Taifudo Academy

บทที่ 18 วูซู ศิลปะการต่อสู้ของชาวจีน

บทที่ 18 วูซู ศิลปะการต่อสู้ของชาวจีน
taifudo book18 (Web V)

ผมไม่ได้อยู่หาดใหญ่หลังจากที่ไปเรียนต่อ และทำงานที่อื่นตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 จนผ่านมาถึงปี พ.ศ.2540 นับเป็นเวลา 10 ปี ตอนนี้ผมได้เวลากลับมาอยู่ที่หาดใหญ่อีกครั้ง บ้านผมอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หรือเรียกย่อๆ ว่า ม.อ.

กลับมาได้ไม่นานผมตัดสินใจเข้าไปใน ม.อ. ในช่วงเย็นวันหนึ่ง เพื่อสอบถามน้องๆ นักศึกษาถึงการฝึกซ้อมศิลปะป้องกันตัวว่ามีฝึกซ้อมอะไรที่ไหน และเวลาใดบ้าง ณ ตึกกิจกรรมนักศึกษา ผมสังเกตเห็นน้องนักศึกษาชายคนหนึ่งแต่งตัวด้วยเสื้อยึดแต่ใส่กางเกงฝึกซ้อมสีขาว ผมจึงเดินเข้าไปหาทันที

“สวัสดีครับ ไม่ทราบว่าที่นี่มีฝึกซ้อมศิลปะป้องกันตัวอะไรที่ไหนบ้างครับ” ผมถาม

“มีๆ ครับ มีชมรมไอคิโด ฝึกที่ตึกนี้เลยครับ ห้องอยู่ชั้น2 ผมก็เตรียมชุดมาฝึกวันแรกเหมือนกัน แต่วันนี้ไม่มีฝึกนะครับ ผมขึ้นไปดูมาแล้ว เขาแจ้งว่าเริ่มฝึกพรุ่งนี้ ราวหกโมงเย็นครับ ไว้พรุ่งนี้มาใหม่ มาฝึกด้วยกันนะครับ” น้องนักศึกษาตอบได้ครบถ้วน

ผมจำน้องคนนี้ได้แม่น น้องนักศึกษาชายคนนี้ ชื่อว่า สงบ ธนบำรุงกูล เรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์อยู่ชั้นปี 1 สงบถือว่าเป็นคนแรกที่ผมรู้จัก ต่อมาสงบก็ขอยกน้ำชามอบตัวเป็นศิษย์สายในไทฟูโดตอนปี พ.ศ.2541 นับเป็นศิษย์รุ่นแรกกลุ่มแรกของผมที่หาดใหญ่

ศิษย์รุ่นแรกกลุ่มแรกของผมที่หาดใหญ่

สงบเป็นคนดีมีความกตัญญูและเสมอต้นเสมอปลาย เย็นวันต่อมาผมขอเข้าไปร่วมฝึกซ้อมไอคิโดที่ชมรมศิลปะป้องกันตัวของ ม.อ. ตอนนั้นมีสงบและนักศึกษาที่ฝึกกันอยู่เพียงกลุ่มเล็กๆ โดยมีรุ่นพี่นักศึกษาปีที่ 2 ก๊อต อุกฤษฏ์ จำปา คอยนำฝึกซ้อมให้ ต่อมาก๊อตขอยกน้ำชามอบตัวเป็นศิษย์สายในไทฟูโดปี 2541 นับเป็นศิษย์รุ่นแรกกลุ่มแรกของผมที่หาดใหญ่ และเป็นคนแนะนำสถาบันฝีกสอนเอกชน ซึ่งถือได้ว่าให้โอกาสผมได้เผยแพร่เปิดสอนไทฟูโด ที่หาดใหญ่อย่างเป็นทางการเป็นที่แรก สำหรับผมก็อตเป็นทั้งศิษย์ที่รักและน้องชายที่ดีมาตลอด

ครั้งแรกที่ผมร่วมฝึกไอคิโดกับน้องๆ นักศึกษากลุ่มนี้ น้องๆ เห็นว่าผมมีทักษะที่ดีจึงขอให้ผมช่วยนำฝึกซ้อมต่อให้ด้วย หลังเลิกซ้อมเราก็นั่งสนทนากัน ผมจึงแนะนำตัวและเล่าย้อนถึงการฝึกมวยต่างๆ ที่ผ่านมาว่าผมฝึกฝนศาสตร์การต่อสู้มาหลากหลายวิชาหลายสำนักจากอาจารย์หลายๆท่าน ฝึกฝนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 อายุ 7 ขวบ ฝึกมาเกือบ 20 ปีแล้ว ผมสัมผัสได้ว่าทักษะทุกวิชามีจุดดีในตัวเองยิ่งได้ฝึกหลายๆมวยก็ได้เข้าใจด้วยตัวเองเลยว่าทักษะจากวิชาเหล่านั้นสามารถเชื่อมโยง และส่งเสริมซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2532 ผมจึงได้ริเริ่มนำศิลปะป้องกันตัวที่ได้ฝึกฝนทั้งหมดจัดระบบการฝึกขึ้นใหม่เพื่อถ่ายทอดศิลปะป้องกันตัว ในแนวผสมผสานซึ่งในปัจจุบันเราจะคุ้นกับศาสตร์ที่นำมาฝึกทักษะต่างๆ ไว้ด้วยกันในชื่อ Mixed Martial Arts หรือ MMA โดยผมใช้ชื่อศาสตร์ที่คิดค้นและถ่ายทอดนี้ว่า “ศิลปะป้องกันตัวไทฟูโด” (TaiFuDo Martial Arts)

ตอนนั้นในปี พ.ศ.2532 ผมเรียนอยู่ชั้นปี 2 คณะบริหารธุรกิจสาขาวิชาการจัดการโรงแรม และการท่องเที่ยวมหาวิทยาลัยพายัพจังหวัดเชียงใหม่ ผมทำเรื่องกับทางฝ่ายกิจกรรมของมหาวิทยาลัย เพื่อขอจัดตั้งชมรมศิลปะป้องกันตัวขึ้น มีคนสนใจและสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกในครั้งแรกจำนวน 100 กว่าคน

ผมขอตั้งชมรมและใช้ชื่อชมรมในครั้งแรกว่า “ชมรมศิลปะป้องกันตัวโด” ภายหลังไม่นานผมก็เปลี่ยนชื่อชมรมมาเป็นชมรมศิลปะป้องกันตัวไทฟูโด โดยคิดตั้งชื่อแบบง่ายๆ ขึ้นในตอนนั้นเพื่อให้ออกเสียง โดยมีนัยให้พอเข้าใจได้ว่าผมผู้ก่อตั้งชมรม และผู้นำฝึกซ้อมมีทักษะมวยไทย(ฝึกกับครูทอง เชื้อไชยา) กังฟู (สำนักลิ่วเหอและสำนักมวยจีนมังกรธิเบต)และคาราเต้โด (ชมรมคาราเต้โด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย) รวมถึงเทควันโด (ฝึกกับอาจารย์กฤช วรธำรงค์) ด้วยการก่อตั้งและกำเนิดศิลปะป้องกันตัวชื่อไทฟูโดจึงได้เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2532 ที่มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่

และตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ผมย้ายมาอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่บ้านเกิดแล้วและมีโอกาสเจอน้องๆนักศึกษาม.อ. และบุคคลทั่วไปที่สนใจอยากฝึกศิลปะป้องกันตัว สนใจอยากฝึกไทฟูโดกับผม บางคนฝึกฝนเพื่อการออกกำลังกายและเรียนรู้การป้องกันตัวและมีอีกหลายๆ คนก็เข้าร่วมพิธียกน้ำชา

มอบตัวเป็นศิษย์สายใน เพื่อฝึกฝนจริงจัง สามารถช่วยนำฝึกสอนไทฟูโดในสถาบันต่างๆ รวมถึงสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน ทำให้มีผู้ฝึกไทฟูโดเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ไทฟูโด ครบเครื่องเรื่องการต่อสู้ป้องกันตัว จุดเด่นของการต่อสู้ ทั้ง หมัด เท้า เข่า ศอก คว้าหัก จับทุ่ม ศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้ไทฟูโดรวบรวมและถ่ายทอดได้อย่างลงตัว ไม่เน้นแรงกระแทกแต่อาศัยหลักการของวิชามวยอ่อน ย้อนแรง ยืมแรง และผ่อนแรง จึงเหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย สามารถที่ จะศึกษาได้ในระยะเวลา อันรวดเร็วและนำไปใช้ได้จริง ในชีวิตประจำวัน

“ไทฟูโดฝึกฝนเพื่อสุขภาพและการป้องกันตัวหาใช่มุ่งเน้นการต่อสู้ และเอาชนะหากแต่ให้มีสติ และอ่อนน้อมถ่อมตน”

ความหมายของ “ไทฟูโด”

  • ไท หมายถึง สภาวะการณ์, ความเป็นอิสระ, ปรัชญาอันสูงสุดในด้านจิตใจ หมายถึง ความหนักแน่นเป็นกลาง
  • ฟู มาจากภาษาจีน คำว่า กังฟู หมายถึงทักษะ ความชำนาญ
  • โด หมายถึง หนทาง, วิถีแห่งเต๋า ในภาษาจีนออกเสียงเป็นเต๋า ส่วนภาษาญี่ปุ่น ออกเสียงเป็นโด, Do ซึ่งแปลว่า วิถีทาง, หนทาง เช่นเดียวกัน

สมาคมจิงอู่

ต่อมาในปี พ.ศ.2545

ผมได้มีโอกาสได้เข้าสมาคมจิงอู่ที่มาเปิดที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ผมอยากพบปะคนที่ฝึกมวยจีนและอยากมีกิจกรรมร่วมกับสมาคมจิงอู่ ผมได้รู้เรื่องเกี่ยวกับชื่อสมาคมจิงอู่มาก่อนผ่านทางภาพยนตร์จีนนั่นเอง เมื่อพูดถึงสมาคมจิงอู่ก็จะนึกถึงวีรบุรุษคนสำคัญของจีนคือ ปรมาจารย์ฮั่วหยวนเจี่ย

“สมาคมจิงอู่” เป็นสมาคมกังฟูก่อตั้งขึ้นเดือนมิถุนายนปี พ.ศ.2452 ที่เซี่ยงไฮ้โดยอาจารย์ฮั่วหยวนเจี่ย สมาคมจิงอู่ตั้งขึ้น เพื่อสุขภาพจุดมุ่งหมายก็เพื่อฝึกฝนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ มีสุขภาพที่ดีและมีฝีมือดีด้านการต่อสู้ “สมาคมจิงอู่” ได้รับความสนใจจากผู้คนสมัครเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก

ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนธรรมเนียมจีนที่จะไม่ถ่ายทอดภูมิปัญญาของตระกูลซึ่งเสมือนสมบัติล้ำค่าให้แก่บุคคลภายนอกเด็ดขาด ปัจจุบันสมาคมจิงอู่ได้แตกสาขากระจายไปยังหลายประเทศทั่วโลก สมาคมจิงอู่มีอย่างน้อย 56 สาขาหรือมากกว่า 22 ประเทศ ซึ่ง เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “สมาคมนักกีฬา” หรือ “สมาพันธ์กีฬา” จิงอู่สะกดชื่อด้วยวิธีอื่นๆ อีกมากมายทั่วโลก ได้แก่ Ching Mo, Chin Woo, Ching Mou, Ching Wu, Jing Mo, Jing Wo, Jing Wu – แต่ทั้งหมดเหล่านี้มีพื้นฐานอยู่บนตัวอักษรจีนสองตัว – jing wu (จีน: 精武)

สมาคมจิงอู่นอกจากเน้นในด้านของฝึกวิทยายุทธเพื่อสุขภาพแล้ว ยังชูคำขวัญ “รักชาติ เสริมพลานามัย ยึดมั่นจริยธรรม ช่วยเหลือสังคม” ซึ่งในโอกาสครบรอบ 10 ปีของสมาคม ดร.ซุน ยัดเซ็น บิดาแห่งประเทศจีนสมัยใหม่ ได้มาเยื่ยมถึงที่และได้เขียนคำขวัญคำว่า “จิตวิญญาณแห่งผู้กล้า” ด้วยลายมือของตัวเอง

ฮั่วหยวนเจี่ย มีความเชื่อว่าร่างกายที่แข็งแรงสุขภาพดีเยี่ยม คือรากฐานสำคัญขั้นต้นอันนำไปสู่การสร้างคนที่มีคุณภาพให้แก่สังคมจีน เป้าหมายควบคู่กันอีกประการก็คือ เป็นการสร้างคนเพื่อตระเตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ส่อแนวโน้มว่าใกล้จะเกิดขึ้น ทั้งรับมือการรุกรานต่างชาติและเป็นส่วนหนึ่งในโค่นล้ม อำนาจของราชวงศ์ชิง (สมาคมที่ฮั่วหยวนเจี่ยก่อตั้ง ได้รับเงินทุนอุดหนุนส่วนหนึ่งจาก ดร.ซุนยัตเซน) โดยมีเป้าหมายฝึกคนหนึ่งล้านคนภายในระยะเวลา 10 ปี โครงการดังกล่าว มีครูมวยชื่อดังหลากหลายสำนักเข้าร่วมด้วยความเต็มใจ เนื่องจากชื่อเสียงบารมีในฐานะวีรบุรุษ ประจำชาติของฮั่วหยวนเจี่ย

ปลายปี พ.ศ.2545

ผมเดินทางไปเยี่ยมสมาคมจิงอู่ ประเทศสิงคโปร์ ผมมีโอกาสฝึกมวยเหมยฮัวหรือ Hung Gar Mui Fa Kuen (มวยสกุลหง) จากอาจารย์ Yap Giok Leong (Harold Yap) ซึ่งเป็นอาจารย์สอนกังฟูของสมาคมจิงอู่ ประเทศสิงคโปร์ อาจารย์ Yap Giok Leong ฝึกฮุงกากังฟูและอีกหลายๆ มวยรวมถึงอาวุธจากอาจารย์หลายๆ ท่าน อาจารย์ Lam Wing Kit เป็นหนึ่งในอาจารย์ที่สอนกังฟูให้อาจารย์ Yap Giok Leong ด้วย

อาจารย์ Lam Wing Kit จากสมาคมจิงอู่ฮ่องกง ฝึกกังฟูตั้งแต่เด็ก ท่านเริ่มฝึกมวยฮุงกาจากอาจารย์Han Kai (Han Kai เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ “หลินซีหลง” หรือหลัมไซหวิง (ค.ศ.1861-1943) ฉายา “พ่อค้าหมู” ศิษย์มวยฮุงกาหรือหมัดสกุลหงจากปรมาจารย์หวงเฟยหง)

ในปี พ.ศ.2545

ตอนผมไปร่วมงานครบรอบ 80 ปี สมาคมจิงอู่ฮ่องกง ครั้งนั้นผมตีหุ่นไม้ที่สมาคมจิงอู่ฮ่องกงแสดงให้อาจารย์ Lam Wing Kit ดู ท่านได้กรุณาแนะนำมวยหวิงชุนเพิ่มเติมให้ และมอบหนังสือท่ารำมวยหยิปหมั่นหวิงชุนให้ผมเป็นที่ระลึกในการเจอครั้งนั้นด้วย หลังจากนั้นผมได้พบอาจารย์ Lam Wing Kit อีกหลายครั้ง ผมพบท่านในปี พ.ศ.2547 อาจารย์ Lam Wing Kit เคยมาเยือนที่หาดใหญ่ และพบทุกครั้งที่ผมไปร่วมงานฉลองครบรอบ 85 ปีของสมาคมจิงอู่สิงคโปร์ในปี พ.ศ.2549, งานครบรอบ 90 ปี ของสมาคมจิงอู่สิงคโปร์ในปี พ.ศ.2554 และพบกันล่าสุดงานครบรอบ 90 ปี ของสมาคมจิงอู่สิงคโปร์ในปี พ.ศ.2559

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 เป็นต้นมา

ตัวผมเองได้มีโอกาสเดินทางไปยังสมาคมจิงอู่สิงคโปร์อยู่อย่างต่อเนื่อง ผมมีโอกาสได้ฝึกจุ่ยเฉวียนหรือหมัดเมา “มวยจีนเหนือ” มาจากอาจารย์ Leow De Nan อาจารย์ที่เป็นหนึ่งในผู้ฝึกสอนกังฟูในสมาคมจิงอู่ ประเทศสิงคโปร์ (Singapore Chin Woo Assocation) อาจารย์ Leow De Nan เล่าว่าท่านได้รับการถ่ายทอดมวยต่างๆ รวมถึงมวยหมัดเมาจากปรมาจารย์ Wei Yuan Feng

ส่วนอาจารย์ Jack Tan อาจารย์ที่สอนมวยตั๊กแตนเจ็ดดาวให้ผม ท่านกรุณาถ่ายทอดให้ไว้ ในครั้งที่ผมไปเยือนสมาคมจิงอู่ประเทศสิงคโปร์เป็นครั้งแรกในปี พศ.2545 เช่นกัน ปัจจุบันท่านเป็นหนึ่งในผู้ฝึกสอนกังฟูในสมาคมจิงอู่ประเทศสิงคโปร์ ท่านเล่าว่าได้เรียนมวยตั๊กแตนเจ็ดดาว จากอาจารย์ Wei Feng Mun ซึ่งเป็นลูกชายของปรมาจารย์ Wei Yuan Feng และได้รับการแนะนำเพิ่มเติมจากอาจารย์ Chia Shen Ren

ปรมาจารย์ Wei Yuan Feng เกิดเมื่อปี พ.ศ.2449 ที่เมือง Jing ในช่วงวัยเด็กของ Mr.Wei Yuan Feng ได้เรียนมวยจีนจากอาจารย์ Ye Fen Ting ซึ่งเป็นปู่และอาจารย์ Ye Feng Chi ซึ่งเป็นพี่ชายของปู่ อาจารย์ทั้งสองท่านนี้ถือได้ว่าเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงของสมาคมจิงอู่เซี่ยงไฮ้เช่นกัน

ซึ่งในช่วงเวลานั้นสมาคมจิงอู่เซี่ยงไฮ้ ได้เลือกสุดยอดอาจารย์เพื่อส่งไปทั่วประเทศจีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เผยแพร่ศิลปะการต่อสู้จีน อาจารย์ Wei Yuan Feng เป็นหนึ่งในอาจารย์ที่ได้รับการคัดเลือกในปี พ.ศ.2467 อาจารย์Wei Yuan Feng จึงเดินทางไปประเทศมาเลเซียเพื่อเผยแพร่ศิลปะการต่อสู้จีนด้วยวัยเพียง 18 ปี

อาจารย์ Wei Yuan Feng ได้สอนใน Kampar, Ipoh, Taiping และ Malacca พร้อมกับลุงของเขาคืออาจารย์ Ye Shu Tian และ อาจารย์ Ye Shu Xiang แต่อาจารย์Wei Yuan Feng รู้สึกว่าตัวเองประสบการณ์ทั้งด้านการแข่งขันด้านการฝึกสอนและไม่มากพอเมื่อเทียบกับลุงทั้งสองของท่าน ดังนั้นอาจารย์ Wei Yuan Feng จึงตัดสินใจที่จะฝึกฝนกับลุงทั้งสองของท่านเพิ่มเติม ทำให้อาจารย์ Wei Yuan Feng ทั้งสอนกังฟูไปด้วยและฝึกฝนเพิ่มเติมจากลุงทั้งสองไปด้วย หลายปีหลังจากนั้นทักษะกังฟูของอาจารย์ Wei Yuan Feng ก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ปี พ.ศ.2477

อาจารย์ Wei Yuan Feng ได้เดินทางกลับประเทศจีนและเมื่อกลับมายัง Ipoh ประเทศมาเลเซียอีก ครั้งนี้อาจารย์ Wei Yuan Feng ได้พบกับนายพล General Zhang Zi Jiang ท่านเป็นหัวหน้าคณะทูตสิงคโปร์ซึ่งเป็นผู้เชิญชวนและสนับสนุนให้คนฝึกศิลปะการต่อสู้กังฟูจีน กลุ่มผู้ฝึกศิลปะการต่อสู้ของสิงคโปร์ได้เชิญอาจารย์ Wei Yuan Feng มาร่วมแสดงกับพวกเขา เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของนายพล General Zhang Zi Jiang อาจารย์ Wei Yuan Feng ได้รับการยกย่องอย่างมาก ด้วยทักษะกังฟูที่น่าทึ่งของท่าน ทางสิงคโปร์จึงขอให้ท่านเข้ารับตำแหน่งในสมาคมจิงอู่สิงคโปร์ด้วยอาจารย์ Wei Yuan Feng ท่านยังได้ก่อตั้ง Nanyang Chinese Association, Zhonghua School และองค์กรอื่นๆ อีกมากมาย

อาจารย์ Wei Yuan Feng มีอิทธิพลอย่างมากต่อศิลปะการต่อสู้จีนในสิงคโปร์และมาเลเซีย ท่านได้รับการยกย่องจากผู้คนมากมายสำหรับความสำเร็จอันยิ่งใหญ่และชื่นชมในจิตวิญญาณของท่านในการส่งเสริมศิลปะการต่อสู้ของจีนเฉกเช่นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ท่านอื่นๆ จากสมาคมจิงอู่

การที่ปรมาจารย์ Wei Yuan Feng เป็นผู้ถ่ายทอดกังฟูให้เหล่าอาจารย์ของสมาคมจิงอู่สิงคโปร์ทุกคน ทำให้รู้สึกผมภูมิใจ และโชคดีอย่างมากที่ได้รับการถ่ายทอดมวยฉิซิงทั่งหลางฉวน (七星螳螂拳; qī xīng tángláng quán) หรือมวยตั๊กแตนเจ็ดดาวมาจากอาจารย์ Jack Tan และผมยังได้รับการถ่ายทอดชุดมวย จุ่ยเฉวียน, เน่ยกง, ซื่อต้าจั้น, เพลงกระบี่ปิงชุงเจี้ยนและเพลงดาบตี่ตั่ง ซวงต้าวจากอาจารย์ Liew De Nan อีกด้วย

มวยจีน กังฟู หรือศิลปะการต่อสู้ของชาวจีน

ศิลปะการต่อสู้ของชาวจีนหรือมวยจีน คือคำว่า วูซู (เรียกตามภาษาสากล) ปกติชาวไทยจะคุ้นกับคำว่า กังฟู ซึ่งแปลตามความหมายว่า ฝีมือ เป็นภาษาพื้นเมืองของชาวจีนตอนใต้ที่เรียกขานผู้ฝึกสอนมวยจีน แต่คำว่า วูซู จะเป็นภาษาอย่างเป็นทางการแปลตรงตัวว่า วิทยายุทธ (MARTIAL ARTS) ดังนั้นวูซู จึงหมายถึง วิทยายุทธจีนที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน

ตามตำนานจีนโบราณ ศิลปะการต่อสู้และกังฟูเส้าหลินมีต้นกำเนิดจากการที่หลวงจีนใช้วิชากังฟู ฝึกฝนร่างกายและออกกำลังกาย เพื่อเป็นการขจัดความเมื่อยล้าจากการนั่งสมาธิวิปัสสนากรรมฐานเป็นเวลานาน ต่อมาได้มีการพัฒนา จนกลายเป็นรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวัดเส้าหลิน ชาวจีนเชื่อกันว่าผู้ที่คิดค้นสุดยอดวิชากังฟูคือตั๊กม้อ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตามบันทึกบน “ถังไท่จงชื่อเส้าหลินซื่อจู่เจี้ยวเปย” แท่นหินสลักคำสอนหลักของวัดเส้าหลินระบุว่า หลวงจีน 13 รูป ได้เข้าช่วยเหลือจักรพรรดิถังไท่จง หรือหลี่ซื่อหมินแห่งราชวงศ์ถัง ในระหว่างปี พ.ศ.1161-พ.ศ.1450 ฝ่าวงล้อมในระหว่างการสู้รบกับทหารของราชวงศ์สุยตอนปลายจนได้รับชัยชนะ

ต่อมาถังไท่จงได้ทรงแต่งตั้งให้เฟิงถันจง หนึ่งในหลวงจีนที่ร่วมในการสู้รบให้ดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพ พร้อมกับพระราชทานแท่นปักธงคู่และสิงโตหินซึ่งตั้งอยู่บริเวณอารามหน้าวัดเส้าหลินจนกระทั่งถึงปัจจุบัน รวมทั้งได้ทรงอนุญาตให้หลวงจีนเข้าร่วมฝึกซ้อมแบบทหารร่วมกับกองกำลังทหารในราชสำนัก รวมทั้งให้หลวงจีนสามารถฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและสามารถฉันเนื้อสัตว์ได้ จากการสนับสนุนในด้านต่างๆ จากทางราชสำนัก ทำให้วัดเส้าหลินได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศในสมัยซ่งหรือซ้อง

ในปี พ.ศ.1503 – พ.ศ.1822

วิชากังฟูเส้าหลินได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงขีดสุด จนถึงสมัยราชวงศ์ชิงในปี พ.ศ.2159-พ.ศ.2454 และในปี พ.ศ.2270 หลังการขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิหย่งเจิ้งแห่งราชวงศ์ชิงได้ประมาณ 5 ปี จากเหตุผลทางด้านการเมือง ราชสำนักได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการลดบทบาทของวัดเส้าหลินลง แม้ว่าหลวงจีนจะถูกห้ามไม่ให้ฝึกกังฟู แต่ยังคงมีการลักลอบแอบฝึกกังฟูกันอย่างลับๆ ทั้งในบริเวณวัดและตามสถานที่ต่างๆ ทำให้วิชากังฟูเส้าหลินไม่สูญหายไปตามกาลเวลาและได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อประเทศจีนทำการเปิดประเทศ รัฐบาลจึงมีนโยบายเริ่มฟื้นฟูการฝึกวิทยายุทธจีนขึ้น ส่งเสริมให้คนจีนและชาวต่างชาติเดินทางมาเพื่อศึกษาวิทยายุทธกังฟูที่วัดเส้าหลินซึ่งเป็นสถานที่ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในประเทศจีนและในต่างประเทศ วัดเส้าหลินได้รับการกล่าวขานในเรื่องของกระบวนท่าวิทยายุทธ เพลงหมัดมวย พลังลมปราณและกังฟูเส้าหลินเป็นอย่างมาก ถือเป็นแหล่งวิชาการต่อสู้ และศิลปะการป้องกันตัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีน หนังกังฟูของจีนได้เข้าสู่ตลาดทั่วโลก และได้แสดงให้เห็นถึงเสน่ห์ของกังฟูจีน จนได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกตลอดมา

กังฟู (Kung Fu) คือ?

คำว่ากังฟูในภาษาอังกฤษเรียกว่า Kung Fu หรือ Martial Arts ซึ่งในภาษาจีนก็หมายถึงวิทยายุทธที่มีความเป็นมาอันยาวนานถึงพันกว่าปี และวิธีออกกำลังกายประเภทต่างๆ ที่สามารถทำให้สุขภาพแข็งแรง ซึ่งได้รวมเพลงมวย และการใช้อุปกรณ์กังฟูพื้นฐานต่างๆ ตามสถิติจากผู้เชี่ยวชาญ เพลงมวยจีนมีกว่าร้อยชนิด และมีอุปกรณ์การเล่นกังฟูที่มีลักษณะเป็นทรงยาว 9 ชนิดและทรงสั้นอีก 9 ชนิด ซึ่งก็คือ “อุปกรณ์ 18 อย่าง” ที่คนจีนพูดถึงบ่อยๆ ซึ่งรวมถึงมีด ปืน ดาบ และไม้เป็นต้นทั้งหมด 18 ชนิดด้วยกัน เพลงมวยและอุปกรณ์แต่ละชนิดในกังฟูจีนต่างก็มีวิธีและลีลาท่าทางการเล่นที่แตกต่างกัน โดยมีทฤษฎีและเทคนิคการเล่นที่ลึกซึ้งมากและมีประวัติยาวนาน

กังฟูจีนมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างไปจากกีฬาธรรมดาๆ ทั่วไป นักกีฬาที่เล่นกีฬาเหล่านี้เมื่ออายุถึงวัย30เศษก็ต้องลาจากเวทีกีฬาเนื่องจากสุขภาพร่างกายสู้ไม่ไหว ยิ่งหลังจากย่างเข้าสู่วัยกลางคนเข้าไปด้วยแล้วส่วนมากมักจะได้รับผลกระทบจากการเล่นกีฬาซึ่งหักโหมเกินไปในสมัยเด็กหรือเยาวชน จนทำให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บโดยไม่รู้สึกตัว แต่สำหรับกังฟูจีนเป็นกังฟูภายในและกังฟูภายนอก ดังคำที่มักพูดกันว่า “ภายนอกจะช่วยฝึกร่างกายและผิวพรรณส่วนภายในจะฝึกจิตใจและพลังงานให้แจ่มใสแข็งแรงยิ่งขึ้น” นอกจากสามารถฝึกสุขภาพให้แข็งแรง สมองว่องไวแล้ว ยังสามารถบำรุงสุขภาพ ทำให้อายุยืน เสริมให้ปอดและอวัยวะต่างๆ แข็งแรงขึ้น ทำให้หลอดลมใหญ่และเส้นเลือดไหลเวียนคล่องขึ้นด้วย

ขณะเดียวกัน กังฟูจีนยังเต็มเปี่ยมไปด้วยสีสันทางวัฒนธรรมของชนชาติจีน จิตใจและอุปนิสัยของชนชาติจีนอย่างลึกซึ้ง ประกอบด้วยรูปแบบหลากหลายชนิดและยังพร้อมการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเพื่อให้เกิดเป็นศิลปะที่สมบูรณ์ ในสายตาของชาวต่างประเทศ กังฟูจีนเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมโบราณของจีนชนิดหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยความน่าพิศวงแต่ก็โรแมนติกด้วย

บางคนอาจจะคิดในใจว่ากังฟูแสดงให้เห็นว่าจีนเป็นชนชาติที่ชอบใช้กำลัง อะไรนิดอะไรหน่อยก็ใช้มือใช้เท้าเป็นเครื่องแก้ปัญหาจริงๆ แล้วกังฟูจีนเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนและความมีสัมมาคารวะของคนจีนมากกว่ากังฟูจีนส่วนใหญ่จะฝึกกันภายในวัดที่ตั้งอยู่ในหุบเขาลึก โดยผู้ฝึกจะต้องฝึกความอดทนต่อความยากลำบากและขัดเกลาอารมณ์ของตนเสียก่อน ต่อเมื่อผู้ฝึกสามารถคงความสงบเยือกเย็นจากจิตใจจนสามารถถ่ายทอดไปสู่การเคลื่อนไหวร่างกายได้แล้ว จุดประสงค์ของการฝึกกังฟูก็เพื่อป้องกันตัว ไม่ใช่จู่โจมหรือทำร้ายผู้อื่น ฝึกเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง จิตใจสะอาดบริสุทธิ์ ไม่ใช่เพื่อนำวิชากังฟูไปกดขี่ขมเหงผู้อื่น เป็นการดับความเหิมเกริมในตน หาใช่เอาความเหิมเกริมของตนไปใช้กับคนอื่นอย่างที่เข้าใจกันไม่ การพัฒนากังฟูจีนก่อให้เกิดจิตวิญญาณของจอมยุทธผู้ทรงคุณธรรมในหมู่คนจีน

วูซู (wushu) คืออะไร?

วูซูแบบดั้งเดิม (เรียกกันทั่วไปว่ากังฟู) เป็นรากเหง้าของกีฬาวูซูและมีประวัติอันยาวนานและหลากหลาย เนื่องจากวูซูมีถิ่นกำเนิด ในประเทศจีนการฝึกวูซูแบบดั้งเดิมได้พัฒนา และแพร่กระจายไปทั่วภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์ของประเทศและดูดซับลักษณะทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์และปรัชญาที่แตกต่างกันของกลุ่มต่างๆ ในประเทศจีน วิชามวยจีนที่พัฒนาจากการต่อสู้ของสัตว์ต่างๆ เช่นงู กระเรียน เสือ ฯลฯ ถือเป็นมวยจีนแบบดั้งเดิม

วูซู เป็นศิลปะแห่งวิทยายุทธ ท่าต่อสู้เป็นส่วนประกอบหลัก และมีรูปแบบยุทธลีลาเป็นแม่แบบในการต่อสู้ป้องกันตัว โดยมีหลักสูตรแห่งสมาธิในการกำหนดพลังยุทธทั้งภายในและภายนอก

วูซู มีหลายประเภท จำแนกเป็นศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่า และศิลปะการต่อสู้ด้วยอาวุธโบราณชนิดต่างๆ เช่น มวยชนิดต่างๆ ของสำนักเส้าหลินและศิลปะการใช้เท้าหรือท่าทุ่ม ท่าคว้าจับชนิดต่างๆ รวมทั้งวิชาหมัดไท่เก๊กด้วย ในอดีต วูซู ก่อกำเนิดจากหลายสำนักและมีความเป็นมาจากหลายสาย หลายพันธุ์ แต่พอสรุปเป็นหลักใหญ่ๆก็คือวูซูของจีนทางภาคเหนือและวูซูของจีนทางภาคใต้ (คือแถบลุ่มน้ำแยงซีเกียง ลงมา)

กีฬาวูซู เป็นศิลปะการต่อสู้ของชาวจีน และเป็นศิลปะทางวัฒนธรรมที่มีความยาวนานและมีบทบาทสำคัญ ในทุกยุคสมัยที่มีการรบทัพจับศึกของประเทศจีน แต่โบราณกาล คำว่า วูซู แปลตรงตัวว่า วิทยายุทธ แต่ชาวจีนโพ้นทะเลที่นำวิชาวูซูไปเผยแพร่ในนามเรียกขานตามภาษาพื้นเมืองว่า กังฟู ประกอบกับประเทศจีนในยุคนั้นเป็นยุคปิดประเทศ ผู้คนทั่วไปจึงรู้จักวิชาวูซูภายใต้ชื่อเรียกขานว่า กังฟู ต่อมาเมื่อจีนเปิดประเทศ และได้ให้การพัฒนาวิชาวูซูเป็นกีฬา จึงได้ให้การเรียกขานให้ถูกต้องว่า วูซู (WUSHU) นอกจากนี้ วิชาวูซูยังเป็นวิชาต้นแบบของวิชาต่อสู้ป้องกันตัวที่มีชื่อในหลายวิชาของ ทวีปเอเชียอีกด้วย

วูซู ได้ก่อตั้งเป็นองค์กรระดับชาติเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2452 ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ชื่อว่าสมาคมจิงอู่นั่นเอง และเกิดสำนักต่างๆ ขึ้นจนทางการเห็นความสำคัญ จึงตั้งศูนย์กำลังวิทยายุทธจีนขึ้น จนพัฒนาเป็นกีฬาวูซูถึงปัจจุบันประเทศไทยได้รับอิทธิพลวิชาวูซู นับตั้งแต่ชาวจีนอพยพเข้าสู่ประเทศไทยแต่ครั้งโบราณ และมีการฝึกสอนและถ่ายทอดกันเฉพาะแก่ลูกหลานชาวจีน จึงไม่เป็นที่แพร่หลาย แม้แต่ปัจจุบัน ชาวไทยจะรู้จักวิชาวูซูแต่เพียงการรำมวยจีนเพื่อสุขภาพเท่านั้น เนื้อหาสาระในทางลึกนั้น ยังคงเป็นปริศนาอยู่ แต่ปัจจุบันนี้ เมื่อวิชาวูซูได้รับการพัฒนาเข้าสู่ระบบกีฬาแล้ว วิชาวูซูในทางลึกก็ค่อยกระจ่างขึ้น

ประวัติกีฬาวูซูในประเทศไทย

วูซูหรือมวยจีน เป็นศิลปะวัฒนธรรมของชาวจีนแต่โบราณกาล การกำเนิดวิชาวูซูในประเทศไทย มีขึ้นนับแต่ชาวจีนได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทย เมื่อครั้งโบราณกาล ในลักษณะแตกต่างกัน ออกไป เช่น การแสดงวูซูไปพร้อมกับการเร่ขายยา มีการจัดตั้งเป็นค่าย เป็นสำนักมวยจีนขึ้น หรือรับสอนเป็นการส่วนตัว ในขณะที่ยังมีชาวจีนอีกพวกหนึ่งที่มีความรู้ทางวิชาวูซูแต่กลับหันมาเปิดสถาน พยาบาล เช่น พวกหมอ ซินแสยาจีน นวดจับเส้น รักษาเคล็ดขัดยอก หรือต่อกระดูก เป็นต้น

ผู้รู้ศิลปะมวยจีนในช่วงที่อพยพเข้ามายังเมืองไทยนั้น บ้างก็เกะกะเกเร บ้างก็ทำตัวเป็นนักเลงหัวไม้ แม้แต่ผู้ที่ เป็นเจ้าสำนักเอง ทำให้ชาวจีนในสมัยนั้นค่อนข้างเอือมระอาต่อพฤติกรรมของผู้คนเหล่านั้น ต่อมายุคสมัยได้เปลี่ยนไป ลูกหลานของชาวจีนประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจและมีฐานะทางการเงินดี ได้หันมาให้ความสำคัญกับวิชาวูซูประเภทไท่เก๊ก เพราะเพียงเป็นการร่ายรำเพื่อการออกกำลังกาย

การสอนจะใช้รูปแบบดั้งเดิมของวูซูที่เป็นต้นตำรับ และนำมาปรับเพื่อให้เหมาะสมกับคนไทย เพราะการฝึกแบบต้นตำรับ ผู้เรียนต้องมีความอดทนสูง ท่าที่สอนมีให้เลือกหลายรูปแบบ เช่น มือเปล่า มวยเหนือ มวยใต้ มวยเส้าหลิน และมีอาวุธประกอบ เช่น กระบี่ ดาบ พลอง ทวน ง้าว พัด เป็นต้น

ก่อนเป็นสมาคมวูซูในไทย

ได้มีการจัดตั้งสถาบันวูซู-กังฟูขึ้น เป็นแห่งแรกของเมืองไทย เมื่อปี พ.ศ.2521 โดยอาจารย์วรนาถ (บลู) ดิษยบุตร เพื่อให้การเผยแพร่วิชาวูซู (ซึ่งยังต้องใช้ชื่อเรียกว่ากังฟู) และเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งเป็นสมาคมกีฬาวูซูในปี พ.ศ.2529 จนเมื่อปี พ.ศ.2532 สมาคมกีฬาวูซูแห่งประเทศไทย ได้ถือกำเนิดขึ้นและได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมทำการ แข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 16 ณ กรุงมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ (ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของกีฬาวูซูที่ได้รับการ บรรจุเป็นชนิดกีฬา) ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์)

และในเวลาต่อมา โดยการสนับสนุนของการกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาวูซู ก็ได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นสมาคมสหพันธ์วูซูแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ.2534 โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ เพื่อให้การส่งเสริมพัฒนากีฬาวูซูภายในประเทศให้มีระดับมาตรฐาน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริการด้านวิทยาการวูซูแก่สมาชิกสโมสร เพื่อการพัฒนาสุขภาพพลานามัยแก่บุคคลทั่วไป ทั้งยังเป็นองค์กรบริหารกิจการกีฬาวูซูภายในประเทศ และเป็นผู้แทนประเทศไทยในการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาวูซู ในระดับซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์อีกด้วย

สมาคมวูซูประเทศไทยได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 19 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งผลการแข่งขันปรากฏว่า ได้ 1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดง จากการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันเพียง 6 คนเท่านั้น ส่งผลให้สมาคมวูซูแห่งประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนให้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันในกีฬาเอเชี่ยนเกมส ครั้งที่ 14 ณ เมืองปูซาน ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี โดยได้รับการอนุมัติให้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 5 คน ซึ่งผลการแข่งขันปรากฏว่า ได้ 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงินและ 1 เหรียญทองแดง (ข้อมูลจากการกีฬาแห่งประเทศไทย)

ในปี พ.ศ.2534 สมัยที่ผมฝึกไท่เก๊กและกังฟูกับอาจารย์โควจุนฮุย (อาจารย์โค้ว) ท่านเคยเล่าว่าก่อนหน้านี้ท่านได้รับเชิญไปเป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินวูซูด้วย ครั้งแรกทางสมาคมวูซูจัดแข่งขันขึ้นที่สวนลุมพินีติดกับสวนโฮ้วป่า ฉายาอาจารย์โค้วเป็นที่รู้จักกันในนามท่านโควเปี๊ยฮะสายไท่จี๋ (ต่อสู้)

ในปี พ.ศ.2547 ผมเข้าร่วมอบรมสัมมนาผู้ตัดสินกีฬาวูซูที่สมาคมวูซูประเทศไทยจัดขึ้น ในการอบรมผมได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประเภทกีฬาวูซู เรียนรู้ท่าฝึกพื้นฐาน กติกา การให้คะแนนและประเภทมวยต่างๆ ของวูซู เป็นต้น

ต่อมาในปี พ.ศ.2549 ผมเข้าร่วมอบรมสัมมนาเชิงปฎิบัติการผู้ตัดสินกีฬาวูซูในระดับต่อเนื่องขึ้นไป จากนั้นผมได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการ ร่วมตัดสินกีฬาวูซูของสมาคมวูซูแห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรกในงานกีฬาเยาวชนแห่งชาติ (รอบคัดเลือก) ที่จัดขึ้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์การเข้าร่วมอบรมจากสมาคมวูซูทำให้ผมแยกได้ว่าก่อนหน้านี้ผมฝึกกังฟูทั้งจากอาจารย์น้อย อาจารย์โจ อาจารย์โค้ว และจากอาจารย์ทุกคนที่สมาคมจิงอู่สิงคโปร์และสมาคมจิงอู่ฮ่องกง ล้วนเป็นแบบวูซูหรือกังฟูดั้งเดิมนั่นเอง

ติดต่อเรา

บทความและข่าวสารอื่นๆ

Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หลานไฉ่เหอ (藍采和; แต้จิ๋ว: น่าไชหัว, ฮกเกี้ยน: หน่าไฉฮัม) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนผู้เ...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หานเซียงจื่อ (韓湘子; ฮกเกี้ยน: ฮั้นเจียวจู้) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนแห่งลัทธิเต๋า ผู้ม...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หลี่เถียไกว่ (李鐵拐; กวางตุ้ง: เหล่ยทิดกวาย, แต้จิ๋ว: ลี้ทิก๋วย, ฮกเกี้ยน: ลี่ทิกุย) หรือที่รู้จักในชื...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
เหอเซียนกู (何仙姑; แต้จิ๋ว: ฮ่อเซียนโกว, ฮกเกี้ยน: เฮอเซียนก๊อ) หรือที่รู้จักในชื่อ “นางฟ้าเหอ&#...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
ลฺหวี่ ต้งปิน (呂洞賓; แต้จิ๋ว: ลือท่งปิน, ฮกเกี้ยน: ลีตงปิ่น) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนใ...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
จงหลีเฉฺวียน (鐘离權; กวางตุ้ง: จงสิดขือ, ฮกเกี้ยน: เจี๋ยงตีควน) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซีย...