Taifudo Academy

บทที่ 2 ยูโดวิถีแห่งความอ่อนนุ่ม

บทที่ 2 ยูโดวิถีแห่งความอ่อนนุ่ม
taifudo book2 (Web V)

สมัยผมเป็นเด็กผมมักจะโดนคนอื่นแกล้งเพราะตัวเล็ก และผอมดูเป็นคนอ่อนแอ น่าแกล้ง ตอนนั้นด้วยว่ายังเป็นเด็กน้อย ก็ไม่รู้จะจัดการกับคนตัวโตกว่าหรือใจถึงกว่าที่มาแกล้งได้อย่างไร ก็ได้แต่ทน ผมอยากฝึกกีฬาเพราะหวังว่าร่างกายจะแข็งแรงพอจะต่อกรกับคนที่มาแกล้งเราได้บ้าง?

วัยเด็กของผม นอกจากเรียนหนังสือที่โรงเรียนแล้ว แม่ก็จะมาส่งผมเพื่อเรียนพิเศษภาษาจีนที่ด้านหน้าหอสมุด ซุน ยัด เซ็น (หอสมุดประชาชนหาดใหญ่) “ต๊ะรีบเข้าไปเลยลูก เสร็จแล้วรอหม่าม้ามารับตรงนี้นะ” ผมเข้าไปเรียนและออกมารอแม่มารับที่เดิม

ชีวิตในมัธยมปลาย: สารวัตรนักเรียนและเหตุการณ์การถูกรุมทำร้าย

เมื่อผมเรียนในระดับชั้นมัธยมปลาย ผมได้รับคัดเลือกเป็นสารวัตรนักเรียน ทำหน้าที่ช่วยอาจารย์ตรวจตราและรายงานความประพฤติของนักเรียนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือทำผิดกฎของโรงเรียน ทำให้ผมสุ่มเสี่ยงโดนเขม่นจากกลุ่มคนทำผิดเหล่านั้น ผมสังหรณ์ใจว่าอาจจะโดนทำร้ายร่างกายเข้าสักวัน ซึ่งเพื่อนนักเรียนชายในชั้นเรียนต่างก็ออกปากว่าจะช่วย หากผมโดนทำร้าย ยกเว้นเพื่อนคนหนึ่งที่บอกผมว่าเขาคงไม่ช่วย เพราะเขาตัวเล็ก

และแล้ววันนั้นก็มาถึง ผมโดนรุมทำร้ายในโรงอาหารของโรงเรียนด้วยกลุ่มคนมากกว่า 20 คน บอกเลยว่าตัวผมกองอยู่กับพื้น ผมทำได้แค่เอามือทั้งสองกุมศีรษะที่เรียกว่าท่าสวมหมวกกันน็อคเพื่อไม่ให้สหบาทาที่กระหน่ำ ลงมาโดนจุดอันตราย เวลาเกิดเหตุแค่ไม่กี่นาที เหตุการณ์ครั้งนี้ผมเจ็บตัวไม่มากแต่เจ็บที่ใจมากกว่าเพราะเพื่อนที่เคยรับปากก่อนหน้านี้ไม่มีใครกล้าเข้ามาช่วยผมเลย ตอนผมนอนอยู่บนพื้น ผมมองลอดแขนที่กุมศีรษะเห็นเพื่อนตัวเล็กซึ่งเป็นคนเดียวที่บอกว่าจะไม่ช่วย แต่เขากลับกระโดดขึ้นโต๊ะอาหารแล้วใช้ขาเตะอุตลุดไม่เป็นท่าไปยังกลุ่มคนที่เข้ามารุมทำร้ายผม “สินลำดวน” คือชื่อเพื่อนที่ผมจำขึ้นใจไม่มีวันลืมน้ำใจเขาเลย

บทเรียนจากเหตุการณ์นี้สอนให้ผมรู้ว่าเมื่อเกิดเหตุร้ายอาจไม่มีใครช่วยเราเราต้องเอาตัวรอดเองให้ได้ และเป็นการจุดประกายให้ผมอยากฝึกศิลปะการต่อสู้เพื่อใช้ป้องกันตัวเอง ผมในช่วงเริ่มย่างเข้าสู่วัยรุ่น แม่มาส่งผมเพื่อไปเรียนพิเศษภาษาจีนเหมือนทุกครั้ง แต่ครั้งนี้ผมตัดสินใจไม่เดินเข้าไปในนั้น ผมยืนมองรถแม่ขับออกไป แล้วผมก็วิ่งสลับเดินมุ่งไปยังสนามกีฬาที่อยู่ห่างออกไปราว 2 กิโลเมตร เมื่อผมไปถึงสนามกีฬาจิระนคร ผมมองหาประเภทกีฬาที่ผมอาจสนใจ ผมสะดุดตากับป้ายติดอยู่เป็นอักษรแบบจีนสองตัว ตรงกลางจะเป็นธงชาติญี่ปุ่น และไทยติดคู่กัน ทางขวามือมีป้ายภาษาไทยเขียนว่า “ยูโด” เหนือธงชาติจะมีรูปของคนญี่ปุ่นท่านหนึ่งซึ่งมาทราบภายหลังว่าเป็นผู้สถาปนาวิชา “ยูโด” คือท่านปรมาจารย์จิกาโร่ คาโน่ ผมยืนดูเขาฝึกซ้อมกัน ในใจรู้สึกตื่นเต้นเบิกบาน วันนั้นผมตัดสินใจขอสมัครเข้าฝึกยูโดทันที

การเริ่มฝึกยูโด

ผมแอบไปฝึกยูโดที่สนามกีฬากลางซึ่งต้องเดินไปถึง 2 กิโลเมตรและเดินกลับอีก 2 กิโลเมตร ให้ถึงหอสมุดซุน ยัด เซ็นก่อน 2 ทุ่มเพื่อยืนรอแม่มารับที่เดิม โดยที่แม่ไม่รู้เลยว่าผมไปฝึกยูโดมา ที่บอกว่าแอบเพราะแม่ของผมท่านไม่สนับสนุนให้ผมไปเรียนวิชาเหล่านี้ ท่านไม่อยากให้ผมไปมีเรื่องทะเลาะวิวาท อาจเพราะในวัยเด็กผมมักเล่นสนุกกับเพื่อนๆ ในละแวกบ้าน มีคนที่ชอบแกล้งคนอื่นแต่เวลาตัวเองโดนเอาคืนก็จะไปฟ้องพ่อแม่ หากวันไหนมีคนมาเอะอะโวยวายว่าผมทะเลาะมีการต่อยตีกันกับลูกเขา แม่จะตีผมด้วยไม้เรียวเพื่อให้เพื่อนบ้านที่มาโวยวายคนนั้นเห็นทันทีว่าแม่ผมลงโทษลูกและสอนลูกแล้ว แม่ไม่เคยถามว่าใครถูกใครผิด แต่ผมรู้ดีว่าแม่ตีผมเพื่อตัดปัญหาไม่ให้เพื่อนบ้านเคืองใจ เพราะแม่รู้และเชื่อว่าผมไม่เคยรังแกใครก่อน ทั้งยังเป็นเรื่องทะเลาะกันตามประสาเด็กๆ เพราะวันต่อมาพวกเราก็ดีกัน และกลับมาเล่นด้วยกันเหมือนเดิม

ผมนำเงินอั่งเปาที่ได้รับตอนตรุษจีนไปซื้อชุดยูโดที่ร้านขายอุปกรณ์กีฬา และหลังฝึกซ้อมก็จะเก็บชุดไว้ที่ห้องฝึกและส่งซักชุดฝึกที่ร้านซักรีดใกล้ๆสนามกีฬา ผมไม่เคยนำชุดฝึกยูโดกลับบ้านเลย

ความหลงใหลในกีฬาและการฝึกยูโด

ผมไม่ใช่คนเกเรแค่ผมไม่สนุกกับการเรียนแต่หนังสือสิ่งที่ทำให้ผมมีชีวิตชีวาคือตอนฝึกทักษะทางด้านกีฬา (แม้ปัจจุบันพ่อแม่จะส่งเสริมลูกให้มีทักษะหลายอย่างแต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ค่านิยมพ่อแม่ส่วนใหญ่คาดหวังให้ลูกเรียนหนังสือเก่งมากกว่าทุ่มเทฝึกฝนทักษะด้านอื่นๆ) และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นผมเล่นฟิตเนสเพิ่มด้วยโดยที่แม่ทราบแต่ท่านก็ไม่ได้ห้ามอะไร ผมมีโอกาสฝึกเล่นกล้ามที่ฟิตเนสซึ่งเปิดแถวละแวกบ้าน พี่เจ้าของยิมแกเป็นนักกล้าม และสร้างอุปกรณ์การฝึกเองหลายอย่าง แกเลยเปิดยิมที่เป็นบ้านของแกเองให้คน ที่สนใจมาฝึกด้วยกันเลย โดยเก็บค่าฝึกเพียงเล็กน้อย ผมฝึกเล่นกล้ามได้ไม่นานเท่าไหร่ก็ถูกชักชวนให้ไปแข่งขันผมไปแข่งแบบอยากไปหาประสบการณ์เพราะส่วนตัวอยากฝึกไว้เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและร่างกายดูกำยำมากกว่า

ครูฝึกยูโดคนแรกของผมเป็นนักศึกษาวิทยาลัยครูที่เพิ่งจบเอกพละศึกษามาจากสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตยะลา ซึ่งอายุห่างกับผมเพียง 7 ปี ผมจำชื่อแกไม่ได้เพราะไม่ค่อยได้คุยกัน แกมานำฝึกสอนในช่วงแรกไม่กี่วันแล้วก็ย้ายไป จึงไม่มีคนสอนยูโด พี่อ๊อดซึ่งเป็นผู้ฝึกสอนมวยสากลอยู่ตอนนั้นจึงเข้ามาสอนยูโดแทนให้ ผมจึงฝึกยูโดต่อกับพี่อ๊อด (ครูอ๊อด อัครินทร์) ที่มาสอนแทนครูคนเก่า พี่อ๊อดเป็นนักศึกษาวิทยาลัยครู ที่เพิ่งจบเอกพละศึกษามาจากสถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตยะลาเหมือนกัน

ผมฝึกพื้นฐานของยูโดคือเริ่มจากทักษะการตบเบาะ (Ukime Waza) การนอนตบเบาะ ล้มตัวตบเบาะ ม้วนหน้าตบเบาะ พุ่งม้วนตบเบาะ การตบเบาะสลับซ้าย-ขวา การตบเบาะคือการฝึกการถ่ายแรงในการรับการทุ่มลงพื้น ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของยูโดที่ทุกคนต้องฝึก ซึ่งทักษะทางด้านยืดหยุ่นที่ผมมีมา ทำให้เรียนรู้พื้นฐานของยูโดได้รวดเร็ว ผมไปเรียนไม่กี่ครั้งก็สามารถทำได้อย่างคล่องแคล่ว

ศาสตร์ของยูโดยังมีอีกมากไม่ได้มีแต่ทักษะการตบเบาะหรือทักษะการทุ่ม แต่ยังมีทักษะการใช้ขาปัด ทักษะการขัดขา ทักษะการงัด ทักษะการใช้สะโพก ทักษะการตัดแรง ทักษะการต้านแรง ทักษะการยืมแรง และทักษะการนอนต่อสู้ (Ne Waza) โดยการบิดล็อก หรืออาศัยชุดยูโดรัดใน ส่วนต่างๆ ให้ยอมแพ้ ทักษะเหล่านั้นนำมาประยุกต์ได้ไม่รู้จบ ผมรู้สึกสนุกกับการฝึกยูโดมาก

การกำเนิดวิชายูโด (Judo)

หลังจากการปฏิวัติวัฒนธรรมในยุคเมจิของญี่ปุ่น ทำให้วิชายิวยิตสูเสื่อมความนิยมลง ทว่าเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2403 จิกาโร่ คาโน่ ชาวเมืองชิโรโกะได้เกิดขึ้นมา ครอบครัวของเขาอพยพมาอยู่ในกรุงโตเกียวเมื่อปี พ.ศ. 2411 เมื่อเขาอายุ 18 ปี จิกาโร่ คาโน่ได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยโตเกียวในสาขาปรัชญาศาสตร์จนสำเร็จการศึกษาเมื่ออายุ 23 ปี

จิกาโร่ คาโน่ เห็นว่าวิชายิวยิตสูเป็นกีฬาที่ฝึกทั้งร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ยังมีหลักปรัชญาที่ว่าด้วยหลักแห่งความเป็นจริง หลังจากที่เขาศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวิชายิวยิตสูอย่างละเอียด เขาพบว่าผู้ฝึกวิชายิวยิตสูจนมีความชำนาญสามารถสู้กับคนที่รูปร่างใหญ่โตหรือสู้กับคนที่มีอาวุธด้วยมือเปล่าได้ จากการค้นพบนี้ทำให้จิกาโร่ คาโน่เกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้า จึงได้เข้าศึกษายิวยิตสูอย่างจริงจังจากอาจารย์หลายท่านจากโรงเรียนเท็นจิ ชินโย และโรงเรียนคิโตะ

ในปี พ.ศ. 2425 ขณะที่จิกาโร่ คาโน่อายุได้ 29 ปี เขาได้ก่อตั้งโรงเรียนวิชายูโดขึ้นเป็นครั้งแรกในบริเวณวัดเอโชะจิ โดยตั้งชื่อสถาบันว่า “โคโดกัง ยูโด” เขาได้นำเอาศิลปะการต่อสู้ด้วยการทุ่มจากสำนักเท็นจิ ชินโย และการต่อสู้จากสำนักคิโตะมาผสมผสานเป็นวิชายูโด และปรับปรุงวิธีการฝึกยูโดให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงในระบอบการปกครองและสังคมในขณะนั้น โดยสอดแทรกวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ คณิตศาสตร์ประยุกต์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว จิตศาสตร์ และจริยศาสตร์เข้าด้วยกัน เขาตัดทอนยิวยิตสูที่ไม่เหมาะสมออก และรวบรวมวิชายิวยิตสูให้เป็นหมวดหมู่มีมาตรฐานเดียวกันตามความคิดของเขา และได้ตั้งระบบใหม่เรียกว่า “ยูโด (Judo)”

การยอมรับและความนิยมในวิชายูโด

ในยุคแรก จิกาโร่ คาโน่ต้องต่อสู้กับบุคคลหลายฝ่ายเพื่อให้เกิดการยอมรับในวิชายูโด โดยเฉพาะจากบุคคลที่นิยมอารยธรรมตะวันตก บุคคลเหล่านี้ไม่ยอมรับว่ายูโดดีกว่ายิวยิตสู จนในปี พ.ศ. 2429 กรมตำรวจญี่ปุ่นได้จัดการแข่งขันระหว่างยูโดกับยิวยิตสูขึ้น โดยแบ่งเป็นฝ่ายละ 15 คน ผลการแข่งขันปรากฏว่ายูโดชนะ 13 คน เสมอ 2 คน เมื่อผลปรากฏเช่นนี้ทำให้ประชาชนเริ่มสนใจยูโดมากขึ้น จนสถานที่สอนเดิมคับแคบ จึงต้องขยายห้องเรียนเพื่อต้อนรับผู้ที่สนใจ

จนถึงปี พ.ศ. 2476 ได้ย้ายสถานที่ฝึกไปที่ซูอิโดบาชิ (Suidobashi) และสถานที่นี้ในที่สุดก็เป็นศูนย์กลางของนักยูโดของโลกในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2455 ได้ก่อตั้งสหพันธ์ยูโดระหว่างประเทศขึ้น โดยมีประเทศต่างๆ ที่ร่วมก่อตั้งครั้งแรกประมาณ 20 ประเทศ และได้ตั้ง The Kodokun Cultural Society ในปี พ.ศ. 2465 ขึ้น หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2499 สหพันธ์ยูโดระหว่างประเทศได้จัดให้มีการแข่งขันเพื่อความชนะเลิศยูโดระหว่างประเทศขึ้น โดยอยู่ในการอำนวยการของสหพันธ์ยูโดระหว่างประเทศ โคโดกัง และหนังสือพิมพ์อาซาอิซัมบุน

การปรับปรุงและพัฒนาวิชายูโด

จิกาโร่ คาโน่พบว่าวิชายิวยิตสูแบบดั้งเดิมไม่สามารถฝึกอย่างเต็มกำลังได้ เนื่องจากเทคนิคอันตรายต่างๆ เช่น การจิ้มตา การเตะหว่างขา การดึงผม และอื่นๆ อาจทำให้คู่ฝึกซ้อมบาดเจ็บสาหัส นอกจากนี้การฝึกที่เรียกว่า กะตะ (การฝึกแบบเข้าคู่โดยทั้งสองฝ่ายรู้กันและฝึกตามท่าโดยไม่มีการขัดขืนกัน) เพียงอย่างเดียวก็ยังไม่ได้ประสิทธิภาพเพียงพอ เพราะเราไม่สามารถคาดหวังได้ว่าศัตรูจะให้ความร่วมมือในท่าที่เราฝึกมาโดยไม่มีการขัดขืน

ดังนั้นเขาจึงปรับปรุงการฝึกส่วนใหญ่ในโรงเรียนของเขาให้เป็นแบบ รันโดริ (Randori) คือการฝึกซ้อมแบบจริง โดยใช้แนวความคิดว่านักเรียนสองคนใช้เทคนิคต่างๆ ที่ตนเรียนรู้เพื่อการเอาชนะอย่างเต็มกำลัง นักเรียนจะคุ้นเคยกับความรู้สึกต่อต้านขัดขืนจากคู่ต่อสู้ การฝึกแบบนี้นักเรียนจะสามารถพัฒนาร่างกาย จิตใจ และความคล่องตัวได้ดีกว่า เพื่อทำให้การฝึกซ้อมแบบรันโดริมีประสิทธิภาพมากขึ้น จิกาโร่ คาโน่จำเป็นต้องเอาเทคนิคที่ก่อให้เกิดอันตรายบางส่วนเช่น การชก เตะ หัวโขกในยิวยิตสูออกไป การล็อกสามารถกระทำได้เพียงแค่ข้อศอก ซึ่งปลอดภัยกว่าการล็อกสันหลัง คอ ข้อมือ หรือหัวไหล่ เขาเรียกการฝึกซ้อมแบบนี้ว่า “ยูโด”

ยูโดในปัจจุบันเป็นกีฬาสากลประเภทบุคคล มีหลักการและวัตถุประสงค์ คือการบริหารร่างกายและจิตใจให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยใช้แรงให้น้อยที่สุด เพื่อสวัสดิภาพและประโยชน์สุขร่วมกัน การฝึกยูโดต้องมีการฝึกการต่อสู้และป้องกันตัว เพื่อให้ผู้ฝึกได้ออกแรง ซึ่งเป็นหนทางก่อให้เกิดสมรรถภาพทางกายตามอุดมคติของจิกาโร่ คาโน่ ผู้ให้กำเนิดกีฬานี้ว่า “Maximum Efficiency with Minimum Effort and Mutual Welfare and Benefit” คือยูโดใช้วิธีการโอนอ่อนผ่อนตาม หรือที่เรียกว่า “ทางแห่งความสุภาพ” (Gentleness or Soft Way) ทำให้ได้เปรียบแก่ผู้ที่มีกำลังมากกว่า เป็นวิธีการที่ทำให้คนตัวเล็กกว่าน้ำหนักน้อยกว่าและกำลังด้อยกว่าสามารถต่อสู้กับผู้ที่อยู่ในลักษณะเหนือกว่าได้

เทคนิคของวิชายูโดแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้

1. นาเงวาซา (Nagewaza)

เป็นเทคนิคเกี่ยวกับการทุ่ม มีท่าทุ่มที่เป็นพื้นฐานอยู่ 12 ท่า และแยกออกเป็นประเภทตามส่วนของร่างกายที่ใช้ทุ่มนั้นๆ ซึ่งได้แก่การทุ่มด้วยมือ การทุ่มด้วยสะโพก การปัดขา การทุ่มด้วยไหล่ การทุ่มด้วยสีข้างและหลัง

2. กะตะเมวาซา (Katamawaza)

เป็นเทคนิคเกี่ยวกับการกอดรัดเพื่อให้หายใจไม่ออก การจับยึดและการล็อกข้อต่อ เป็นเทคนิคที่ใช้ขณะอยู่กับพื้นเบาะ (tatami) เพื่อให้คู่ต่อสู้ยอมจำนน กะตะเมะวาซายังสามารถแยกย่อยออกได้อีก 3 ประเภท คือ

  1. โอไซโคมิวาซา (Osaekomiwaza) ซึ่งเป็นเทคนิคเกี่ยวกับการกดล็อกบนพื้น
  2. ชิเมวาซา (Shimewaza) ซึ่งเป็นเทคนิคการรัดคอหรือหลอดลม
  3. คันเซทสึวาซา (Kansetsuwaza) ที่เป็นเทคนิคในการหักล็อกข้อต่อให้คู่ต่อสู้ยอมจำนน

3. อาเตมิวาซา (Atemiwaza)

เป็นเทคนิคเกี่ยวกับการชกต่อย ทุบตี ถีบถอง ส่วนต่างๆ ของร่างกายให้เกิดการบาดเจ็บ พิการหรือถึงแก่ชีวิตซึ่งวิธีการเหล่านี้จะใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัวเท่านั้นและไม่เคยจัดการแข่งขัน

ตอนที่ผมฝึกยูโดที่โดโจ (โรงฝึก) ของสนามกีฬากลางหาดใหญ่ในตอนนั้น มีแต่คนคาดสายคาดเอวสีขาวทุกคน แม้แต่ครูที่ควบคุมดูแลชมรมที่ฝึกมานานก็ยังคาดสายคาดเอวสีขาว เพราะต้องเป็นสมาชิกสมาคมยูโดแห่งประเทศไทย และขึ้นไปสอบที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายพอประมาณ เลยไม่ค่อยมีใครสนใจจะสอบเลื่อนวิทยฐานะเพื่อที่จะเอาสายสีน้ำตาล หรือดำสักเท่าไรทุกคนเล่นเป็นกีฬาสนุกๆ เสียส่วนใหญ่

ผมมาทราบทีหลังว่ายูโด มีการสอบเลื่อนระดับเหมือนการเรียนการสอนวิชาการ แต่การสอบเลื่อนระดับนั้นจะวัดที่พื้นฐาน ความถูกต้องสมบูรณ์ของท่าประสิทธิผลและความสัมฤทธิ์ผลของท่า ความขยันหมั่นเพียรในการมาซ้อม ซึ่งในสมัยนั้นจะมีการสอบสายที่สมาคมยูโดแห่งประเทศไทยที่เดียว ถ้าสอบผ่านก็จะได้สายคาดเอวเป็นสีน้ำตาลแสดงวิทยฐานะว่ามีทักษะมากพอสมควรถ้าสอบผ่านอีกครั้งจะได้สายดำ (Shodan) ซึ่งถือเป็นขั้นที่หนึ่งในระดับสิบขั้น ซึ่งขั้นที่สิบที่นับได้ว่าสูงสุดของยูโด มีคนน้อยมากที่จะสอบได้ในระดับน้ี ปัจจุบันยูโดจะมีการสอบเลื่อนสาย โดยมีสายขาวสำหรับผู้ฝึกใหม่ทุกคนสายเขียว สายฟ้า สายน้ำตาล สายดำ และสายแดง ซึ่งปัจจุบันนี้ทางสมาพันธ์ยูโดแห่งประเทศญี่ปุ่นได้ถวายสายแดงแก่องค์สมเด็จพระจักรพรรดิและยกเลิกสายนี้ไปแล้ว

การผสมผสานวิชายูโดและมวยสากล

ความเข้าใจหลักการยูโด

ยูโด แปลว่าวิถีแห่งความอ่อนนุ่มโดยใช้หลักคานงัด คานเหวี่ยง การออกแรง การยืมแรง การตามแรง เป็นพื้นฐานและปรัชญาของวิชา แม้ผมจะสามารถทุ่มคู่ต่อสู้ด้วยท่าต่างๆ ได้ในตอนฝึกยูโดนั้น แต่ผมเพิ่งมาเข้าใจหลักการออกแรง ยืมแรง ตามแรง ก็เมื่อได้เรียนไท่เก๊กอย่างจริงๆ จังๆ ในอีกหลายปีต่อมา

การเผชิญหน้ากับมวยสากล

เย็นวันหนึ่งขณะที่ผมเลิกฝึกซ้อมยูโด ก่อนจะกลับบ้าน ผมและเพื่อนๆ มานั่งคุยเล่นอยู่บริเวณด้านหน้าใกล้ห้องฝึกซ้อม มีเด็กกลุ่มหนึ่งมายืนอยู่บริเวณนั้นด้วย เป็นกลุ่มเด็กที่มารอฝึกมวยสากล ซึ่งเพิ่งเปิดรับสมัครได้ไม่นาน โดยพี่อ๊อดเป็นผู้สอนและฝึกต่อจากชั่วโมงของยูโด

“ยูโดสู้มวยสากลไม่ได้หรอก เข้ามายังไม่ทันได้ทุ่มก็โดนหมัดซะก่อน” มีเสียงพูดดังขึ้นในกลุ่มเด็กเหล่านั้น “ลองเล่นดูก็ได้” ผมตอบกลับไปแล้วลุกขึ้นเดินออกมาแสดงตัว เราทั้งคู่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ผมไม่ได้รู้สึกโกรธที่เขาพูดแบบนั้น ผมเองอยากรู้ว่าทักษะยูโดที่ผมฝึกมาระยะหนึ่งแล้ว จะนำมาใช้กับทักษะมวยอื่นได้แบบไหน

การตัดสินใจฝึกมวยสากลควบคู่กับยูโด

ช่วงนั้นผมเริ่มโตขึ้นและเริ่มสูงแต่ยังดูผอมอยู่ ผมขอแม่ขี่จักรยาน BMX เพื่อไปเรียนภาษาจีนและกลับเอง ทำให้มีเวลามากขึ้น ผมตัดสินใจฝึกมวยสากลควบคู่กับฝึกยูโด โดยมีพี่อ๊อดเป็นครูสอนทั้งสองอย่าง เส้นทางฝึกยุทธเพิ่งเริ่มต้น

วันแรกที่ผมตั้งใจจะไปฝึกมวยสากลต่อจากชั่วโมงยูโด ผมพบกับชัย คนที่ต่อยผมแล้วผมจับทุ่มในวันนั้น วันนี้ชัยมาฝึกยูโดวันแรกเช่นกัน และมีเราแค่สองคนที่ฝึกทั้งยูโดและมวยสากล ผมไม่เคยถามเหตุผลชัย แต่ผมบอกตัวเองว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” แน่นอน

ติดต่อเรา

บทความและข่าวสารอื่นๆ

Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หลานไฉ่เหอ (藍采和; แต้จิ๋ว: น่าไชหัว, ฮกเกี้ยน: หน่าไฉฮัม) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนผู้เ...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หานเซียงจื่อ (韓湘子; ฮกเกี้ยน: ฮั้นเจียวจู้) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนแห่งลัทธิเต๋า ผู้ม...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หลี่เถียไกว่ (李鐵拐; กวางตุ้ง: เหล่ยทิดกวาย, แต้จิ๋ว: ลี้ทิก๋วย, ฮกเกี้ยน: ลี่ทิกุย) หรือที่รู้จักในชื...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
เหอเซียนกู (何仙姑; แต้จิ๋ว: ฮ่อเซียนโกว, ฮกเกี้ยน: เฮอเซียนก๊อ) หรือที่รู้จักในชื่อ “นางฟ้าเหอ&#...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
ลฺหวี่ ต้งปิน (呂洞賓; แต้จิ๋ว: ลือท่งปิน, ฮกเกี้ยน: ลีตงปิ่น) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนใ...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
จงหลีเฉฺวียน (鐘离權; กวางตุ้ง: จงสิดขือ, ฮกเกี้ยน: เจี๋ยงตีควน) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซีย...