Taifudo Academy

บทที่ 15 บราซิลเลียนยิวยิตสู (Brazillian Jiu-Jitsu) ประสิทธิภาพในการต่อสู้จริง

บทที่ 15 บราซิลเลียนยิวยิตสู (Brazillian Jiu-Jitsu) ประสิทธิภาพในการต่อสู้จริง
taifudo book15 (Web V)

ปี พ.ศ.2538 ช่วงวันสงกรานต์ อาจารย์โค้วขับรถจากกรุงเทพฯ พาครอบครัวมาเที่ยว จ.เชียงใหม่ อาจารย์โค้วหรืออาจารย์ประมวล ภูมิอมร ท่านเป็นหมอรักษาด้านศาสตร์จีนโบราณ จัดกระดูก ฝังข็ม ครอบแก้ว และท่านยังเป็นที่รู้จักกันในนามอาจารย์โค้ว สำนักไท่เก๊กแห่งวัดสัมพันธวงศ์ หรือวัดเกาะย่านเยาวราชกรุงเทพฯ อาจารย์โค้วเรียนไท่เก๊กสายอาจารย์เจิ้งมั่นชิงกับอาจารย์เอี้ยบเสี่ยวเท่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าศิษย์เอกของอาจารย์เจิ้งมั่นชิงที่นำไท่เก๊กมาเผยแพร่ในประเทศไทย

เจอกันครั้งนี้ผมก็เห็นว่าท่านยังมีสุขภาพที่แข็งแรงเป็นปกติดีผมขอให้อาจารย์โค้ว ทบทวนท่ารำไท่เก๊กเก๊กแรกและการใช้ท่าไท่เก๊กใน 8 ท่าหลักให้เหมือนเดิม อาจารย์โค้วถ่ายทอดมวยจีนใต้ชุดจูแกก่าให้ผมไว้เพื่อใช้สอนมิสเตอร์ลูก้าลูกศิษย์ชาวอิตาลีที่มาขอเรียนไท่เก๊กและอยู่กับผมในตอนนั้น เพราะอาจารย์โค้วบอกว่ามิสเตอร์ลูก้ารำไท่เก๊กไม่ดีเพราะเป็นคนมือไม้แข็งให้รำอ่อนๆ ไม่เหมาะ ก่อนกลับกรุงเทพฯครั้งนี้ อาจารย์โค้วได้พูดกับผมอีกครั้งว่า “อาต๊ะลื้อเปิดสำนักมวยไว้นะอั๊วเกษียณตัวเองเมื่อไหร่ อั๊วะจะมาอยู่กะลื้อ” แต่การพูดครั้งนี้ผมไม่คิดเลยว่าจะเป็นการพูดสั่งเสียของท่าน เพราะไม่นานนักอาจารย์โค้วมีอาการป่วยต้องเข้าผ่าตัดรักษาตัวและเสียชีวิตลงในเดือนมีนาคม พ.ศ.2539 ด้วยวัย 66 ปี ผมเองแทบไม่เชื่อเลยว่าจะสูญเสียอาจารย์ที่รัก และเคารพไปอย่างรวดเร็วและค่อนข้างกะทันหัน

ตลอดปี พ.ศ.2538 ผมฝึกรำมวยไท่เก๊กและอยู่อย่างสม่ำเสมอ และสั่งทำหุ่นไม้เพื่อใช้ฝึกเข้าตีจากท่ารำชุดจูแกก่า ผมทำหุ่นไม้ไว้ฝึกทั้งหมด 6 ตัว ทำด้วยไม้สักจำนวน 2 ตัวและไม้ยูคา 4 ตัวปลายปี พ.ศ.2539 ผมย้ายลงมาอยู่บ้านในเมืองเชียงใหม่ ผมเปิดบ้านเพื่อรับสอนไทฟูโดอีกครั้ง มีลูกศิษย์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ เมื่ออาจารย์โค้วมีอาการป่วยต้องเข้าผ่าตัดรักษาตัว และเสียชีวิตลงในเดือนมีนาคม พ.ศ.2539 ช่วงปลายปี พ.ศ.2539 ผมจึงจัดพิธีไหว้ครูไทฟูโดประจำปี พ.ศ.2539 ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อระลึกถึงอาจารย์โค้วอาจารย์ที่รักยิ่งของผม

ปี พ.ศ.2539 ผมได้เข้าทำงานในสถาบันศิลปะป้องกันตัวปราโมทย์ยิม พุทไธศวรรย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวและกระบี่กระบอง โดยสถาบันศิลปะป้องกันตัวปราโมทย์ยิมพุทไธศวรรย์ เพิ่งเปิดสาขาที่เชียงใหม่

บราซิลเลียนยิวยิตสู (Brazillian Jiu-Jitsu) คืออะไร?

บราซิลเลียนยิวยิตสู (Brazillian Jiu-Jitsu) เรียกสั้นๆ ว่า BJJ เป็นศิลปะการต่อสู้สมัยใหม่ซึ่งมีลักษณะเด่นในการต่อสู้จับล็อกบนพื้น แต่ก็มีจุดเด่นทั้งการทุ่มและการควบคุมคู่ต่อสู้จากทางด้านบน จินตนาการง่ายๆ คือคล้ายกับการเอากีฬายูโดมาผสมกับมวยปล้ำแล้วมีการฝึกท่าจับล็อกบนพื้นเพิ่มเข้าไป

วิชาบราซิลเลียนยิวยิตสู ถือว่าเป็นพื้นฐานของกีฬาต่อสู้แบบผสม Mixed Martial Arts เรียกสั้นๆ ว่า MMA คือกีฬาต่อสู้ที่เอาศิลปะการต่อสู้หลายๆอันมาผสมกัน โดยใช้เทคนิคอะไรก็ได้ ขอเพียงให้ฝ่ายตรงข้ามยอมแพ้หรือสลบไป ซึ่งจะพบว่านักสู้ที่มีชื่อเสียงอย่างในรายการ MMA ชื่อดังทั้งสิ้น เช่น UFC นั้นจะต้องผ่านการฝึกบราซิลเลียนยิวยิตสูมาแล้ว

ความเป็นมาของ บราซิลเลียนยิวยิตสู (Brazillian Jiu-Jitsu) หรือ จูจิตสึ

บราซิลเลียนยิวยิตสู (Brazillian Jiu-Jitsu) จูจิตสึ (ยิวยิตสู : Jiu-Jitsu) ต่างกับศิลปะการต่อสู้ชนิดอื่นๆ เนื่องจากไม่ได้พัฒนาขึ้นมาจากที่ใดที่หนึ่ง ตรงกันข้าม กลับเกิดจากพื้นฐานที่ต่างกันมาปรับเปลี่ยนและเดินทางทั่วทวีปเอเชียก่อนที่จะพัฒนาขั้นสุดท้ายในประเทศญี่ปุ่น พระที่อาศัยอยู่ในอินเดียตอนเหนือมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการพัฒนาของจูจิตสึช่วงต้น พระเหล่านี้เป็นผู้ที่มีสติปัญญาหลักแหลม มีความรู้เกี่ยวกับศาสตร์ของร่างกายมนุษย์เป็นอย่างดี พวกเขาได้ใช้ความรู้เหล่านั้นผนวกเข้ากับหลักแห่งฟิสิกส์ เช่น คานดีดคานงัด แรงเฉื่อย จุดศูนย์ถ่วง การถ่ายเทน้ำหนัก และแรงเสียดทาน มาประยุกข์ใช้กับขีดจำกัดของร่างกายมนุษย์ เพื่อที่จะสร้างสรรค์ ศาสตร์แห่งศิลปะการป้องกันตัว และใช้ในการป้องกันตัวจากโจรผู้ร้าย

ก่อนคริสตศักราช 230 ปี เริ่มมีโรงเรียนจูจิตสึก่อตั้งมากมายในประเทศญี่ปุ่น ศาสตร์การต่อสู้มือเปล่าของจูจิตสึได้ถูกบรรจุลงไปในส่วนหนึ่งของการฝึกฝนของเหล่านักรบซามูไร การฝึกฝนนี้ใช้ในการพิชิตศัตรูที่มีเกราะและอาวุธในสนามรบ

ในช่วงยุคเมจิเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นเริ่มเปิดรับวัฒนธรรมของต่างประเทศและมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามามากมาย ทำให้เหล่าบรรดาอาจารย์จูจิตสึทั้งหลายกลัวว่าชาวต่างชาติ ซึ่งตัวใหญ่และแข็งแรงกว่าคนญี่ปุ่นจะเรียนรู้ความลับและเทคนิคต่างๆของจูจิตสึ พวกเขาจึงค่อยๆ แบ่งแยกมันออกเป็นวิชาต่างๆ ซึ่งถูกจำกัดประสิทธิภาพในการต่อสู้จริง

คาราเต้, ยูโด และไอคิโดได้ถูกพัฒนาขึ้นมาจากจูจิตสึ ศาสตร์เหล่านี้ได้ถูกเปลี่ยนมาอยู่ในรูปของกีฬาเพื่อที่จะหลบซ่อนความรุนแรง และประสิทธิภาพในสนามรบออกไป ท่านจิกาโร่ คาโน่ อาจารย์สอนจูจิตสึพบว่าจูจิตสึแบบดั้งเดิมนั้นไม่สามารถที่จะฝึกอย่างเต็มกำลังได้เนื่องเพราะว่าเทคนิคอันตรายต่างๆ เช่น จิ้มตา เตะหว่างขา ดึงผม และอื่นๆ อาจทำให้คู่ฝึกซ้อมบาดเจ็บสาหัสจากการฝึกได้รวมทั้งการฝึกที่เรียกว่า กาต้า (KATA: การฝึกแบบเข้าคู่โดยทั้งสองฝ่ายรู้กัน และฝึกตามท่าโดยที่ไม่มีการขัดขืนกัน) แต่เพียงอย่างเดียวก็ยังไม่ได้ประสิทธิภาพที่เพียงพอ เพราะเราจะไม่สามารถคาดหวังได้ว่าศัตรูของเราจะให้ความร่วมมือในท่าที่เราฝึกมา โดยที่ไม่มีการขัดขืนดังนั้นการฝึกส่วนใหญ่ในโรงเรียนของท่าน จิกาโร่ คาโน่ จะเป็นแบบ รันโดริ (RANDORI) คือการฝึกซ้อมแบบจริงโดยใช้แนวความคิดว่า นักเรียนสองคนใช้เทคนิคต่างๆที่ตนเรียนรู้เพื่อการเอาชนะอย่างเต็มกำลัง ทั้งนี้นักเรียนจะคุ้นเคยกับความรู้สึกต่อต้าน ขัดขืนจากคู่ต่อสู้ การฝึกแบบนี้นักเรียนจะสามารถพัฒนา ร่างกาย จิตใจและความคล่องตัวได้ดีกว่า เพื่อทำให้การฝึกซ้อมแบบรันโดริมีประสิทธิภาพ มากขึ้น ท่านจิกาโร่ คาโน่จำเป็นต้องเอาเทคนิครุนแรงที่ก่อให้เกิดอันตรายบางส่วนเช่น การชก เตะ หัวโขก ในจูจิตสึออกไป การล็อกสามารถกระทำได้เพียงแค่ข้อศอกซึ่งปลอดภัยกว่าการล็อกสันหลัง คอ ข้อมือ หรือหัวไหล่ เขาเรียกการฝึกซ้อมนี้ว่า “ยูโด”

มิตสุโย มาเอดะ (MITSUYO MAEDA) เป็นหนึ่งในศิษย์เอกของท่านจิกาโร่ คาโน่ เขาได้รับการฝึกฝนในจูจิตสึแบบดั้งเดิมก่อนที่จะมาฝึกซ้อมกับท่านจิกาโร่ คาโน่ เมื่ออายุสิบแปดปีในเวลานั้น ท่านจิกาโร่ คาโน่ มีความต้องการที่จะเผยแพร่ยูโดของเขาออกไปยังต่างประเทศเพื่อที่จะได้รับการบรรจุเป็นกีฬาโอลิมปิค เขาได้ส่งตัวแทนมากมายไปยังส่วนต่างๆ ของอเมริกา มาเอดะเป็นหนึ่งในนั้น

ระหว่างการเดินทางของมาเอดะ ผู้ซึ่งต้องต่อสู้กับชาวต่างชาติที่ตัวใหญ่กว่าตลอดเวลากลับรู้สึกว่าท่านจิกาโร่ คาโน่ เอาเทคนิคที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้จริงออกมากเกินไป มาเอดะจึงตัดสินใจที่จะเพิ่มเติมเทคนิคของจูจิตสึแบบดั้งเดิมลงไปและเอาเทคนิคที่เขาเห็นว่าใช้ไม่ได้ออก เขาได้หล่อหลอมศิลปะการต่อสู้ของเขาในลักษณะการต่อสู้แบบรวม (MMA: Mixed Martial Arts) ลักษณะการต่อสู้ของเขาคือ การเตะต่ำหรือใช้ศอกเพื่อที่จะเข้ารวบและทุ่มคู่ต่อสู้ลงบนพื้น จากนั้นเขาจะเน้นในการต่อสู้บนพื้นดินโดยการกดล็อกให้คู่ต่อสู้ยอมแพ้ เขามักจะเรียกการต่อสู้ของเขาว่าจูจิตสึมากกว่ายูโด

ในปี ค.ศ.1914 เขาได้หยุดการเดินทางที่ประเทศบราซิล และตัดสินใจที่จะอยู่และช่วยรัฐบาลญี่ปุ่นในการขยายความสัมพันธ์กับต่างประเทศโดยได้รับการสนับสนุนด้านที่ดินและปศุสัตว์จากทูตชาวบราซิล กาสโตว เกรซี่ (Gastao Gracie) เพื่อเป็นการตอบแทน มาเอดะ จึงสอนจูจิตสึให้กับลูกชายของเขา คาลอส (Carlos)

คาลอส เกรซี่ (CARLOS GRACIE) มีอาชีพเป็นนักมวย ทั้งยังคลั่งไคล้ในการต่อสู้แบบไม่มีกติกาบนท้องถนน ได้ปรับปรุงและแก้ไขเทคนิคที่เขาได้เรียนมาจาก มาเอดะ เพื่อที่จะใช้ในการต่อสู้ในแบบฉบับของเขา คือแบบ “ไม่มีกติกา” ไว้ใช้บนท้องถนนในบราซิล

หนุ่มน้อยเกรซี่ ยังคงต้องการแก้ไขระบบการต่อสู้ของเขา โดยเปิดรับ การประลองจากบุคคลทั่วไป ถึงกับโฆษณาในหนังสือพิมพ์และตามหัวมุมถนน เพื่อที่จะได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆและนำมาปรับปรุงกับวิชาของเขา เขาสู้กับทุกๆ คนที่ต้องการเข้ามาประลอง โดยไม่จำกัดขนาด น้ำหนักหรือวิธีการต่อสู้ ถึงแม้ว่าเขาจะมีน้ำหนักเพียง 61 กิโลกรัม เขากลับสามารถพิสูจน์ ทักษะการต่อสู้ของเขาโดยที่ไม่เคยถูกใครเอาชนะได้ และกลายมาเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่ของบราซิล

การเปิดรับคู่ต่อสู้แบบไม่จำกัดประเภทนี้ กลับกลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ จูจิตสึในรูปแบบของเกรซี่ คาลอสยังได้ถ่ายทอดจูจิตสึในแบบของเขาให้กับน้องๆ ทั้งสี่ของเขาออสวัลโด (Oswaldo) แกสโต (Gasto) จอร์จ (Jorge) และ เฮลิโอ (Helio) รวมถึงลูกชายของเขา คาล์สัน (Carlson) และ คาร์ลีย์ (Carley) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการถ่ายทอดวิชาให้กับลูกหลานในขั้นต่อไป ให้ตอนนั้นจะถูกเรียกว่า เกรซียิวยิตสู ชื่อของเกรซียิวยิตสูได้กลายเป็นเครื่องหมายการค้าของตระกูลเกรซี ซึ่งจะหมายถึงยิวยิตสูในรูปแบบของเขาเท่านั้น ทำให้มีการเปลี่ยนชื่อเรียกจากเกรซียิวยิตสูเป็น บราซิลเลียนยิวยิตสู

ในช่วงต้นนั้นกีฬาบราซิลเลียนยิวยิตสู นั้นสร้างชื่อตัวเองด้วยการไปท้าตี กับวิชาการต่อสู้อื่นตามสำนักต่างๆ ในบราซิล เช่น คาราเต้ ยูโด มวย รวมถึงท้าตีท้าต่อยกับนักเลงข้างถนนทั่วไปด้วย ซึ่งไม่มีศิลปะการต่อสู้ไหนเลยที่ชนะBrazilian Jiujitsu ได้ หลังจากนั้นจึงเปิดให้คนทั่วไปที่สนใจอยากประลองวิชามาทดสอบได้เรียกกันว่า Gracie challenge ซึ่งหลังจากประกาศไปก็ได้มีคนเข้ามาท้าทายอย่างมากซึ่งหาคลิปดูได้ในยูทูบ อย่างเช่น นักคาราเต้ นักเลงข้างถนน นักเพาะกาย มวยจีนเส้าหลิน นักมวยปล้ำ ซึ่งศิลปะการต่อสู้เหล่านั้นเมื่อมาได้เจอบราซิลเลียนยิวยิตสู ก็แพ้อย่างราบคาบทั้งสิ้น

เฮลิโอ เกรซี่ (HELIO GRACIE) เมื่ออายุ 17 ปีเฮลิโอ เกรซี่ ได้เข้าสู่สนามการแข่งขันใน ริโอ เดอเจเนโร่ (Rio de Janeiro) เพื่อต่อสู้กับนักมวยอาชีพ แอนโตนิโอ โปรตุกอล (Antonio Portugal) เขาได้รับชัยชนะจากท่าล็อกแขนภายในสามสิบวินาทีซึ่งเป็นชัยชนะครั้งแรกของเขา เขายังได้รับชัยชนะจากคู่ท้าชิงทั่วโลกภายใต้การฝึกสอนของพี่ชาย จนได้เป็นฮีโร่ประจำชาติต่อจากพี่ชาย ตำนานการต่อสู้ของเขายังคงรวมถึง การต่อสู้ที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ สามชั่วโมงสี่สิบห้านาที โดยไม่มีพักยก และเขาต้องสู้กับแชมป์โลกมวยปล้ำ Wladek Zybskus ผู้ซึ่งมีน้ำหนักตัวถึง 127 กิโลกรัม เขายังท้าสู้และเอาชนะนักสู้ดังๆ อีกมากมายเพื่อที่จะพิสูจน์ความเป็นหนึ่งของจูจิตสึ

เฮลิโอ เกรซี่ ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ ในเช้าวันที่ 29 มกราคม 2009 โดยมีอายุถึง 95 ปี แสดงให้เห็นถึงความแข็งแรงของผู้ฝึก BJJ เขาเป็นที่ยอมรับทั่วไปว่าเป็นบิดาแห่งเกรซี่จูจิตสึ

ฮอยส์เกรซี่ (ROYCE GRACIE) ลูกชายของเฮลิโอ เมื่อปี ค.ศ.1993 อัลติเมท ไฟต์ติ้ง แชมเปี้ยนชิพ (UFC: Ultimate Fighting Championship) ได้ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกบนเคเบิ้ลทีวี ทั่วทั้งโลกได้ตื่นเต้นกับการต่อสู้ของยอดนักสู้ชั้นนำของโลกทั้งสิบสองคน มาปะทะกันโดยใช้มือเปล่าเป็นอาวุธ ท่ามกลางนักสู้ระดับเฮฟวี่เวทยังมีเด็กหนุ่มบราซิลร่างเล็กยืนอยู่ด้วย ฮอยส์เกรซี่ เปิดเผยว่าเขาต้องการที่จะพิสูจน์ประสิทธิภาพของจูจิตสึ ทั้งที่มีคนคัดค้านมากมาย ด้วยน้ำหนักเพียง 80 กิโลกรัมเขาเปรียบเสมือนต้นอ้อท่ามกลางต้นโอ๊คใหญ่ เขาเป็นต่ออยู่ถึงหนึ่งต่อห้าในหมู่นักพนันว่าเขาจะถูกน็อคภายในสามนาที

ผิดดังคาดหมายเหมือนกับมีดร้อนตัดลงไปบนก้อนเนย เด็กหนุ่มบราซิลผู้นี้กลับโค่นคู่ต่อสู้ลงและได้ตำแหน่งแชมป์เปี้ยนไปครอง โลกแห่งศิลปะการต่อสู้ถึงกับต้องตะลึง เด็กหนุ่มผู้ซึ่งเสียเปรียบน้ำหนักตัวถึงยี่สิบกิโลกรัม หรือมากกว่ากลับสามารถเอาชนะเหล่ายอดนักสู้ต่างๆ ทั่วโลกได้ นี่ก็เปรียบเสมือนกับเอา ชูการ์เรย์เลียวนาร์ด (Sugar Ray Leonard) มาชกกับไมค์ไทสัน (Mike Tyson)

พวกเขาคิดผิดอีกครั้ง เกรซี่หนุ่มยังคงเดินหน้าชนะต่อไป เขาทำให้คู่ต่อสู้ตบพื้นยอมแพ้เหมือนกับเครื่องพิมพ์ดีด เขายิ่งกลับเพิ่มความพิศวงให้โลกแห่งศิลปะการต่อสู้มากยิ่งขึ้น นี่คือนักสู้ตัวจริงซึ่งทำในสิ่งที่นักสู้พึงจะทำ นี่คือคนที่ตัวเล็กกว่า แรงน้อยกว่าแต่สามารถที่จะเอาชนะคนซึ่งตัวใหญ่กว่าและแข็งแรงกว่าได้ เมื่อฮอยส์ได้รับคำถามเกี่ยวกับชัยชนะต่างๆ นี้เขามักจะตอบในสำเนียงโปรตุเกสของเขาเสมอๆ ว่า “ไม่ใช่เพราะตัวผม แต่เป็นเพราะเทคนิคของจูจิตสึ” จึงทำให้ศิลปะการต่อสู้บราซิลเลียนยิวยิตสูโด่งดังและกระจายไปทั่วโลก

Gracie ได้รับชื่อเสียงจากความสำเร็จใน Ultimate Fighting Championship ระหว่าง ปี พ.ศ.2536 และปี พ.ศ.2537 เขาเป็นผู้ชนะเลิศการแข่งขันของ UFC 1, UFC 2, UFC 4

ปัจจุบันบราซิลเลี่ยนยิวยิตสูเป็นที่รู้จักในประเทศไทยอย่างมาก ท่าพื้นฐานที่จับคู่ต่อสู้ให้ยอมแพ้หรือทำให้เราอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบ มีให้ได้ศึกษากันตามสื่อสาธารณะทั่วไปมากมาย

การรวบขา (Double leg take down) บราซิลเลี่ยนยิวยิตสูเป็นศาสตร์การต่อสู้บนพื้น (Ground Fighting) ฉะนั้นพื้นฐานการต่อสู้นั้นคือต้องทำให้คู่ต่อสู้ล้มลงเพื่อที่จะลดทอนกำลังและความได้เปรียบของคู่ต่อสู้ คนที่นอนอยู่บนพื้นจะไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวและใช้กำลังได้อย่างที่เคย หากปราศจากการฝึกฝน ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบของผู้ที่ฝึกฝนศิลปะการต่อสู้บนพื้น

การขึ้นคร่อม (Mount) การขึ้นคร่อมถือเป็นท่าทางแบบธรรมชาติอย่างหนึ่งในการต่อสู้ ซึ่งทำให้คนที่อยู่ด้านบนมีความได้เปรียบอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นช่วงของการออกหมัด การส่งแรง การเคลื่อนไหว ฯลฯ มีเพียงคนส่วนน้อย กับผู้ที่เคยฝึกศิลปะการต่อสู้บนพื้นเท่านั้นที่จะรู้วิธีการเอาตัวรอดเมื่อ ถูกขึ้นคร่อม

การควบคุมด้านข้าง (Side control) เป็นท่าหลักพื้นฐานที่จะทำให้คู่ต่อสู้เคลื่อนไหวได้ยาก และไม่สามารถทำอันตรายเราได้ ทั้งยัง นำไปสู่ท่าอื่นๆ เช่น การขึ้นคร่อม การเข้าควบคุมด้านหลังและรวมถึงท่าล็อกต่างๆ อีกมากมายที่จะทำให้คู่ต่อสู้ยอมแพ้ หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้

การควบคุมด้านหลัง (Back control) ไม่มีข้อกังขาใดๆ สำหรับผู้ที่สามารถควบคุมด้านหลังของคู่ต่อสู้ได้ เพราะว่าเป็นตำแหน่งที่ปลอดภัยที่สุด ทั้งยังยากต่อการดิ้นหลุด ปัญหาอยู่ที่ว่าถ้าคุณเป็นฝ่ายถูกกระทำคุณจะเอาตัวรอดได้อย่างไร

การป้องกันตัวช่วงบน (Guard) ไม่จำเป็นเสมอไปที่เราจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบเมื่ออยู่ด้านล่างคู่ต่อสู้และหลังติดพื้น ตราบใดที่เรายังรักษาตำแหน่งของคู่ต่อสู้ให้อยู่ต่ำกว่าช่วงเอวของเราลงไปทั้งในแบบเปิดขา (Open Guard) หรือแบบปิดขา (Close Guard) โดยเฉพาะในแบบหลังนี้จะสามารถนำไปสู่ท่าล็อกที่มีประสิทธิภาพได้มากมาย เช่น การล็อกแขนท่าล็อกสามเหลี่ยม โอมาพลาตะ และคิมูระล็อก การป้องกันยังมีรูปแบบต่างๆ อีกมากมายเช่น Butterfly Guard, Spider Guard

การรัดคอ (Choke) เป็น ท่าพื้นฐานที่มีลักษณะหลากหลายในการกระทำ ซึ่งจะทำให้คู่ต่อสู้ยอมแพ้หรือหมดสติโดยง่าย อย่างไรก็ตาม การรัดคอหลายชนิดยังมีข้อจำกัดอยู่ที่การใช้เสื้อผ้าของเราหรือคู่ต่อสู้ให้เป็นประโยชน์ การจะใช้ต้องขึ้นอยู่กับสถานะการณ์ที่เหมาะสมด้วย

ท่าล็อกกางเขน (Arm bar) เป็นท่าล็อกหลักที่เห็นได้บ่อย มีความรุนแรงและประสิทธิภาพสูง โดยจะโจมตีส่วนที่เป็นข้อต่อของท่อนแขน ผู้ที่ถูกล็อกอย่างสมบูรณ์จำเป็นต้องยอมแพ้มิฉะนั้นจะมีโอกาสบาดเจ็บถึงขั้นแขนหักได้

คิมูระล็อก (Kimura or Americana Lock) เป็นท่าล็อกอีกท่าหนึ่งที่พบเห็นกันได้บ่อยโดยจะมุ่งโจมตีขัอต่อส่วนหัวไหล่มีการใช้ได้หลากหลายรูปแบบทั้งจากด้านหน้า ด้านหลัง และจากในตำแหน่งต่างๆเช่น จากการขึ้นคร่อม
จากการควบคุมด้านข้าง หรือจากการล็อกด้วยการ์ด

(ข้อมูลและภาพจาก http://bjjchiangmai.blogspot.com/2011/09/blog-post.html)

เมื่ออเล็กซ์มาหาผมที่สถาบันศิลปะป้องกันตัวปราโมทย์ยิม ผมจะรอช้าอยู่ใย ผมได้ขอลองเล่นโดยใช้ทักษะยูโดที่เคยฝึกมาเพื่อเล่นทักษะบนพื้นกับอเล็กซ์ เมื่อเราทั้งคู่ลงไปอยู่บนเบาะซ้อมแล้วนั้น ผมไม่สามารถทำอะไรอเล็กซ์ได้เลย ผมจึงหยุดเล่นแล้วขอให้อเล็กซ์ช่วยสอนท่าพื้นฐานให้ผม ผมขอท่าแบบเบสิคมาตรฐาน 10 ท่าที่เน้นใช้งานได้จริงๆ จนเมื่อฝึกบ่อยๆ ลูกเทคนิคอื่นๆ ก็จะได้เพิ่มเอง นับจากนั้นมาศิลปะป้องกันตัวไทฟูโดที่ผมก่อตั้งจึงมีหลักสูตรทักษะทุ่มและปล้ำบนพื้นเพื่อเพิ่มศักยภาพการฝึกศิลปะการต่อสู้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

บทความและข่าวสารอื่นๆ

Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หลานไฉ่เหอ (藍采和; แต้จิ๋ว: น่าไชหัว, ฮกเกี้ยน: หน่าไฉฮัม) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนผู้เ...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หานเซียงจื่อ (韓湘子; ฮกเกี้ยน: ฮั้นเจียวจู้) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนแห่งลัทธิเต๋า ผู้ม...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หลี่เถียไกว่ (李鐵拐; กวางตุ้ง: เหล่ยทิดกวาย, แต้จิ๋ว: ลี้ทิก๋วย, ฮกเกี้ยน: ลี่ทิกุย) หรือที่รู้จักในชื...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
เหอเซียนกู (何仙姑; แต้จิ๋ว: ฮ่อเซียนโกว, ฮกเกี้ยน: เฮอเซียนก๊อ) หรือที่รู้จักในชื่อ “นางฟ้าเหอ&#...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
ลฺหวี่ ต้งปิน (呂洞賓; แต้จิ๋ว: ลือท่งปิน, ฮกเกี้ยน: ลีตงปิ่น) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนใ...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
จงหลีเฉฺวียน (鐘离權; กวางตุ้ง: จงสิดขือ, ฮกเกี้ยน: เจี๋ยงตีควน) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซีย...