ผมมีอาการปวดหลังเรื้อรังที่เกิดอุบัติเหตุขี่มอเตอร์ไซค์ล้มหลังฟาดพื้นเมื่อปี พ.ศ.2532 ผมรู้สึกปวดเกือบตลอดเวลาทั้งตอนนอน นั่งหรือเดิน ซึ่งหมอบอกกับผมว่าเป็นอาการปวดจากกล้ามเนื้อหลังอักเสบแต่ผ่านมาหลายปีก็ไม่มีทีท่าว่าอาการปวดจะบรรเทาลง นับวันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น
หัวข้อ
การใช้ชีวิตประจำวันของผมที่ผ่านมาดูเหมือนยังเล่นมวยได้ปกติ แต่ในความเป็นจริงผมต้องโดนฉีดยาแก้ปวดเป็นระยะๆ ทานยาแก้ปวดเช้าเย็นเพื่อคุมอาการปวดเรื้อรังนี้ไว้จนเมื่อผมกลับไปเยี่ยมแม่ที่อำเภอหาดใหญ่เมื่อปลายปี พ.ศ.2537 ผมได้ไปหาหมอที่มีความเชี่ยวชาญด้านกระดูก หมอตรวจและวินิจฉัยว่าผมเป็นโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท หมอบอกว่าอาการปวดหลังเกิดจากหมอนรองกระดูกหลังที่เคลื่อนออกมา จากอุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้เกิดอาการแบบฉับพลัน ต่อมาอาการที่ปวดหลัง และบริเวณเอวส่วนล่างมีการอักเสบที่รุนแรงมากขึ้นต้องรับการรักษาโดยการผ่าตัด ผมไม่อยากผ่าตัดเพราะกลัวว่าผ่าตัดแล้วก็ไม่แน่ว่าจะดีขึ้นหรือเปล่า ผมจึงทนเจ็บต่อไป ตอนนั้นผมอายุเพียง 24 ปี
ต้นปี พ.ศ.2540 ผมกลับมาเยี่ยมแม่ที่อำเภอหาดใหญ่อีกครั้ง แม่บอกว่ามีคนแนะนำครูหมอรักษานวดเส้นแบบแผนไทยโบราณให้ไปลองรักษาดูมั้ย ในใจผมไม่มีความเชื่อกับการรักษาแนวนี้สักเท่าไหร่ แต่ก็คิดว่าลองดูสักครั้งก็คงไม่เสียหายอะไร ผมประหลาดใจไม่น้อยเมื่อเจอกับยายเฉี้ยว เพ็ชรรัตน์ อายุราว 85 ปีรูปร่างเล็กผอมบาง น้ำหนักไม่น่าจะเกิน 35 กิโลกรัม ยายเฉี้ยวใช้วิชาการนวดรักษาให้ผมพร้อมทั้งจัดยาสมุนไพรไทยให้ผมมาทาน ครั้งแรกที่โดนนวดทั้งตัวนั้น ผมไม่มีความรู้สึกเจ็บแต่อย่างใด เมื่อกลับมาบ้านแล้วทานยาที่ยายเฉี้ยวให้มา คืนนั้นผมรู้สึกปวดจุกมวนแน่นที่ท้อง ปวดตามร่างกายโดยเฉพาะบริเวณเอวและกระดูกด้านหลัง เสียงสำเนียงภาษาใต้ยายเฉี้ยวลอยมาว่า “กินยาแล้วมันจะกระทุ้งเส้นจุดที่เคล็ดที่ปวด อย่าตกใจ เดี๋ยวยายจะนวดแก้เส้นให้”
ผมทนปวดจนถึงเช้า เมื่อผมตื่นจึงรีบอาบน้ำเพื่อไปหายายเฉี้ยว แต่ผมสังเกตว่าเช้านี้ผมถ่ายออกมาเป็นผงสีดำ และมีกลิ่นแรงมาก หลังจากถ่ายแล้วอาการปวดผมก็ทุเลาลงอย่างน่าแปลกใจ เมื่อผมไปพบยายเฉี้ยวอีกครั้ง ผมโดนยายเฉี้ยวนวดเหมือนเดิมแต่คราวนี้ผมร้องเสียงดังด้วยความเจ็บ ยายเฉี้ยวนวดจุดไหนผมก็เจ็บไปหมด ยายเฉี้ยวหัวเราะชอบใจและบอกว่าไว้ใจนะ ยายจะรักษาให้หายเอง ครั้งนี้ผมอยู่ได้เพียงสัปดาห์เดียวก็เดินทางกลับเชียงใหม่ ผมเริ่มทานยาแก้ปวดที่หมอเคยให้มาน้อยลง ผมนำยาของยายเฉี้ยวกลับมาทานด้วย ปลายปี พ.ศ.2540 ผมจึงตัดสินใจย้ายจากเชียงใหม่กลับมาอยู่บ้านที่อำเภอหาดใหญ่เพื่อสะดวกในการรักษาร่างกายกับยายเฉี้ยวแบบต่อเนื่อง ผมกลับมาอยู่ที่บ้านกับแม่ ผมเหมือนคนใกล้พิการที่เจอทางรักษาแบบทางเลือกที่ทำให้ผมมีความหวังขึ้นมาโดยไม่ใช่การ รักษาแบบเข้าผ่าตัด ที่สะดุดด้วยประโยคที่ว่า 50:50
ผมไม่ได้อยู่หาดใหญ่หลังจากที่ไปเรียนต่อ และทำงานที่อื่นตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 จนผ่านมาถึงปี พ.ศ.2540 นับเป็นเวลา 10 ปี ตอนนี้ผมได้เวลากลับมาอยู่ที่หาดใหญ่อีกครั้ง บ้านผมอยู่ใกล้ ม.อ. (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ไม่นานนักผมขอเข้าไปร่วมฝึกซ้อมไอคิโดที่ชมรมศิลปะป้องกันตัวของ ม.อ. ตอนนั้นมีนักศึกษาที่ฝึกอยู่เพียงกลุ่มเล็กๆ โดยมีรุ่นพี่คอยนำฝึกซ้อมกันเอง ส่วนผมก็รักษาตัวกับยายเฉี้ยวไปด้วยและยังคงฝืนไปร่วมฝึกซ้อมแบบระมัดระวัง ไปแบบถือไม้เท้าเดิน พอขึ้นเบาะซ้อม ขยับร่างกายสักพักเข้าที่แล้วก็เล่นกันแบบลืมเจ็บ จนเลิกซ้อมก็คว้าไม้เท้ามาค้ำเดินเหมือนตอนขา มาใจพร้อมแต่กายยังไม่ค่อยพร้อมสักเท่าไหร่ ฝึกพอประมาณเพื่อรักษาสภาพทั้งมวยและนวดรักษาร่างกายไปพร้อมๆ กัน
จนในปี พ.ศ.2541 ผมซื้อนิตยสารเกี่ยวกับอาวุธปืนมาอ่าน และสนใจอยากเรียนเกี่ยวกับอาวุธปืนดูบ้าง มีการประชาสัมพันธ์โครงการจัดอบรมยิงปืนเบื้องต้นให้แก่บุคคลทั่วไป จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ผมจึงสมัครเข้าร่วมอบรมอย่างไม่ลังเล เพราะอยากจัดการกับคำถามที่มักพบเสมอว่าเรียนมวยแล้วเจอคนใช้ปืนจะทำยังไง
การอบรมจัดขึ้นที่ สนามยิงปืน ร.1 พัน.รอ. วิภาวดี แขวง สามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร สนามอยู่เยื้อง มหาวิทยาลัยหอการค้า โครงการจัดอบรม 2 วันและวันสุดท้ายมีการทดสอบยิง คนที่สอบผ่านตามหลักสูตรจะได้รับสิทธิบัตรด้วย ผมได้มีโอกาสคุยกับครูผู้ฝึกด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการเรียน แม้จะเดินทางมาไกล เพราะผู้อบรมส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล มีทั้งมาเดี่ยว มาเป็นคู่และมากันทั้งครอบครัว บางครอบครัวพาทั้งลูกชายและหญิงอายุยังน้อยราว 9-10 ขวบเท่านั้น
เมื่อครูผู้ฝึกทราบว่าผมฝึกมวยมาด้วย ครูฝึกถามผมว่ารู้จัก เสธ.อำนาจมั้ย ครูฝึกพูดชื่นชมถึง เสธ.อำนาจว่าเป็นรุ่นพี่ที่มีความรู้ความสามารถเรื่องมวยเป็นอย่างมาก ผมจึงตอบกลับไปว่า พันเอกอำนาจ พุกศรีสุข รึเปล่าครับ ผมไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว แต่ผมเพิ่งได้ดูสารคดีทางโทรทัศน์เมื่อไม่นานมานี้เกี่ยวกับมวยไทยโบราณ ซึ่งมีท่านให้ความรู้อยู่ในสารคดีด้วย ตอนดูผมคิดอยากเจอท่านแต่ก็ไม่รู้ว่าจะเจอกันได้ยังไง ครูฝึกจึงหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาแล้วให้ผมจดเบอร์โทรศัพท์ของ เสธ.อำนาจ ที่บันทึกไว้
ประวัติศาสตร์อันยาวนานของมวยไทยเริ่มมีและใช้กันในการสงครามในสมัยก่อน ซึ่งแตกต่างจากมวยไทยในปัจจุบันที่ใช้เป็นการกีฬา โดยมีการใช้นวมขึ้นเพื่อป้องกันการอันตรายที่เกิดขึ้น มวยไทยยังคงได้ชื่อว่าศาสตร์การโจมตีทั้งแปดซึ่งรวม สองมือ สองเท้า สองศอก และสองเข่า (บางตำราอาจเป็นนวอาวุธ ซึ่งรวมการใช้ศีรษะโจมตี หรือทศอาวุธซึ่งรวมการใช้บั้นท้ายกระแทกโจมตี)
มวยไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยที่สืบทอดกันมานาน เป็นทั้งการต่อสู้ป้องกันตัวและกีฬา ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยใด แต่ถือว่ามวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ของไทยเช่นเดียวกับกังฟูของจีน ยูโดและคาราเต้ของญี่ปุ่น และเทควันโดของเกาหลี มวยไทยสืบทอดมาจากมวยโบราณ ซึ่งแบ่งออกเป็นแต่ละสายตามท้องที่นั้นๆโดยมีสายสำคัญหลัก เช่น มวยท่าเสา (ภาคเหนือ) มวยโคราช (ภาคอีสาน) มวยไชยา (ภาคใต้) มวยลพบุรีและมวยพระนคร (ภาคกลาง) มีคำกล่าวไว้ว่า “หมัดหนักโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา ไวกว่าท่าเสา”
ในสมัยโบราณจะมี สำนักเรียน (สำนักเรียนมวย แตกต่างจาก ค่ายมวย คือ สำนักเรียนจะมีเจ้าสำนัก หรือครูมวยซึ่งมีฝีมือและชื่อเสียงเป็นที่เคารพรู้จัก มีความประสงค์ที่จะถ่ายทอดวิชาไม่ให้สูญหาย โดยมุ่งเน้นถ่ายทอดให้เฉพาะศิษย์ที่มีความเหมาะสม ส่วนค่ายมวย เป็นที่รวมของผู้ที่ชื่นชอบในการชกมวย มีจุดประสงค์ที่จะแลกเปลี่ยนวิชาความรู้เพื่อนำไปใช้ในการแข่งขันประลอง) โดยแยกเป็นสำนักหลวงและสำนักราษฎร์ บ้างก็ฝึกเรียนร่วมกับเพลงดาบ กระบี่ กระบอง พลอง ทวน ง้าวและมีดหรือการต่อสู้อื่นๆ เพื่อใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัวและใช้ในการสงคราม มีทั้งพระมหากษัตริย์และขุนนางแม่ทัพนายกองและชาวบ้านทั่วไป (ส่วนใหญ่เป็นชาย) และจะมีการแข่งขันต่อสู้ประลองกันในงานวัด และงานเทศกาลโดยมีค่ายมวยและสำนักมวยต่างๆส่งนักมวยและครูมวยเข้าแข่งขันชิงรางวัลเดิมพัน โดยยึดความเสมอภาค
บางครั้งจึงมีตำนานพระมหากษัตริย์หรือขุนนางที่เชี่ยวชาญการต่อสู้ปลอมตนเข้าร่วมแข่งขันเพื่อทดสอบฝีมือที่เป็นที่ปรากฏได้แก่ พระเจ้าเสือ (ขุนหลวงสรศักดิ์) พระเจ้าตากสินมหาราช พระยาพิชัยดาบหัก ครูดอก แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ จนเมื่อไทยเสียกรุงแก่พม่า ปรากฏชื่อนายขนมต้ม ครูมวยชาวอยุธยา ซึ่งถูกกวาดต้อนเป็นเชลยศึกได้ชกมวยกับชาวพม่า ชนะหลายครั้งเป็นที่ปรากฏถึงความเก่งกาจเหี้ยมหาญของวิชามวยไทย ในสมัยอยุธยา ตอนปลายได้มีการจัดตั้งกรมทนายเลือกและกรมตำรวจหลวงขึ้นมีหน้าที่ในการให้การคุ้มครองกษัตริย์และราชวงศ์ ได้มีการฝึกหัดวิชาการต่อสู้ทั้งมวยไทยและมวยปล้ำตามแบบอย่างแขกเปอร์เซีย (อิหร่าน)
จึงมีครูมวยไทยและนักมวยที่มีฝีมือเข้ารับราชการจำนวนมากและได้แสดงฝีมือในการต่อสู้ในราชสำนักและหน้าพระที่นั่งในงานเทศกาลต่างๆ สืบต่อกันมาเป็นประจำและเป็นที่น่าสังเกตว่า กองทัพกู้ชาติของพระเจ้าตากล้วนประกอบด้วยนักมวยและครูมวยที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นจำนวนมาก ถึงกับได้มีการจัดตั้งเป็นหน่วยรบพิเศษ 3 กอง คือ กองทนายเลือก กองพระอาจารย์ และกองแก้วจินดา ซึ่งได้ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญที่ทำให้คนไทยสิ้นความหวาดกลัวต่อทัพพม่า ในการรบที่บ้านนางแก้ว ราชบุรีจนอาจเรียกได้ว่า มวยไทยกู้ชาติ (ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/มวยไทย)
เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมวยไทย ได้แก่
- สมัยอยุธยา สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือ โปรดการชกมวยมากจนทรงปลอมพระองค์มาชกมวยกับชาวบ้าน และชนะคู่ต่อสู้ถึง 3 คน ดังที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ระบุไว้ในหนังสือ ศิลปะมวยไทยว่า พระเจ้าเสือได้ปลอมแปลงพระองค์เป็นสามัญชน มาชกมวยกับนักมวยฝีมือดีของเมืองวิเศษไชยชาญ และสามารถชกชนะนักมวยเอกถึง 3 คน ได้แก่ นายกลาง หมัดตาย นายใหญ่ หมัดเหล็ก และนายเล็ก หมัดหนัก โดยทั้ง 3 คน ได้รับความพ่ายแพ้อย่างบอบช้ำจากฝีมือการชกมวยไทยของพระองค์เมื่อพระมหากษัตริย์โปรดการชกมวยไทยเช่นนี้ ทำให้มีการฝึกมวยไทยกันอย่างแพร่หลายในราชสำนัก และขยายไปสู่บ้านและวัด โดยเฉพาะวัด ถือเป็นแหล่งประสิทธิ์ประสาทวิชามวยไทยเป็นอย่างดีเพราะขุนศึกเมื่อมีอายุมากมักบวชเป็นพระ และสอนวิชาการต่อสู้ให้แก่ลูกศิษย์ที่ดี หรือมีความกตัญญูรู้คุณ โดยเฉพาะนักมวยเด่นในยุคหลังๆ ก็เกิดจากการฝึกฝนกับพระสงฆ์ในวัดแทบทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้การฝึกมวยไทยจึงแพร่หลาย และขยายวงกว้างไปสู่สามัญชนมากยิ่งขึ้น
- นักมวยที่มีฝีมือดีมีโอกาสเข้ารับราชการให้ก้าวหน้าได้ โดยเฉพาะการเป็นทหารในส่วนราชการที่เรียกว่า ทนายเลือก ซึ่งเป็นกรมที่ดูแลนักมวย ที่มีหน้าที่พิทักษ์รักษาความปลอดภัยให้แก่พระมหากษัตริย์
- เมื่อครั้งที่นายขนมต้มถูกจับเป็นเชลย และถูกกวาดต้อนไปอยู่ที่กรุงอังวะ ประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ.2310 พม่าได้จัดให้มีการฉลองชัยชนะ ในการทำสงครามกับไทยและสุกี้พระนายกองได้คัดเลือกนายขนมต้มให้ขึ้นชกกับนักมวยพม่า นายขนมต้มสามารถชกชนะนักมวยพม่าได้ถึง 10 คน ดังที่ รังสฤษฎิ์ บุญชลอ กล่าวไว้ว่า “พม่าแพ้แก่นายขนมต้มหมดทุกคนจนถึงกับพระเจ้ากรุงอังวะตรัสชมเชยว่า คนไทยถึงแม้จะไม่มีอาวุธในมือ มีเพียงมือเปล่า 2 ข้าง ก็ยังมีพิษสงรอบตัว” แสดงให้เห็นว่านักมวยไทยมีฝีมือเป็นที่เลื่องลือ
- ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นเจ้าเมืองตาก ได้มีทหารเอกคู่ใจที่มีความสามารถด้านมวยไทยมากและอยู่ในชั้นแนวหน้าของทนายเลือก ชื่อว่า นายทองดี ฟันขาว หรือจ้อย ชาวเมืองพิชัย ซึ่งต่อมาได้เป็น พระยาพิชัยดาบหัก เจ้าเมืองพิชัย
การพัฒนามวยไทยเป็นการกีฬาต่อสู้ป้องกันตัว
หลังจากสมัยรัชกาลที่ 6 มวยไทยได้พัฒนามากขึ้นโดยมีการชกมวยแบบสวมนวมชก และนับคะแนนแพ้ชนะ มีการกำหนดยก นักมวยแต่งกายตามมุม คือ มุมแดง และมุมน้ำเงิน เช่นเดียวกับการชกมวยสากล มีค่ายมวยเกิดขึ้นหลายค่าย และมีนักมวยหลายคนที่มีชื่อเสียง คหบดีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งชื่อ เจ้าเชตุ ได้ตั้งสนามมวยในที่ดินของตนเอง เพื่อนำรายได้จากการชกมวยไปบำรุงกิจการทหาร ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 การแข่งขันชกมวยจึงหยุดไป หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง การแข่งขันชกมวยไทยได้เฟื่องฟูขึ้นอีก เพราะประชาชนสนใจ
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2488 ได้มีการจัดตั้งสนามมวยราชดำเนินขึ้น และจัดการแข่งขันชกมวยอาชีพเป็นจำนวนมาก มีนักมวยที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น สุข ปราสาทหินพิมาย, ผล พระประแดง, สมาน ดิลกวิลาศ ประสิทธิ์ ชมศรีเมฆ, เป็งสูน เทียมกำแหง, สุริยา ลูกทุ่ง การชกมวยในระยะนั้น มีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ มีการชกมวยข้ามรุ่นกันได้
วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2499 สนามมวยลุมพินีได้เปิดขึ้นอีกแห่งหนึ่ง นักมวยส่วนใหญ่จึงได้ใช้ทั้งเวทีราชดำเนิน และเวทีลุมพินีในการแข่งขันชกมวย โดยทั้งสองสนามนี้ถือว่าเป็นสนามมวยมาตรฐานของประเทศไทย มีการจัดแบ่งประเภทนักมวยเป็นรุ่นต่างๆ ตามน้ำหนักตัวที่กำหนดขึ้น เกิดกติกามวยไทยอาชีพ ฉบับ พ.ศ.2498 ซึ่งแก้ไขปรับปรุงจากฉบับ พ.ศ.2480 ของกรมพลศึกษา และในวันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ.2498 ได้มีการถ่ายทอดการชกมวยไทยจากสนามมวยราชดำเนินเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นได้มีชาวต่างชาติเดินทางมาฝึกมวยไทย และมีการจัดแข่งขันชกมวยกับนักมวยไทยอยู่เสมอๆ
ต่อมากีฬามวยไทยมีการพัฒนาจนก่อตั้งเป็นสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ซึ่งกำหนดให้การชกมวยไทยต้องมีเครื่องป้องกันอันตราย เพื่อให้นักมวยมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทำให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาแข่งขันมากขึ้นในแต่ละปี และมีการถ่ายทอดการชกมวยทางโทรทัศน์มากขึ้นด้วย ทำให้ธุรกิจมวยขยายตัวออกไปกว้างขวาง ในต่างจังหวัดมีเวทีมวยเกิดขึ้นหลายแห่ง เปิดโอกาสให้นักมวยที่มีฝีมือจากต่างจังหวัด เดินทางเข้ามาชกมวยในกรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น
การชกมวยไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่มุ่งเพื่อผลแพ้ชนะและมีผลประโยชน์ทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ศิลปะและแก่นแท้ของมวยไทย นับวันจะเลือนหายไป (ที่มา: สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)
อาจารย์ประมวล ภูมิอมร (อาจารย์โค้ว) อาจารย์ที่สอนไท่เก๊กและกังฟูให้ผมนั้น ท่านเคยเล่าว่าท่านเรียนมวยไทยกับอาจารย์ผล พระประแดง มีชื่อจริงว่า ผล พูนเสริม เป็นชาวจังหวัดลพบุรี เป็นนักมวยสากลรุ่นแรกๆ ของประเทศไทย มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้นจนได้ฉายา “อาจารย์ผล” หรือ “กระทิงเปลี่ยว”
ประวัติการเรียนมวยที่มีการเผยแพร่ของ พ.อ.อำนาจ พุกศรีสุข (ยศในขณะนั้น) เริ่มต้นเรียนมวยไทยโบราณตำรับลพบุรีกับครูสังเวียน บัวทอง ซึ่งมีศักดิ์เป็นคุณตา
- พ.ศ.2516 เรียนมวยไทยทวีสิทธิ์กับ อ.โกวิท ยงศิริ ศิษย์ครูอุทัย ผละธัญญะ (ครูอุทัยเป็นศิษย์ของ ครูกิมเส็ง ทวีสิทธิ์)
- พ.ศ.2519 เรียนมวยไทยสายยนตรกิจกับ อ.หนามเตย ยนตรกิจ (พ.อ.นรินทร์ พวงแก้ว อดีตแชมป์มวยไทย)
- พ.ศ.2520 เรียนมวยไทยเลิศฤทธิ์กับ พ.ท. ณรงค์เดช นันทโพธิเดชและศิษย์รุ่นพี่คนอื่นๆ อีกจำนวนมาก
- พ.ศ.2521 เรียนมวยไทยทวีสิทธิ์อีกครั้งกับ รศ.ดร. ชัยสวัสดิ์ เทียนวิบูลย์ (ศิษย์ครูรส ไชยจักร ซึ่งครูรสเป็นศิษย์ของครูกิมเส็ง ทวีสิทธิ์) เรียนมวยไทยสายยนตรกิจอีกครั้งกับ อ. เขียวหวาน ยนตรกิจ (พ.อ. บุญส่ง เกิดมณี) และในปีเดียวกันกันนั้นได้เรียนมวยไทยโบราณสายโคราชกับครูบัว วัดอิ่ม (ร.ท. บัว นิลอาชา) ที่บ้านซอยโซดา ถนนสุโขทัย ขณะนั้นครูบัวมีอายุ ๘๒ ปี
- พ.ศ.2523 เรียนมวยไทยกับ พ.อ.พงษ์ ภโววาท ที่บ้านถนนสุขุมวิท
- พ.ศ.2523 ถึง พ.ศ.๒๕๒๕ เรียนมวยไทยไชยา ที่บ้านครูเขตร ศรียาภัย (บ้านซอยมาลย์มงคล) ขณะนั้นครูเขตรได้ถึงแก่กรรมแล้วโดยคุณศรีธร ตันสมบัติ ลูกสาวของท่านได้เชิญลูกศิษย์อาวุโสที่มีชื่อเสียง เช่น ครูสมศักดิ์ ครูณรงค์ ครูใหญ่และครูเปี๊ยกมาช่วยถ่ายทอดวิชาความรู้ให้
- พ.ศ.2524 เป็นประธานชมรมมวยไทยเลิศฤทธิ์ โรงเรียนนายร้อย จปร.
- พ.ศ.2526 รับราชการครั้งแรกที่จังหวัดลำปาง โดยในช่วงวันหยุดได้ไปเรียนมวยไทยอุตรดิตถ์กับคุณตาขอด ที่บ้านศิลาอาสน์ จังหวัดอุตรดิตถ์
- ครู (พันเอก) อำนาจ พุกศรีสุข พ.ศ.๒๕๒๗ ย้ายไปรับราชการที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับการถ่ายทอดศิลปะเจิงจากคุณตานวล มณีธร และเริ่มเรียนศิลปะการต่อสู้ล้านนา และมวยไทยจาก
พ่อครูพัน ยาระณะ (พ่อครูมานพ ยาระณะ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง พ.ศ.๒๕๔๘) ที่บ้านหน้าค่ายกาวิละ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ - พ.ศ.2540 เรียนมวยไทยท่าเสาจากครูฉลอง เลี้ยงประเสริฐ ที่บ้านป่าขนุน อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ พันเอกอำนาจ พุกศรีสุข ท่านเป็นผู้สืบทอดและถ่ายทอดมวยไทยตำรับโคราช ผู้สืบทอดวิชาจากครูบัว วัดอิ่ม (ร.ท.บัว นิลอาชา)
มวยไทยสายโคราช มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย
- ประวัติความเป็นมาของมวยไทยสายโคราช มีประวัติความเป็นมา ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะชาวไทยมีการฝึกการต่อสู้ด้วยอาวุธสั้นประกอบกับศิลปะมวยไทย โดยมีเป้าหมายในการปกป้องประเทศชาติ อีกทั้งโคราชเป็นเมืองหน้าด่านชั้นเอก ที่ต้องทำการรบกับผู้รุกรานอยู่เสมอ จึงทำให้ชาวโคราชมีความเป็นนักสู้โดยสายเลือดมาหลายชั่วอายุคน
- เมื่อบ้านเมืองสงบ มวยไทยจึงพัฒนามาเป็นศิลปะวัฒนธรรมทางการต่อสู้ป้องกันตัวประจำชาติไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นห้วงเวลาที่มวยคาดเชือกรุ่งเรือง มีการจัดการแข่งขันมวย คาดเชือกหน้า พระที่นั่งพลับพลาทรงธรรม สวนมิสกวัน ในงานศพของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช ในวันที่ 18-21 มีนาคม ร.ศ.128
(พ.ศ.2452) โดยให้หัวเมืองทั่วประเทศ คัดเลือกนักมวยฝีมือดีเข้ามาแข่งขัน นักมวยฝีมือดีชนะคู่ต่อสู้หลายคนจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย ทรงโปรดฯ พระราชทานยศและบรรดาศักดิ์ ให้กับนักมวยจากมณฑลนครราชสีมา - เป็นขุนหมื่นครูมวย ถือศักดินา 300 คือ นายแดง ไทยประเสริฐ ลูกศิษย์ของพระเหมสมาหาร เจ้าเมืองโคราช เป็นหมื่นชงัดเชิงชก นอกนี้ยังมีนักมวยจากโคราชอีกหลายคน ที่มีฝีมือดีที่เดินทางเข้าไป ฝึกซ้อมมวยกับกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ วังเปรมประชากร
- เมื่อบ้านเมืองสงบ มวยไทยจึงพัฒนามาเป็นศิลปะวัฒนธรรมทางการต่อสู้ป้องกันตัวประจำชาติไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นห้วงเวลาที่มวยคาดเชือกรุ่งเรือง มีการจัดการแข่งขันมวย คาดเชือกหน้า พระที่นั่งพลับพลาทรงธรรม สวนมิสกวัน ในงานศพของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช ในวันที่ 18-21 มีนาคม ร.ศ.128
- เอกลักษณ์ของมวยไทยสายโคราช พบว่าสวมกางเกงขาสั้นไม่สวมเสื้อ สวมมงคลที่ศีรษะขณะชกและที่พิเศษที่แตกต่างไปจากมวยภาคอื่นๆ คือ การพันหมัดแบบคาดเชือกตั้งแต่หมัดขึ้นไปจรดข้อศอก เพราะมวยไทยสายโคราช เวลาต่อย เตะวงกว้างและใช้หมัดเหวี่ยงควาย การพันเชือกเช่นนี้ เพื่อป้องกันการเตะ ต่อยได้ดี
- กระบวนท่าของมวยไทยสายโคราชพบว่ามีการฝึกตามขั้นตอน ฝึกโดยการใช้ธรรมชาติ เมื่อเกิดความคล่องแคล่วแล้วทำพิธียกครู แล้วให้ย่างสามขุมและฝึกท่าอยู่กับที่ 5 ท่า ท่าเคลื่อนที่ 5 ท่า ท่าฝึกลูกไม้แก้ทางมวย 11 ท่า ฝึกท่าแม่ไม้สำคัญสำคัญ ประกอบด้วย ท่าแม่ไม้ครู 5 ท่า และท่าแม่ไม้สำคัญโบราณ 21 ท่า แล้วก็มีโครงมวยเป็นคติสอนนักมวยด้วยพร้อมทั้งคำแนะนำเตือนสติไม่ให้เกรงกลัวคู่ต่อสู้
- ระเบียบประเพณีของมวยไทยสายโคราช วิธีจัดการชกมวยนิยมจัดชกในงานศพที่ลานวัด การเปรียบมวยให้ทหารตีฆ้องไปตามหมู่บ้านแล้วร้องบอก ให้ทราบทั่วกันเมื่อเปรียบได้แล้วให้นักมวย มาชกประลองฝีมือกันก่อน หากฝีมือทัดเทียมกันก็ให้ชก แล้วนัดวันมาชก ในการเปรียบมวย ไม่มีกฎกติกาที่แน่นอน หากพอใจก็ชกกันได้ รางวัลการแข่งขันเป็นสิ่งของเงินทอง หากเป็นการชกหน้า พระที่นั่งรางวัล ที่ได้รับก็จะเป็นหัวเสือและสร้อยเงิน
มวยโคราช (มวยไทยภาคอีสาน)
มวยไทยโคราช เป็นการต่อสู้แบบมือเปล่าที่พันด้วยเชือก หรือด้ายดิบของชนชาติไทย ในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5-6 มวยไทยโคราช เป็นมวยที่มีมาในประวัติศาสตร์ไทยมาช้านานเป็นศิลปะมวยไทยที่ มีชื่อเสียงตลอดมาเท่ากับมวยลพบุรี มวยอุตรดิตถ์ มวยไชยา ซึ่งมีนักมวยจากหัวเมืองคือเมืองโคราชได้สร้างชื่อเสียง
จากการไปแข่งขันชกมวยในพระนครโดยชกชนะนักมวยภาคอื่นๆ นับไม่ถ้วน ซึ่งล้วนแต่มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งสิ้น โดยเริ่มตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงครองราชย์ พ.ศ.2411 พระองค์ทรงโปรดกีฬามวยไทยมาก การฝึกหัดมวยไทยแพร่หลายไปตามหัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศทรงจัดให้ทีการแข่งขันชกมวยหน้าพระที่นั่งในงานศพของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์อุรุพงษ์รัชสมโภช ในวันที่ 18-21 มีนาคม ร.ศ.128 (พ.ศ.2452) ณ ทุ่งพระรุเมรุ นักมวยที่เจ้าเมืองต่างๆ นำมาแข่งขันล้วนแต่คัดเลือกคนที่มีฝีมือดีจากทั่วประเทศ การแข่งขันครั้งนี้ได้นักมวยที่สามารถชกชนะคู่ต่อสู้หลายคนเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระองค์ และโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศและบรรดาศักดิ์ให้กับนักมวยมณฑลนครราชสีมาเมืองโคราชเป็นขุนหมื่นครูมวย คือ “หมื่นชงัดเชิงชก” ถือศักดินา 300 คือนายแดง ไทยประเสริฐ ลูกศิษย์คุณพระเหมสมาหารเจ้า เมืองโคราช มีชื่อเสียงในการใช้ “หมัดเหวี่ยงควาย” อีกทั้งยังมีนักมวยโคราชที่มีความสามารถจนได้เป็นครูสอนพลศึกษา ในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จนถึงเกษียณอายุราชการ รวมเวลาถึง 28 ปี คือ ครูบัว นิลอาชา (วัดอิ่ม) และยังมีมวยโคราชที่มีฝีมือดี เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนเป็นอย่างดีโดยเฉพาะกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ถึงกับเป็นครูสอนมวยไทยให้กับนักมวยจากเมืองโคราชที่วังเปรมประชากร เช่น นายทับ จำเกาะ, นายยัง หาญทะเล, นายตู้ ไทยประเสริฐ, นายพูน ศักดา เป็นต้น
มวยโคราชคาดเชือกยุคฟื้นฟูอนุรักษ์สมัยรัชกาล 9 ถึงปัจจุบัน ไม่มีการฝึกซ้อมที่เมืองโคราช แต่ยังมีลูกศิษย์ครูบัว วัดอิ่ม (นิลอาชา) คือพันเอกอำนาจ พุกศรีสุข ทำการถ่ายทอดมวยโคราชคาดเชือกให้กับผู้ที่สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์ สืบสาน อยู่ที่กรุงเทพฯ และ ครูเช้า วาทโยธา ที่ยังอนุรักษ์สืบสานถ่ายทอดมวยโคราชให้กับลูกศิษย์และผู้ที่สนใจเป็นประจำที่โรงเรียนบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น (ที่มา: http://www.koratstartup.com/muay-korat/)
มวยโคราชตามการเขียนของครูบัว วัดอิ่ม ซึ่งได้รับการฝึกฝนตามตำรามวยของพระเหมสมาหาร มีการฝึกมวยตามธรรมชาติ คือ เมื่อตื่นนอนให้ชกหมัดทั้งสองข้างขึ้นไปจนกระทั่งตัวลุกขึ้นนั่งตรงเพื่อให้หมัดหนักทั้งสองข้าง เวลาล้างหน้า ให้เอาหน้าถูมือที่ประคองน้ำไว้ เพื่อให้หน้าเคยชินและสามารถส่ายหลบหลีกอาวุธของคู่ต่อสู้ ให้หันหน้าจ้องดวงอาทิตย์ที่ขึ้นอ่อนๆ จนกระทั่งจ้องต่อไม่ได้ เพื่อให้ตาแข็ง เวลาดำน้ำ ให้ลืมตาตลอดเวลา หรือเอามือสับน้ำ และก้มลงมองโดยไม่กระพริบตา เวลาลอยคอในน้ำให้เอาศอกถองน้ำจนกระทั่งตัวลอยขึ้นมาและเวลาเช้าและเย็นให้หัดชกลม เตะ ถีบ ศอก เข่า กระโดดเข้า-ออก อย่างรวดเร็วทุกวัน
นอกจากนี้ยังมีกระทู้ว่า (1) “เขายาวเราพึ่งฝากชีวา ยาวเขาเราแบ่งอย่าแคลงเลยนา ได้ช่วงมรรคาใต้บนปนไป” หมายความว่าถ้าคู่ต่อสู้สูงยาวกว่า นักมวยต้องเข้าวงในและไม่เลือกเป้าหมายว่าต้องเป็นบนหรือล่างเท่านั้น (2) “ถ้าเขายาว เราพึงฝากชีวิต อย่าควรคิด คาดคง เข้าตรงหน้า ต้องค่อยแบ่ง แย้งรอมรคา พอได้ท่า ใต้บน ปนกันไป” หมายความว่า ถ้าคู่ต่อสู้สูงยาว และแข็งแรง นักมวยจะเข้าตรงหน้าไม่ได้ จะต้องเอี้ยวหรือเบี่ยงตัวไปทางข้างแล้วเตะต่อยเอาตามโอกาสโดยไม่เลือกบน-ล่าง (3) ถ้าคู่ต่อสู้หลอกล่อ ต้องคุมเชิงนิ่ง เมื่อเขาอ่อน เรารุก ถ้าคู่ต่อสู้ชำนาญในเชิงปล้ำ นักมวยต้องชกวงนอก หลอกล่อแล้วเตะต่อยเข้าเป้าหมายสำคัญๆ เช่น ตา จมูก ปาก ชายโครง ยอดอก เป็นต้น เวลายืนคุมเชิง หมัดต้องไม่ตก น้ำหนักตัวอยู่ขาหน้า เข่าทั้งสองข้างงอเล็กน้อย และตาต้องจ้องดูระหว่างราวนมกับสะดือของคู่ต่อสู้ เพื่อให้เห็นการเคลื่อนไหวของร่างกายทุกส่วนของคู่ต่อสู้
- ไม้ครูหรือแม่ไม้ ตามคำกลอนของมวยโคราช ไม้ครูหรือแม่ไม้จะมีเพียง 5 ไม้ คือ
- “ไม้หนึ่ง หมัดที่ยื่น ชักคืนมา ตีเท้าหน้า พร้อมชักให้ยักตาม” หมายความว่า ให้ชักหมัดหน้าที่ยื่นเข้าหาตัว เตะหรือถีบด้วยเท้าหน้า แล้วตีศอกตามไป แต่ครูบัว เขียนใหม่ว่า “ชักหมัดมา เตะตีนหน้าพร้อมหมัดชัก” คือ ให้ชักหมัดกลับและเตะหรือถีบด้วยส้นเท้าหรือหัวแม่เท้าที่ยอดอกหรือคางของคู่ต่อสู้ ไม่มีการตีศอกตามไป
- “ไม้สอง ให้ปิดปก ชกด้วยศอก” หมายความว่า ให้งอแขนปิดข้างหัวเพื่อกันหมัดหรือเตะ แล้วสวนด้วยศอก แต่ครูบัวเขียนใหม่ว่า “ชักปิดปกชกด้วยศอก” คือ ใช้หมัดปิดปัดหมัดคู่ต่อสู้ แล้วชกตอบด้วยศอก
- “ไม้สามบอก ห้ามไหล่ คือ ไม้สาม” หมายความว่า เมื่อคู่ต่อสู้จะต่อย นักมวยต้องชิงต่อยคู่ต่อสู้ตรงร่องไหล่ เพื่อมิให้คู่ต่อสู้ออกอาวุธ แต่ครูบัวเขียนว่า “ชกห้ามไหล่” คือ นักมวยต้องปัดหมัดคู่ต่อสู้ออกไป แล้วต่อยร่องบ่าด้วยหมัดตรงข้อนิ้วมือข้อที่สอง
- “ไม้สี่ให้ ชกนอก ท่านบอกความ ชักออกตามชกใน ไขวาที” หมายความว่า ให้ชกคู่ต่อสู้วงนอกหมายหน้าคู่ต่อสู้เป็นการหลอก เสร็จแล้วต่อยตามด้วยการชกวงใน ครูบัวเขียนว่า “เมื่อเข้าให้ชกนอก เมื่อออกให้ชกใน” คือ ต่อยวงนอกให้คู่ต่อสู้ปัด เสร็จแล้วต่อยข้างในด้วยการพุ่งหมัดไปตรงหน้าอกหรือปากก่อนกระโดดถอยหลังโดยเร็ว (5) “ประสานงา ไม้ห้า ท่านบอกไว้” หรือ “ชกช้างประสานงา” ของครูบัวคือการต่อยสวนไปที่ใบหน้าของคู่ต่อสู้แต่ต้องให้หัวก้มลงแนบกับแขนข้างที่ต่อยออกไป แล้วชก 1-2 ตามไปเรื่อยๆ
- ลูกไม้หรือไม้เบ็ดเตล็ด ซึ่งมวยโคราชมีทั้งหมด ๒๑ ไม้ ด้วยกันคือ
- ทัดมาลา – การตีศอกงัดขึ้น หรืออาจจะเป็นการปิดหูด้วยศอก แล้วต่อยสวนด้วยมืออีกข้างหนึ่ง
- กาฉีกรัง – การใช้มือทั้ง ๒ ข้างกดหมัดหรือปัดออกทั้งสองข้างแล้วยกเท้าถีบยอดอก
- หนุมานถวายแหวน – การจับข้อศอกคู่ต่อสู้ยกขึ้น อีกมือหนึ่งต่อยปากด้วยหมัดสอยดาวหรือหมัดเสย
- ล้มพลอยอาย – เมื่อคู่ต่อสู้ล้มลงเพราะถูกเราจับหรือล้มเอง ให้ล้มทับลงไปและถองด้วยศอกที่หน้าอกหรือศอกกอที่หลังเท้า
- ลิงชิงลูกไม้ – เมื่อปัดเตะแล้ว ให้ต่อยหมัดคู่หงายหมัดออกไปตรงๆ ไปยังหน้าอกหรือคาง โดยให้หัวแนบติดหมัดและเอียงตัวไปตามมือที่นำหน้า (มือสองข้างถึงเป้าไม่พร้อมกัน)
- กุมภกรรณหักหอก – เมื่อจับขาที่เตะมา อีกมือกดเข่าเอาไว้ เอาเข่ากระแทกโดนขาที่จับไว้โดยแรง
- ฤาษีมุดสระ – เมื่อคู่ต่อสู้กระโดดถองหัวให้รีบทรุดตัวลงนั่ง ใช้สองมือแหวกขาคู่ต่อสู้และลอดตัวเข้าหว่างขาแบกขึ้นและดันให้คู่ต่อสู้พลัดหงายหลังลงไป
- ทศกัณฐ์โศก – เมื่อคู่ต่อสู้กระโดดจะถองหัว ให้กระทุ้งหมัดทั้ง ๒ ข้างขึ้นไปยังคางของคู่ต่อสู้ (หมัดสอยดาวคู่หรือถวายแหวน)
- ตะเพียนแฝงตอ – ครูบัวเขียนไว้ว่า ให้นักมวยหลอกล่อเข้าถึงตัวคู่ต่อสู้ ก้มตัวลงเอามือกดขาทั้งสองข้างของคู่ต่อสู้ พอคู่ต่อสู้ขยับจะต่อยหรือถอง ก็เอาหมัดทั้ง ๒ กระทุ้งที่ชายโครงหรือลูกคาง
- นกคุ้มเข้ารัง – ให้เอามือทั้งสองสอดใต้แขนของคู่ต่อสู้ แล้วเสยปัดให้มือเปิดออก เอาหัวกระแทกหน้าอกของคู่ต่อสู้โดยแรง
- คชสารกวาดหญ้า – การแกล้งต่อยวงกว้างให้เขาปิดปัด ใช้มือที่หลอกต่อยรวบหมัดทั้งสองข้างของคู่ต่อสู้มาไว้ใต้รักแร้ ใช้มืออีกข้างหนึ่งต่อยปากหรือจมูก เสร็จแล้วใช้มือที่รวบหมัดศอกกระทุ้งหน้าอกก่อนกระโดดออกมา
- หักหลักเพชรหรือหักเหล็กเพชร – ท่าคล้ายตะเพียนแฝงตอ แต่ไม่กดขา พอเขาเตะก็รีบจับขายกขึ้นโดยเร็ว ใช้ส้นเท้าถีบที่โคนขา (ที่ยืน) อย่างแรง
- คชสารแทงโรง – การกระโดดถีบตรงหน้าอก พร้อมพุ่งหมัดทั้งสองข้างไปที่ปากอย่างรวดเร็ว
- หนุมานแหวกฟอง – การขยับหลอกจะต่อย แล้วกระโดดทิ้งตัวไปด้านข้าง ใช้มือทั้งสองยันพื้นแล้วถีบหลังด้วยส้นเท้าที่หน้า จากนั้นให้หลบไป ทางข้างหลังของคู่ต่อสู้
- ลิงพลิ้ว – การหลอกว่าจะต่อยหมัดตรง เสร็จแล้วรีบพลิกตัวตีศอกกลับเข้าหน้าทันที
- กาลอดบ่วง – การหลบเตะลงต่ำให้ขาคู่ต่อสู้ข้ามหัว พอขาพ้นไปแล้วก็ต่อยสวนที่คางหรือหน้าอก
- หนุมานแบกพระ – เมื่อคู่ต่อสู้กระโดดเตะ ให้ก้มตัวลงลอดขา มือหนึ่งจับโดนขาที่ไม่ได้เตะ อีกมือหนึ่งจับรักแร้ให้ยกตัวขึ้นแล้วพุ่งไปโดยแรง ให้หัวคู่ต่อสู้ฟาดพื้น
- หนูไต่ราว – เมื่อคู่ต่อสู้เตะหรือต่อย ให้ปิดหรือหลบไปข้าง แล้วเตะหรือต่อยสวนไปทันที
- ตลบนก – การขยับจะหลอกต่อยชายโครง พอเขาปิดเราก็ชักมือกลับ และช้อนขึ้นข้างบนใช้ศอกถองหัว ถ้าเขาปิดหมัดไม่ทันก็ต่อยชายโครงก่อนช้อนขึ้นใช้ศอกถองหัว
- โกหกหรือตอแหล – การทำท่าต่อยเหวี่ยงพอเขาปิดก็ใช้มือที่ขยับหลอกต่อยหมัดตรงที่ปากโดยเร็ว แล้วต่อยและเตะตามทันที
- หนุมานถอนตอ – เมื่อคู่ต่อสู้เตะมา จับขาไว้แล้วยกขึ้นสูงเสมอไหล่ ใช้เท้าถีบพุ่งที่หัวเหน่า
เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม้มวยของโคราชอาจมีชื่อเหมือนไม้มวยของบางสายมวยหรือสำนักมวยอื่น แต่วิธีการใช้อาวุธจะไม่เหมือนกับสำนักมวยหรือสายมวยอื่นหลายไม้ด้วยกัน นอกจากนี้ครูบัวยังได้กล่าวเตือนนักมวยไว้ว่า ห้ามประมาท ห้ามหวาดหวั่น ห้ามโกรธเวลาเจ็บ ให้ยึดมั่นในคุณพระรัตนตรัย บิดามารดา ครูบาอาจารย์ และพระมหากษัตริย์ และให้พิจารณาชั้นเชิงของคู่ต่อสู้ให้ดีก่อนเข้าโจมตี สำนักมวยที่ได้กำหนดการใช้หัวเป็นอาวุธ คือ มวยโคราช
การใช้หัวของมวยโคราชจึงเป็นการกำหนดเป้าหมายมากกว่าวิธีใช้ แต่ถ้าวิเคราะห์อย่างดีแล้ว ก็จะเห็นว่ามวยโคราชกำหนดหน้าผาก หัวด้านซ้าย และหัวด้านขวาเป็นอาวุธในการเข้าปะทะเป้าหมาย ไทยุทธก็กำหนดตำแหน่งปะทะของหัวคือ ด้านหน้า ด้านซ้าย ด้านขวา และด้านหลัง ไว้เช่นกัน (ที่มา: bananasaw.blogspot.com/2013/04/5-2411-11-3-47-5-5-11-5-21.html)
เมื่อผมเข้าร่วมฝึกอบรมยิงปืนเสร็จเรียบร้อยดีแล้ว วันต่อมาผมจึงโทรหาเสธ.อำนาจเพื่อขอไปพบ ท่านรับสายและนัดให้ผมไปพบในตอนเย็น ที่ร้านอาหารผมจำชื่อร้านไม่ได้จำได้แต่ว่าร้านอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ท่านมีนัดทานข้าวกับครอบครัวในวันเกิดของลูกสาวคนโต อายุราว 8 ขวบ
“จะมาเรียนหรือมาลอง” เสธ.อำนาจพูดกับผมเมื่อเจอหน้ากันในวันแรก ผมยกมือไหว้พร้อมกับยิ้มออกไปแทน ท่านรับไหว้แล้วบอกให้ผมนั่งร่วมโต๊ะอาหารกับครอบครัวท่าน นับเวลาเกือบ 2 ชั่วโมงที่ร้านอาหาร ท่านพูดคุยถึงศาสตร์ด้านมวยไทยและศาสตร์ด้านอื่นๆอย่างออกอรรถรส ท่านเป็นผู้มีความรู้และถ่ายทอดได้อย่างสนุกน่าฟัง เสร็จจากทานอาหารมื้อเย็นท่านจึงชวนผมไปคุยกันต่อที่บ้านพักแถว ซอยอินทามระ 20 ถนนสุทธิสารดินแดง
ชีวินเรียนมาหลายมวยแล้วจะ ให้พี่สอนอะไรเพิ่ม (เสธ.อำนาจ บอกผมว่าให้เรียกท่านว่าพี่อำนาจ ท่านว่าคุยกันแบบพี่น้อง สบายๆ ดี) เอาศอกเพิ่มมั้ย? ท่านถาม ไหนลองออกศอกให้ดูซิว่าได้กี่ศอก ผมออกท่าศอกราว 32 ศอก ท่านเห็นก็ว่าได้เยอะแล้วนะ แล้วท่านก็เปิดวิดีโอการแสดงโชว์มวยไทยเลิศฤทธิ์ให้ผมดูไปด้วย เราคุยกันอีกหลายเรื่อง ผมซาบซึ้งในความเมตตาที่ท่านมีให้ แม้จะพบกันแค่ครั้งแรกแต่ท่านก็สละเวลาให้ความรู้พูดคุย อย่างเป็นกันเอง จนเวลาล่วงเลยไปจนถึงเที่ยงคืน ผมจึงขอลากลับ และขออนุญาตมาหามาเยี่ยมอีกในโอกาสต่อไป เพราะผมต้องกลับหาดใหญ่และไม่ค่อยได้ขึ้นมากรุงเทพฯบ่อยนัก แต่ก็โทรศัพท์ไปหาท่านอยู่เสมอ
ในปี พ.ศ.2544 ท่านลงมาราชการที่จังหวัดยะลา และได้แวะพักที่อำเภอหาดใหญ่ด้วย ท่านบอกว่าช่วงนี้มีการอบรมครูผู้ฝึกสอนของสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ท่านเป็นครูผู้สอนและเป็นเลขาธิการสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในขณะนั้นด้วย เพราะวันเวลาจำกัดท่านจึงนัดให้ผมไปฝึกตามหลักสูตรกับท่าน ฝึกกันที่ห้องพักในโรงแรม จนเป็นที่มาของคำที่มักจะแซวผมต่อหน้าคนอื่นๆ ว่า “ชีวินมันฝึกมวยบนพรม” วันต่อมาท่านมาที่บ้านผมเพื่อทดสอบผมตามหลักสูตรจนครบพอใจ ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง เสร็จแล้วท่านจึงมอบวุฒิบัตรให้และแซวผมว่า “ชีวินเล่นมวยไทยแต่ดูยังไงก็เหมือนเล่นมวยจีนว่ะ”
ต่อมาท่านเลื่อนยศเป็นพันเอก (พิเศษ) อำนาจ และใช้ชื่อมวยที่สอนถ่ายทอดว่า มวยไทยนวรัช มวยนวรัชคือมวยไทยที่สังเคราะห์จากมวยโคราช โดยใช้เคล็ดจากมวยไทยกรุงศรีอยุธยา มวยไทยโบราณสายต่างๆ โดยมีแกนหลักเป็นมวยโคราช โดยเป็นรูปแบบที่บูรณาการจากองค์ความรู้ต่างๆ ที่สามารถสืบค้นได้ใน 9 รัชกาล ทั้งนี้พันเอก (พิเศษ) อำนาจ ยังเป็นผู้ฝึกสอนมวยไทยสายโคราชแก่นักแสดงนำภาพยนตร์อย่างจา พนม นักบู๊ชื่อดังของไทยอีกด้วย
ปัจจุบันพลตรีอำนาจ พุกศรีสุข (ยศปัจุบัน พ.ศ.2563) เป็นครูใหญ่แห่งสำนักมวยไทยนวรัช ผมนับถือท่านเป็นครูผู้เสมือนเป็นหอสมุดเคลื่อนที่ ที่เปิดมิติหลากหลายมุมมอง ตลอดจนองค์ความรู้มากมายในศาสตร์ของมวยไทยให้ได้สืบต่อๆ ไป
ติดต่อเรา
- สถานที่ : ถนน ปุณณกัณฑ์ ตำบล คอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ สงขลา 90110
- Facebook : Taifudo Academy – โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
- Instagram : taifudoacademy.official
- Tiktok : Taifudo Academy
- Twitter : Taifudo Academy
- Youtube : @taifudoacademy
- LINE : Taifudo Academy
- เบอร์โทร : 083 923 4204
- เว็บไซต์ : www.taifudo.com
- แผนที่ : Taifudo Academy