝ่ากระแสเหล่านี้และก้าวต่อไป นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ผมได้เริ่มจัดงานพิธีไหว้ครูไทฟูโดขึ้นเป็นครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ และจัดเป็นประจำต่อเนื่องทุกปีเพื่อเป็นการระลึกถึงครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิประสาทวิชาทำให้ผมพัฒนาขึ้นและเป็นแบบอย่างให้กับศิษย์ในการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อครูอาจารย์ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และที่ล่วงลับไปแล้ว

3. มวยจับฉ่าย

การเรียนมวยในจีนสมัยก่อน หากคุณอยู่สำนักไหนคุณก็ต้องฝึกและเรียนอยู่ที่สำนักนั้นไปตลอด เป็นไปได้ยากที่จะย้ายหรือเปลี่ยนสำนัก เว้นแต่ครูจะเสียชีวิตหรือครูเป็นผู้แนะนำหรืออนุญาตให้ไปเรียนมวยกับครูมวยท่านอื่นหรือที่สำนักอื่นเพิ่มได้ หากคุณย้ายหรือเปลี่ยนสำนักโดยพลการคุณจะถูกมองว่าเป็นคนเนรคุณหรือทรยศต่อสำนัก ช่างเป็นข้อกล่าวหาดูรุนแรง และยากที่จะแก้ตัวส่วนการเรียนมวยในเมืองไทยในช่วง 20-40 ปี ที่ผมสัมผัสนั้น แม้จะไม่มีความเคร่งครัดมากนักในการเรียนมวยใดมวยหนึ่งหรือสำนักใดสำนักหนึ่ง แต่ก็มีโอกาสไม่มากนักที่จะมีใครฝึกฝนหลายๆ มวยได้ในเวลาไม่กี่ปี

อาจเพราะไม่ง่ายที่จะพบเจอครูมวยหลายๆ ท่าน ในเวลาไล่เลี่ยกันที่จะถ่ายทอดให้ อีกทั้งไม่มีความสะดวกในเรื่องเวลา การเดินทางและโอกาสที่จะเรียน และปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วยอีก ส่วนผมในตอนนั้นจะว่าเป็นคนช่างเสาะแสวงหาครูก็ว่าได้ เมื่อผมเปลี่ยนที่เรียนหรือที่ทำงานไปที่ใหม่ๆ ผมก็จะต้องสืบเสาะหาครูไว้เพื่อผมจะได้ฝึกฝนต่อและพัฒนาทักษะอยู่เสมอ ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นวิชาใดหรือครูจะถ่ายทอดให้มากหรือน้อย ขอให้ได้ฝึกแบบศิษย์มีครู ก็จะรู้สึกดีในการฝึก และที่สำคัญผมจะแจ้งให้เหล่าครูอาจารย์ของผม ทราบว่าผมเคยเรียนมวยใดมาและเรียนมวยใดเพิ่มมาบ้าง

จนเมื่อผมผสมผสานทักษะมวยที่เรียนมาและถ่ายทอดโดยใช้ชื่อว่าไทฟูโด เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ศิลปะป้องกันตัวไทฟูโด หรือ Taifudo Martial Arts ที่มีการฝึกท่ารำมวย ฝึกทักษะต่อสู้ป้องกันตัวด้วยหมัดเท้า เข่าศอก คว้าหัก จับทุ่ม เข้ารวบทุ่มและเข้าปล้ำบนพื้น ถูกมองว่าเป็นมวยจับฉ่ายขึ้นมาทันที มวยจับฉ่ายในที่นี้ฟังแล้วเหมือนมีความหมายไปในเชิงลบ แต่ผมอยากถามว่า “จับฉ่ายที่นำผักหลากหลายชนิดมาปรุงจนเปื่อยเข้ากัน มากมายคุณค่าสารอาหารสำหรับผู้บริโภคเป็นเมนูที่ดีมีรสชาติอร่อยหรือไม่?”

สำหรับผม เปรียบไทฟูโดเหมือนค็อกเทล นำเหล้าอ่อนๆ หลากหลายรสชาติ ใส่น้ำเชื่อมนิด เติมน้ำแข็งหน่อย อาจใส่น้ำผลไม้ หรือเนื้อผลไม้เพื่อเพิ่มรสและสีสัน เขย่าผสมรวมกัน เพิ่มหรือลดส่วนผสมจนได้สูตรรสชาติที่คนดื่มแต่ละคนต้องการ ปัจจุบันการฝึกมวยหลายๆมวยเป็นที่นิยมอย่างมาก ผู้ฝึกเก่งๆ มีมวยอย่างน้อยคนละไม่ต่ำกว่า 3-5 มวย ยิ่งผู้ฝึก Mix Martial Arts (MMA) ก็ไม่ถูกมองว่าฝึกมวยแบบจับฉ่ายแต่กลับเป็นที่ยอมรับว่าเป็นผู้ฝึกที่ความสามารถหลากหลาย อีกทั้งในสมัยนี้การค้นหาที่เรียนง่ายกว่าสมัยก่อนมากและมีมวยให้เลือกหลายสไตล์ มีสำนักมวยหรือยิมเปิดขึ้นจำนวนมาก รวมถึงสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงข้อมูลได้สะดวกรวดเร็ว ผู้ที่ตั้งใจฝึกฝนจริงจังก็จะมีฝีมือได้ไม่ยาก ส่วนคนที่เสพสื่อเยอะแต่ไม่ลงมือฝึกฝนก็จะกลายเป็นกูรู (กูก็รู้) เก่งวิจารณ์ช่างวิเคราะห์ เหมือนเป็นมวยแสดงความคิดเห็นได้สารพัดแต่ขออย่างเดียวอย่าให้แสดงฝีมือ

4. ดำเนินการให้เป็นที่ยอมรับ

ตั้งแต่มีการก่อตั้งและถ่ายทอดไทฟูโดมาตลอด 30 ปี มีจำนวนผู้ฝึกไทฟูโดนับพันๆคนทั้งชาวไทยและต่างชาติสารพัดวิชาการต่อสู้บนโลกใบนี้ บางวิชามีมานานกว่าร้อยปี ขณะที่บางวิชาก็เพิ่งเกิดขึ้นไม่ถึงศตวรรษ “การพัฒนาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีเก่ามันถึงมีใหม่ แต่สิ่งที่ดีขึ้นในศาสตร์ใหม่ก็คือ แนวทางที่เราเอามาจากครูได้ถูกปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้นำไปสู่การเรียนการสอนที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ไทฟูโดเองนับเป็นศาสตร์การต่อสู้ของไทยชนิดหนึ่งที่อยู่บนแนวทางของมวยไทย ผสมกับศิลปะการต่อสู้หลายๆ อย่าง โดยมุ่งเน้นที่การป้องกันตัว”

ราวปี พ.ศ.2539 ผมได้ถูกชักชวนจากประธานและคณะกรรมการ World Martial Arts หลังจากที่ได้ดูผมสาธิต โดยให้ผมนำไทฟูโดเข้าร่วมกับทาง World Martial Arts เพื่อให้ไทฟูโดได้ถูกบันทึกไว้ในสารบบรับรองว่าเป็นอีกหนึ่งของศิลปะการต่อสู้ที่มีผมเป็นผู้ก่อตั้งและเผยแพร่ แต่ผมไม่สามารถสานต่อคำชวนได้เพราะทางผู้ใหญ่ของไทยที่ World Martial Arts ฝากให้ประสานเรื่องนี้ ท่านไม่ได้ให้โอกาสนี้แก่ผม จากเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นจุดที่ทำให้ผมตั้งปณิธานไว้กับตัวเองว่าในวันข้างหน้าหากมีใครที่ผมสามารถหยิบยื่นโอกาสดีๆ ให้แก่เขาเพื่อให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้น ผมจะไม่ลังเลและพร้อมช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ผมจะไม่ให้เขาเสียโอกาสเหมือนผม

โรงยิมไทฟูโดที่หาดใหญ่เป็นสถานที่ที่ผมขอจัดตั้งเป็นโรงเรียนสอนศาสตร์ด้านการต่อสู้ป้องกันตัว ตั้งแต่กลับมาอยู่หาดใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2542 ผมใช้เวลาในการเตรียมหลักสูตรและเอกสารเพื่อขอจัดตั้งโรงเรียนเป็นเวลาถึง 6 ปี ซึ่งในประเทศไทยไม่มีโรงเรียนประเภทนี้ที่เคยได้รับการจัดตั้งมาก่อน จนในปี พ.ศ.2548 ผมก็สามารถจัดตั้งเป็นโรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ TaiFuDo Academy รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการได้สำเร็จ

ในปี 2008 (พ.ศ.2551) เป็นช่วงที่ผมเดินทางไปประเทศมาเลเซียเพื่อไปเผยแพร่ไทฟูโดในการสัมมนาศิลปะป้องกันตัวที่สำนักมวยต่างๆได้จัดขึ้น ที่รัฐกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ผมได้เยี่ยมพบปะกับเหล่าอาจารย์จากหลายๆ สำนักมวย ในช่วงนั้นผมได้รู้จักกับ Sensei P.Pathmanathan ทุกคนเรียกท่านว่ามหากูรู มหากูรูเป็นผู้ก่อตั้ง ประธานและเป็นอาจารย์ใหญ่ (Founder&President, Chief Instructor And Examiner) ของสำนักInternational Okinawan Shorin-Ryu Seibukan Karate Do Association Malaysia. (I.O.S.S.K.A.M) มหากูรูมีโอกาสได้ดูผมโชว์ทักษะต่างๆ ในหลายโอกาสและเคยเดินทางมาเยี่ยมผมที่หาดใหญ่ มหากูรูถ่ายทอดคาราเต้ของสำนักท่านให้ผมไว้ฝึกฝน และในปี ค.ศ.2009 (พ.ศ.2552) มหากูรูแจ้งให้ผมไปรับมอบสายดำกิตติมศักดิ์ดั้ง 5 ของสำนักInternational Okinawan Shorin-Ryu Seibukan Karate Do Association Malaysia. มีพิธีรับมอบที่ประเทศมาเลเซีย นับว่าเป็นเกียรติกับผมยิ่งนัก

และในปี ค.ศ.2009 ผมได้พาลูกศิษย์ไทฟูโดเข้าร่วมแข่งขันคาราเต้ รายการ Regional International Karate-do Malaysia 2009 Challenge Trophy ที่ทางสำนัก International Okinawan Shorin-Ryu Seibukan Karate Do Association Malaysia ส่งหนังสือเชิญให้สถาบันไทฟูโดเข้าร่วมแข่งขันด้วย ผลงานในการเข้าร่วมแข่งขันครั้งนี้ สถาบันไทฟูโดคว้ารางวัล 9 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดงนับว่าเป็นโอกาสที่ทำให้ลูกศิษย์ที่สมัครใจได้ร่วมกิจกรรมในสไตล์การแข่งขันที่มีกติกาแบบกีฬาคาราเต้ในต่างประเทศ และนำประสบการณ์ที่ได้มาปรับปรุงแก้ไขเพื่อฝึกฝนพัฒนาตนให้ดียิ่งขึ้น

ต่อมาในปี ค.ศ.2012 (พ.ศ.2555) ทางองค์กร World Head Of Family Sokeship Council (WHFSC) ส่งจดหมายมายังผม ให้ไปรับรางวัลผู้ก่อตั้งไทฟูโด “Founder ‘s Award –Taifudo” ที่รัฐฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา

Your presence is kindly requested to represent Thailand and to personally receive a “Founder ‘s Award –Taifudo” for creating the Art of Taifudo. You will also be given a certificate from our Council making you the official WHFSC Ambassador for Thailand. World Head Of Family Sokeship Council We respectfully request that the U.S Embassy issue a Visa for you to attend important…

องค์กร WHFSC ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2535 โดยศาสตราจารย์แฟรงค์ อี.ซานเชซ แห่งกวมองค์กรนี้มอบรางวัล ลงทะเบียนรับรองอาจารย์และศิลปะการต่อสู้ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จัดกิจกรรมด้านศิลปะป้องกันตัวรวบรวมสมาชิกที่สนใจด้านศิลปะการต่อสู้มีสมาชิกเข้าร่วมจำนวนมาก

ผมไม่ได้เดินทางไปรับรางวัลไทฟูโด ที่ทางองค์กร WHFSC มอบให้เนื่องจากติดเรื่องค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการเดินทางไปต่างประเทศ แต่ผมรู้สึกได้รับเกียรติและภาคภูมิใจที่ไทฟูโดโดยคนไทยเป็นที่สนใจและมีองค์กรระดับสากลให้การยอมรับว่าผมเป็นผู้ก่อตั้งและเผยแพร่ไทฟูโด

ขอขอบคุณประสบการณ์ที่ผ่านมา ขอบคุณผู้คนทั้งเจตนาดีและไม่ดีที่ผลักดัน หล่อหลอม เคี่ยวกรำทำให้ไทฟูโดในปี พ.ศ.2563 นี้ ก้าวเข้าสู่ครบรอบปีที่ 31 และหวังว่าจะสามารถก้าวต่อไปอีกนับร้อยปี ไทฟูโดจะเป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวโดยคนไทยที่อาจเป็นอีกวิถีทางเลือกหนึ่งที่คุณเองก็อยากสัมผัส ผู้ที่หลงใหลในวิทยายุทธ โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ Taifudo Academy มีอีกหลากหลายวิชามวยให้ได้เลือกฝึกฝนตามความชอบอีกด้วย และขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม Taifudo Academy มาโดยตลอด

ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงดลบันดาลให้ทุกท่านจงมีแต่ความสุขกาย สบายใจ ทรัพย์สินเพิ่มพูน ปราศจากโรคภัยต่างๆ นานา ขอเดชคุณพระศรีรัตนตรัยจงคุ้มภัยสารพัดขจัดผลาญ อายุมั่นขวัญยืนตลอดไป

ติดต่อเรา

บทความและข่าวสารอื่นๆ

Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หลานไฉ่เหอ (藍采和; แต้จิ๋ว: น่าไชหัว, ฮกเกี้ยน: หน่าไฉฮัม) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนผู้เ...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หานเซียงจื่อ (韓湘子; ฮกเกี้ยน: ฮั้นเจียวจู้) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนแห่งลัทธิเต๋า ผู้ม...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หลี่เถียไกว่ (李鐵拐; กวางตุ้ง: เหล่ยทิดกวาย, แต้จิ๋ว: ลี้ทิก๋วย, ฮกเกี้ยน: ลี่ทิกุย) หรือที่รู้จักในชื...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
เหอเซียนกู (何仙姑; แต้จิ๋ว: ฮ่อเซียนโกว, ฮกเกี้ยน: เฮอเซียนก๊อ) หรือที่รู้จักในชื่อ “นางฟ้าเหอ&#...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
ลฺหวี่ ต้งปิน (呂洞賓; แต้จิ๋ว: ลือท่งปิน, ฮกเกี้ยน: ลีตงปิ่น) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนใ...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
จงหลีเฉฺวียน (鐘离權; กวางตุ้ง: จงสิดขือ, ฮกเกี้ยน: เจี๋ยงตีควน) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซีย...