ณ บ้านบนดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ปี พ.ศ.2537 หลังจากกลับจากเยี่ยมอาจารย์ลุงจกเซียกิมที่รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย อารมณ์ผมเหมือนคนซังกะตาย เบื่อการฝึก ผมไม่รำมวย ไม่ฝึกมวย ไม่อยากฟังหรือไม่อยากคุยเรื่องมวยกะใครทั้งสิ้น ทำได้แต่นั่งดู นอนดูวิดีโอไท่เก๊กที่อาจารย์ลุงจกเซียกิมให้มา ผมดูๆ ๆ และดู ดู ซ้ำไปซ้ำมาทุกวันเป็นเวลาถึงสามเดือนสามเดือนที่ผ่านมานั้น ผมไม่ได้ฝึกมวยเลยและยังมีอาการปวดหลังเนื่องจากเกิดอุบัติเหตุขี่มอเตอร์ไซค์ล้มหลังฟาดพื้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผมมีอาการปวดเกือบตลอดเวลาทั้งตอนนอน นั่งหรือเดิน ซึ่งผมเข้าใจมาตลอดว่าเป็นอาการปวด จากกล้ามเนื้อหลังอักเสบก็ไม่มีทีท่าว่าอาการปวดจะบรรเทาลง การใช้ชีวิตประจำวันของผมที่ผ่านมาดูเหมือนยังเล่นมวยได้ปกติ แต่ในความเป็นจริงผมต้องโดนฉีดยาแก้ปวดเป็นระยะๆ ทานยาแก้ปวดเช้าเย็นเพื่อคุมอาการปวดเรื้อรังนี้ไว้ จนเมื่อผมกลับไปเยี่ยมบ้านที่หาดใหญ่เมื่อปลายปี พ.ศ.2537 ที่ผ่านมา ผมได้ไปหาหมอที่มีความเชี่ยวชาญด้านกระดูก หมอตรวจ และวินิจฉัยว่าผมเป็นโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท หมอบอกว่าอาการปวดหลังเกิดจากหมอนรองกระดูกหลังที่เคลื่อนออกมาจากอุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้เกิดอาการแบบฉับพลัน ต่อมาอาการที่ปวดหลังและบริเวณเอวส่วนล่างมีการอักเสบที่รุนแรงมากขึ้นต้องรับการรักษาโดยการผ่าตัด ตอนนั้นผมอายุเพียง 24 ปี
หัวข้อ
“หมอครับ ถ้าผ่าตัดแล้วจะหายเป็นปกติเลยมั้ย” ผมถามหมอ
“ 50:50 ครับ” หมอตอบ
ผมคิดในใจถ้า 50:50 ผมไม่เลือกผ่าตัดดีกว่าและคงต้องเลือกทนเจ็บต่อไป นับราวสามเดือนที่ผมมีอาการเบื่อมวย จู่ๆ ผมก็เดินออกมานอกบ้านในช่วงเย็นของหน้าหนาววันหนึ่ง ผมเดินออกมายังลานหน้าบ้านมีหมอกหนายามเย็น ผมยืนนิ่งๆได้สักพัก ทันใดนั้นผมก็ค่อยๆ ยกมือแล้วเคลื่อนตัวรำมวยไท่เก๊กท่ารำ 37 ท่า การรำโดยที่หยุดฝึกมวยไปเกือบร่วมร้อยวัน เพราะท้อแท้สูญเสียความมั่นใจใน ตัวเอง เอาแต่นั่งดูวิดีโอ แต่เหมือนเราได้เห็นการฝึกมวยจากรุ่นปรมาจารย์ ผมยังคงรำไปเรื่อยๆตามตัวและมือเท้าพาไป รู้สึกได้ถึงท่ารำที่ต่อเนื่องราวกับน้ำ ผมรำด้วยความรู้สึกที่ปลดปล่อยและมีความสุขอย่างบอกไม่ถูก รำอยู่อย่างนี้ไม่ต่ำกว่า5รอบ มีไอความร้อนในร่างกายของผมกระทบกับหมอกหนาวยามเย็นเกิดเป็นวงรอบๆ ตัว จนคนในบ้านที่มองอยู่แซวเล่นว่ารำมวยจนเห็นเป็นออร่า แต่สำหรับผมคำว่า บรรเจิด น่าจะเหมาะที่สุด
จนกระทั่งในปี พ.ศ.2538 แม้ร่างกายจะมีอาการเจ็บแต่ใจผมฟื้นจากอาการซังกะตายแล้ว ผมขับรถออกตระเวนไปหาที่ฝึกซ้อมในเมืองเชียงใหม่ แล้วผมก็เจอชมรมไอคิโด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ไอคิโดเป็นศิลปะการป้องกันตัวจากญี่ปุ่นผู้ก่อตั้งคือ ปรมาจารย์โมริเฮฮิ อูเอชิบะ ในปี ค.ศ.1925 (ประมาณ 94 ปีมาแล้ว) ปัจจุบันแพร่หลายไปทั่วโลก มีผู้ฝึกรวมแล้วเกินกว่าล้านคน มีการนำไปผสมผสานกับวิชาอื่นๆ เช่น การควบคุมเหตุร้ายของตำรวจ ทหาร การรักษาความปลอดภัย การให้คำปรึกษาและจิตบำบัด (มีหลักสูตรเรียนทางจิตวิทยากับไอคิโด สามารถเรียนได้สูงถึงระดับปริญญาเอก) และการระงับข้อขัดแย้งระหว่างบุคคล
ไอคิโด เป็นการรวบรวม กลั่นกรอง เอาคุณลักษณะพิเศษของศิลปะการต่อสู้หลายแบบของญี่ปุ่นในสมัยโบราณเข้าด้วยกัน ศิลปะการต่อสู้บางแบบที่พบในวิชาไอคิโดมีอายุนับย้อนหลังไปได้ถึงกว่า 700 ปี
ปรมาจารย์ไอคิโดได้ศึกษาวิชาเหล่านี้จากอาจารย์ดั้งเดิมซึ่งหลายคนล่วงลับไปโดยไม่ได้ ถ่ายทอดวิชาให้กับคนอื่นๆ อีก นอกจากปรมาจารย์ของไอคิโดเท่านั้น
วิชาเด่นๆ ที่พบในศิลปะการต่อสู้แบบไอคิโดก็คือ ยิวยิตสู วิชาดาบ และหอก ปรมาจารย์ยังได้ศึกษาศาสนาอย่างลึกซึ้งเอาจริงเอาจัง ถึงขั้นมีส่วนร่วมในการไปเผยแพร่ศาสนาในเกาหลี จีน และแมนจูเรีย ศาสนาที่ศึกษาคือ เซนและลัทธิโอโมโตเคียวซึ่งเป็นลัทธิหนึ่งของศาสนาชินโต
ด้วยเหตุที่ท่านมีความสนใจในการพัฒนาทางจิตวิญญาณดังกล่าว จึงพยายามที่จะเอาปรัชญาของศาสนามาประยุกต์เข้ากับศิลปะการต่อสู้ เพื่อให้ศิลปะการต่อสู้ก้าวพ้นไป จากระดับของการเอาชนะคู่ต่อสู้หรือทำร้าย ทำลายชีวิตผู้อื่น ไปสู่จุดมุ่งหมายที่สูงส่งหรือลึกซึ้งกว่า ไอคิโด ไม่ใช่เป็นเพียงแค่วิธีทุ่มคู่ต่อสู้ หรือเอาชนะผู้อื่นเพื่อสนองอัตตาของตนเองเท่านั้น แต่จุดมุ่งหมายที่ว่าก็คือ การฝึกไอคิโดเป็นไปเพื่อ
- ปรับปรุงความสามารถในการรับรู้คนอื่นๆ ให้ละเอียดอ่อนขึ้น (ทั้งในด้านจิตใจ ความรู้สึก ความต้องการ)
- ปรับปรุงความสามารถในการควบคุมตนเองกุญแจที่ถือว่าเป็นหัวใจของวิชาไอคิโดก็คือ “มูซูบิ” (musubi) ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า unity (ความเป็นหนึ่งเดียว) หรือ harmonious interaction (การปฎิสัมพันธ์อย่างกลมกลืน)
ลักษณะพิเศษของวิชาไอคิโด เมื่อเปรียบเทียบกับกีฬาชนิดอื่นๆ คือ
- ปฏิเสธการแข่งขันเอาชนะคนอื่น แต่จะเน้นหนักที่ความร่วมมือกันในการฝึกมากกว่า การฝึกเป็นเหมือนการเป็นพี่น้องหรือเพื่อนร่วมทางกัน มากกว่าเป็นคู่แข่งกัน
- ไม่สอนให้ทำร้ายผู้อื่น เช่น ชก เตะ ถีบ แต่จะสอนให้ระงับหรือควบคุมความก้าวร้าว ความรุนแรงจากคนอื่น ๆ ด้วยความเมตตา ไม่ทำร้ายตอบ ไม่มีจุดประสงค์จะให้ผู้ที่ทำร้ายเราได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หรือจะให้ดีที่สุดก็คือ “ป้องกัน” ไม่ให้เกิดเหตุร้ายเสียแต่แรก มีวิญญาณของการปกป้องคุ้มครองด้วยความรัก (spirit of loving protection)
ไอคิโดใช้หลักการ 4 ข้อ คือ
- นำตัวออกจากทิศทางของการโจมตี
- โอนอ่อน กลมกลืน ตามแรง และเปลี่ยนทิศทางของการโจมตี
- ใช้เทคนิคการควบคุม โดยไม่มีเจตนาทำร้าย
- ยุติความขัดแย้ง ปลดอาวุธ นำกลับเข้าสู่ความสงบดังเดิม
ใช้วิธีการฝึกทางกาย เช่นเทคนิคการเคลื่อนไหว ตามแรง สลายแรง นำแรง เป็นการฝึกเบื้องต้น เป็นอุปมาอุปมัยทางรูปธรรม แต่มุ่งไปสู่การพัฒนาในระดับจิตวิญญาณหรือนามธรรมเป็นจุดหมายในบั้นปลาย ไม่ใช่เป็นเพียง physical martial art แต่เป็น spiritual martial art
ความหมายของคำว่า “ไอคิโด” มาจากคำ 3 คำ คือ
- ไอ หมายถึง ความรัก ความเมตตา ความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว
- คิ หมายถึง พลังชีวิต (ฉีหรือชี่ ในภาษาจีนหรือปราณในภาษาสันสกฤต)
- โด หมายถึง วิถีทางหรือวิถีชีวิต
รวมความแล้ว ไอคิโด ก็คือ การใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับคนอื่นๆ หรือกับสรรพสิ่ง อยู่บนพื้นฐานของความรักและความเมตตานั่นเอง
(ที่มา : ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา (Aikido 3 Dan) ครูฝึกไอคิโดประจำชมรมไอคิโดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
ประวัติของท่านปรมาจารย์ โมริเฮอิ อูเอชิบะ
โมริเฮอิ อูเอชิบะ เกิดเมื่อวันที่ 14 เดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1883 (พ.ศ.2426) ณ เมืองทานาเบะ จังหวัดวากายามา ในประเทศญี่ปุ่น เขาเป็นเด็กน้อยที่อ่อนแอและขี้แย แต่โมริเฮอิก็ยังสมองดี เมื่อเขา อายุได้ 7 ปี เขาได้ศึกษาเล่าเรียน คำสอนของขงจื๊อ (ชิโชโกเกียว) โดยได้รับการสั่งสอนจากพระภิกษุ รูปหนึ่ง หลังจากเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษา เขาได้ฝึกการเล่นกีฬามวยปล้ำ ซูโม่ และว่ายน้ำ โดยได้ รับการสนับสนุนจากบิดาของเขาเอง
วันหนึ่งครูชั้นประถมศึกษาของเขา ได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับ เซนดากาวา ผู้มีชื่อเสียงในการเล่น มวยปล้ำ ซูโม่ซึ่งมาจากเมืองทานาเบ้ เรื่องนี้จึงทำให้โมริเฮอิมีจิตใจตื่นเต้นไปกับเรื่องราวนี้ เมื่อโตขึ้น เขาจึงเป็น เด็กที่มีจิตใจเข้มแข็งและกล้าแกร่ง
โมริเฮอิหยุดเรียนกลางคันในโรงเรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษา หลังจากเขาเรียนไปได้ 1ปี และได้ หันเข้าไปเรียนในโรงเรียนฝึกหัดอ่านและดีดลูกคิด (โซโรบาน) หลังจากเขาศึกษาและฝึกฝนในเวลาเพียงปีเดียว เขาก็มีฝีมือเท่าเทียมกับครูของเขา เขาเป็นผู้ที่มีความสามารถมาก และเป็นที่รู้จักของคน ทั่วไป และทำให้เขาได้รับการว่าจ้างให้ทำงานในหน่วยงานคิดภาษี
โมริเฮอิ ลาออกจากงานเมื่อเขามีอายุได้ 18 ปี จากนั้นเขาเดินทางไปยังเมืองโตเกียว และได้เปิด ร้านค้าขายของเขาเอง มีชื่อร้านว่า อูเอชิบาสโตร์ (อูเอชิบา โซไก) เขาทำงานหนักมากในการค้าขาย และมีคลังสินค้า และขายส่งโดยการส่งของด้วยเกวียนลากของด้วยตนเอง
โมริเฮอิ ไม่เคยคิดที่จะลืมการฝึกฝนในศิลปะการต่อสู้ของตัวเขาเองเลย หลังจากเขาได้ฝึกอบรมการเล่นยิวยิตสูของโกเรียวและแบบของเคนยิตสู
โมริเฮอิ ได้ยกร้านค้าของเขา คือ อูเอชิบะสโตร์ ให้กับผู้ช่วยของเขาและเขาก็เดินทางกลับไป เมืองทานาเบะในสมัยก่อนนั้นถ้าใครกลับไปยังบ้านเกิด หรือถิ่นที่เดิมต้องรับหมายเรียกทางทหาร และ ต้องตรวจร่างกายเพื่อเป็นทหาร และอีกทั้งเขาได้แต่งงานกับหญิงสาว ซึ่งเคยเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ เด็กๆ ชื่อว่า ฮัทส
ในปีต่อมาเขาได้รับราชการในกองทัพบก และตัวเขาเองได้แสดงความสามารถของเขาอย่าง ยอดเยี่ยมให้ผู้อื่นเห็นในขณะที่ฝึกวิชาทหารเพียงแต่ 3 ปี เขาก็ได้รับเลื่อนยศเป็นสิบเอก และได้รับ ขนานนามว่า เทพเจ้าของทหารทั้งหลายขณะที่อยู่ในกองทัพบก เขาได้ฝึกฝนอย่างหนักเกี่ยวกับศิลปะยาเกียว-เรียว (ยิวยิตสู) โดยภายใต้การสอนของ มาซากัทสุ นาไก
โมริเฮอิ ปลดประจำการจากการรับใช้กองทัพบกมาเป็นเวลา 4 ปี และแล้วเขาก็เดินทางไป ฮอกไกโดเป็นผู้นำของกลุ่มบุกเบิกจากเมืองวากายามา 54 ครอบครัวด้วยกันไปตั้งรกรากที่นั่น เขาได้ตั้ง รกรากใน ชิวาตากิ ในตำบล มอนเบทสุ ได้ทำการปลูกต้นมิ้นต์ และทำงานหนักในฟาร์ม โคนมด้วย เขาได้รับความเคารพนับถือมากและได้รับฉายานามว่า พระราชาของชิราตากิ (เป็นสมญานามที่เพื่อนบ้านได้ตั้งให้)
บางครั้งโมริเฮอิได้ไปยังเมืองเองการู ใกล้ๆ นั่นเอง ซึ่งที่นั่นเขาได้พบ โซกากุ ทาเกดะ เป็นอาจารย์ใหญ่ทาง ไดโตะ-เรียว ยิวยิตสู ซึ่งใช้เป็นแบบอย่างยูโด พวกเขาทั้งสองคนได้รู้จักซึ่งกัน และกันในแนวความคิดของศิลปะป้องกันตัว และโมริเฮอิมีความเชี่ยวชาญเทคนิค (ศิลปะป้องกันตัว) ของโซกากุด้วย 8 ปีผ่านไปในเมืองฮอกไกโดนั้น ซึ่งโมริเฮอิได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาหมู่บ้าน ชิวาตากิ ดังนั้นชีวิตของเขาจึงยุ่งและวุ่นวายมาก วันหนึ่งเขาได้รับโทรเลขว่า บิดาของเขาป่วยหนัก เขาจึงกลับไปบ้านที่ทานาเบะทันที
ในเวลาต่อมาบิดาเขาก็สิ้นชีวิต และโมริเฮอิเกิดความเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมาก เขาจึงได้ เดินทางไปเมืองอายาเบ้ในจังหวัดเกียวโตและที่นั่นเขาได้พบกับ โอนิซาบุโร เดกูชิ ผู้นำของ โอโมโตเกียว ซึ่งเป็นศาสนาหนึ่งของญี่ปุ่น ที่นั่นเขาได้รับการฝึกฝนการทำสมาธิ
ในปี ค.ศ.1920 (พ.ศ.2463) โมริเฮอิ ได้จัดตั้งยิมเนเซียม (สนามกีฬาในร่ม) ชื่อว่า อูเอชิบะจูกุ ในอายาเบ้ของจังหวัดเกียวโต ซึ่งเขาต้องการจะทำมานานแล้ว ในปี ค.ศ.1922 (พ.ศ.2465) เขาเป็นผู้ฝึกสอนศิลปะป้องกันตัวในชื่อว่า ไอคิ บูจัทสึ (Aiki bujutsu) ซึ่งหมายความว่า การรวมพลังจิต พลังใจและพลังกายเข้าด้วยกัน
วันหนึ่งมีนายทหารเรือคนหนึ่ง ซึ่งได้ยินเรื่องราวของอูเอชิบะจูกุ จึงมาท้าทาย โมริเฮอิ แข่งขัน ต่อสู้กับดาบไม้ของเขา โมริเฮอิ ยืนแน่วนิ่งด้วยมือเปล่า และพูดว่า “ตีผมได้เลย เวลาไหนก็ได้” นายทหารเรือคนนั้น พยายามตีโมริเฮอิ ด้วยความรุนแรงและเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาด้วยดาบไม้ของเขา แต่โม ริเฮอิ หลบหลีก ไปอย่างง่ายๆ นายทหารเรือผู้นี้ก็พยายามที่จะตีเขาอยู่ตลอดเวลา ทำเช่นนี้อยู่หลายครั้ง แต่โมริเฮอิ เคลื่อนไหวหลบหลีกดูว่าทำด้วยความแผ่วเบาว่องไว จนในที่สุดนายทหารเรือผู้นั้น จึงหยุดตีและนั่งลงพักเหนื่อย
หลังจากนั้น โมริเฮอิ จึงอุทิศเวลาต่อการสอน ไอคิ บูจัทสึ ต่อไปประดุจดั่งว่าเขาเป็น ผู้มีพลัง ความสามารถมาก และเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
- ปี ค.ศ.1922 (พ.ศ.2465) ก่อกำเนิดศิลปะไอคิยิวยิตสู (Aiki Jiu Jitsu) อันมีกำลังใจ, ใจ, ร่างกายรวมกันเป็นหนึ่งเดียว (กำลังใจ คือ กำลังที่ออกจากใจ, ใจซึ่งเป็นของตัวเราเอง, ส่วน ร่างกาย คือกายเนื้อ) 3 สิ่งนี้รวมกันเป็นรากฐานของไอคิโด
- ปี ค.ศ.1942 (พ.ศ.2485) ได้เปลี่ยนชื่อจาก “ไอคิบูโด” (Aikibudo) เป็น “ไอคิโด” (Aikido) ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
- ปี ค.ศ.1960 (พ.ศ.2503) รัฐบาลญี่ปุ่นได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้ปรมาจารย์
- ปี ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) ได้รับเชิญจากอเมริกาให้ไปแสดงและสอนที่ฮาวาย
- ปี ค.ศ.1964 (พ.ศ.2507) จักรพรรดิ์ญี่ปุ่นได้พระราชทานเครื่องราชฯ ชั้นที่ 4
- ปี ค.ศ.1969 (พ.ศ.2511) วันที่ 26 เดือน เมษายน เสียชีวิต (รวมอายุ 86 ปี) ได้รับเครื่องราชฯ ชั้นที่ 3 อีกครั้ง (ที่มา: อาจารย์ประพันธ์ จิตตะปุตตะ (Aikido 5 Dan) ครูฝึกไอคิโดประจำสมาคมฯและศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น)
เว็บไซต์ aikidocmu.wordpress.com เผยแพร่ประวัติชมรมไอคิโดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และบทความไอคิโดคืออะไร
ไอคิโด (Aikido) คืออะไร?
แม้ว่าไอคิโดเป็นศิลปะป้องกันตัวที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณแห่งความรักความเมตตา แต่ไอคิโดเป็นยุทธศิลป์ที่มีผลรุนแรงมาก พลังสูงสุดของไอคิโดไม่ค่อยมีใครได้มีโอกาสพบเห็น ผู้ที่ยังไม่รู้สิ่งเหส่านี้คือผู้ที่ยังไม่รู้จักไอคิโด นักไอคิโดที่รู้จักพลังของไอคิโดจะแสดงความสามารถเต็มที่เฉพาะแต่กับผู้ที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี จนสามารถจะรับพลังและเอาชีวิตรอดได้เท่านั้น
ครั้งแรกที่เราได้เรียนรู้เทคนิคต่างๆ ไอคิโด เช่น โคเตกาเอชิ หรือ นิกเกี้ยว เราจะรู้สึกแปลกใจในพลังและประสิทธิภาพที่แฝงอยู่ในความเรียบง่ายของมัน เราจะรู้ได้ทันทีว่าคนฉลาดไม่ควรจะฝืนแต่ควรจะยอมรับและเคลื่อนตัวตามแรงอย่างเหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บ
การเคลื่อนไหวทุกรูปแบบในไอคิโดเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นวงกลม แม้แต่การเคลื่อนไหวที่ดูเหมือนเป็นแนวตรงก็มีการเคลื่อนที่เป็นเกลียวซ่อนอยู่ เทคนิคของไอคิโดถูกออกแบบมาให้มีการเคลื่อนไหวที่เลื่อนไหลไปตามธรรมชาติของร่างกาย การบิดข้อ จะบิดไปตามพิสัยการเคลื่อนที่ตามธรรมชาติของข้อนั้น
การบิดลักษณะนี้จะบังคับนำให้ผู้โจมตีล้มลงโดยไม่เป็นอันตรายต่อข้อ การตรึงคู่ต่อสู้ไว้กับพื้นแบบไอคิโดก็อยู่บนวิธีคิดเดียวกันและสามารถใช้ได้กับทุกขนาดร่างกายโดยใช้แรง เพียงเล็กน้อยหรือไม่ต้องใช้เลยหลักการของไอคิโดเป็นไปในลักษณะการรับมากกว่าการรุก คนเรามักจะเสียสมดุลและความสงบภายในเมื่อความก้าวร้าวเข้าครอบครองจิตใจผู้ฝึกไอคิโดเรียนรู้ที่จะเชื่อสัญชาติญาณและการรับรู้อย่างรวดเร็วตามธรรมชาติและทำอย่างเหมาะสมโดยไม่เสียสมดุลภายใน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ให้เรานิ่งเฉยและรอรับทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเข้ามาหาเราอย่างอ่อนแอ เราควรรับพลังงานแง่ลบด้วยความเคารพ รักษาจิตใจให้ดีและเปลี่ยนทิศทางสิ่งที่เข้ามาด้วยความเข้มแข็งเต็มไปด้วยพลังบวกแห่งชีวิต
หลักการนี้ใช้ได้กับชีวิตทั้งในสถานฝึกไอคิโดและในชีวิตจริง เราไม่จำเป็นต้องแข็งแรง ตัวใหญ่ รวดเร็วหรือเป็นนักกีฬา เพื่อที่จะเรียนรู้และประสบความสำเร็จในการฝึกไอคิโด เพียงแค่เราต้องการสันติก็พอแล้วใช้การรับรู้ตามธรรมชาติของเรา เมื่อเรารู้สึกถึงอันตราย จงรับรู้มัน ยอมรับมันและเคารพธรรมชาติและเจตนาของมัน ยอมให้มันกลมกลืนเข้ากับธรรมชาติของเรา ต่อจากนั้น รักษา สมดุลของเรา ควบคุม และเปลี่ยนทิศทางมันอย่างปลอดภัย อาจกล่าวได้ว่าไอคิโดเป็นศิลปะป้องกันตัวสำหรับผู้ที่ต้องการสันติภาพอย่างแท้จริงเป็นสันติภาพที่ได้จาก “การปกป้องชีวิตทั้งมวลด้วยใจรัก”
อาจารย์สมบัติ ตาปัญญา ซึ่งเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่รุ่น 5 ได้เริ่มศึกษาวิชาไอคิโดที่เมืองนิวเฮเว่น รัฐคอนแนคติคัดในขณะที่ได้รับทุนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา หลังจากสำเร็จการศึกษาได้กลับมาถึงกรุงเทพฯ ประมาณปี พ.ศ.2524 ได้ร่วมฝึกที่สมาคมไอคิโดประเทศไทย ซึ่งในขณะนั้นตั้งอยู่บนชั้นสามของตึกแถวในซอยเล็กๆ หน้าสำนักงานไปรษณีย์กลาง อาจารย์สมบัติซึ่งได้สายน้ำตาล (สามกิ้ว) ในขณะนั้น ได้ย้ายมาสอนที่ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใน พ.ศ.2528 ต้องการที่จะฝึกฝนและเผยแพร่วิชาไอคิโดต่อไป จึงได้ไปขออาศัยสถานที่ของชมรมยูโดเพื่อฝึกซ้อม ในตอนแรกก็เชิญชวนให้สมาชิก ชมรมยูโดที่สนใจร่วมฝึกไอคิโดด้วยกัน ต่อมาเมื่อมีคนสนใจมากขึ้นจึงได้ก่อตั้งเป็นชมรมขึ้น ในประมาณ ปี พ.ศ.2529 โดยอาจารย์สมบัติ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมคนแรก
เนื่องจากวิชาไอคิโดไม่มีการแข่งขัน ดังนั้นการสนับสนุนด้านงบประมาณ จากมหาวิทยาลัยจึงค่อนข้างจำกัดเมื่อเปรียบเทียบกับชมรมกีฬาประเภทอื่นๆ ชมรมไอคิโดจึงค่อนข้างจะมีความลำบากและขาดแคลนในเรื่องอุปกรณ์การฝึกและสถานที่ จำเป็นต้องย้ายสถานที่ฝึกไปเรื่อยๆ หลายแห่งภายในมหาวิทยาลัย เช่น จากชมรมยูโด ย้ายไปอยู่หอหญิง โรงเรียนสาธิต อาคารเรียนรวม 5 อาคารเรียนรวมคณะพยาบาลและคณะเทคนิคการแพทย์ จนกระทั่งปัจจุบันได้มาตั้งอยู่ชั้นล่างอาคารกิจกรรมใหม่
ในระหว่างปี พ.ศ.2533 จนถึงปี พ.ศ.2539 อาจารย์สมบัติ ได้รับทุนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ณ ประเทศแคนาดา ในระยะนี้อาจารย์ธีระรัตน์ บริพันธกุล นักจิตวิทยาจากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ซึ่งได้มาเริ่มฝึกซ้อมกับอาจารย์สมบัติ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งชมรมจึงได้รับหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมต่อและได้ดูแลสนับสนุนกิจกรรมของชมรมให้มั่นคง พร้อมทั้งฝึกฝนวิชาไอคิโดอย่างจริงจัง จนสามารถสอบได้สายดำเป็นคนแรกในปี พ.ศ.2538 และหลังจากนั้นอีกประมาณหนึ่งปีเมื่ออาจารย์สมบัติสำเร็จการศึกษากลับมา จึงได้รับการปรับขั้นสายให้เป็นสายดำเช่นเดียวกัน ชมรมไอคิโดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับความกรุณาจากอาจารย์ผู้ฝึกสอนอาวุโสหลายท่าน ตั้งแต่อาจารย์ใหญ่โมโตฮิโร ฟูคาคูซา (นายกสมาคมไอคิโดประเทศไทย) โดยเฉพาะท่านอาจารย์ประพันธ์ จิตตะปุตตะ (ดินแดงโดโจ) ซึ่งได้ให้ความเมตตาสนับสนุน และดูแลให้คำปรึกษาในกิจกรรมของชมรมมาตั้งแต่ต้นและอาจารย์ท่านอื่นๆ เมื่อมีธุระผ่านมาทางเชียงใหม่ก็ได้กรุณาสละเวลาแวะมาทำให้ชมรมมีความยั่งยืนก้าวหน้าและเข้มแข็งตลอดมา
วันแรกผมได้ขออนุญาตนั่งดูการฝึกซ้อม เพราะผมไม่เคยรู้จักศิลปะป้องกันตัวไอคิโดมาก่อนจนเมื่อผมได้เห็นการฝึกคว้าจับหักข้อมือ ผมค่อนข้างตื่นเต้นไม่น้อยเพราะมันทำให้ผมนึกถึงท่าคว้าจับหักข้อมือที่เพื่อนคุณปู่เคยสอนผมสมัยตอนเป็นเด็กและผมยังใช้ท่าคว้าหักเหล่านั้นผสมในการเล่นเชิงต่อสู้ในการสอนศิลปะป้องกันตัวไทฟูโดที่ผมก่อตั้งขึ้นด้วย แต่การคว้าจับหักข้อในไอคิโดมีวงจรและการเคลื่อนตัวที่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งผมบอกกับตัวเองว่าผมคงต้องลงไปเล่นให้รู้เอง ใจพร้อมแล้วแต่กายไม่พร้อมเลย เพราะในการฝึกซ้อมต้องมีการผลัดกันล้มตัว ลอยตัวซึ่งมีผลทำให้อาการปวดหลังจากหมอนรองกระดูกหลังที่เคลื่อนอยู่แล้วยิ่งรุนแรงขึ้น ผมตัดสินใจยอมทนเจ็บและตั้งใจว่าจะลงฝึกไอคิโดต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน
ครั้งนั้นผมขับรถไปกลับจากบ้านที่อยู่บนดอยสะเก็ด เพื่อฝึกไอคิโดกับทางชมรมไอคิโดแทบทุกวันที่มีการฝึกซ้อมเว้นแต่เป็นวันหยุด ฝึกกันตั้งแต่เวลา 18.30 จนถึง 21.00 น. โดยมีอาจารย์สมบัติ ตาปัญญาและอาจารย์ธีระรัตน์ บริพันธกุล สลับกันเป็นผู้นำฝึกสอน และยังมีอาจารย์เฮนรี่ ชาวฝรั่งเศส (Aikido 4th Dan) ทำงานให้องค์กรสหประชาชาติหรือยูเอ็นมานำฝึกซ้อมเป็นระยะๆ ด้วย
ต่อมา ไม่นานผมก็ย้ายบ้านมาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ผมเปิดบ้านเพื่อรับสอนไทฟูโดอีกครั้ง ทำให้อาจารย์เฮนรี่ แวะมาหาผมที่บ้านเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้ต่างๆ และกรุณาแนะนำเทคนิคไอคิโดสไตล์นิชิโอะ (Nishio aikido) ทั้งเทคนิคมือเปล่า ดาบ พลอง และมีดสั้น ที่ท่านฝึกมาถ่ายทอดให้ผม พร้อมทั้งมอบม้วนวิดีโอของท่านอาจารย์นิชิโอะ (Nishio Sensei) ไว้ให้ผมได้ศึกษาเพิ่มเติม
อาจารย์นิชิโอะ (Nishio Sensei) ท่านเป็นลูกศิษย์ของปรมาจารย์ โมริเฮอิ อูเอชิบะ อาจารย์นิชิโอะ นำเทคนิคทั้งยูโด, คาราเต้, iaido และ jojutsu มาประยุกต์ใช้ทางเทคนิค เพื่อเสริมศิลปะการต่อสู้ด้วยการจู่โจมหรือศิลปะการต่อสู้วงนอกเทคนิคมือเปล่าร่วมกับปรัชญาไอคิโดจึงมีเอกลักษณ์ในสไตล์ Nishio aikido
ผมรู้สึกว่า Nishio aikido เป็นสไตล์ที่โดนใจผม อาจเพราะผมเคยผ่าน การฝึกทั้งยูโด, คาราเต้, Iaido ทำให้ผมสามารถเข้าใจและเรียนรู้และใช้ทักษะอย่าง Nishio aikido ได้ดี
ช่วงที่ผมฝึกซ้อมอยู่ ผมได้พบอาจารย์ประพันธ์ จิตตะปุตตะ (Aikido 5th Dan) ครูฝึกไอคิโดประจำสมาคมฯ และศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ตอนนั้นท่านมาที่ชมรมไอคิโดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อมาสอบเลื่อนสายให้สมาชิกชมรม อาจารย์ประพันธ์แนะนำการฝึกเทคนิคดาบและโจ้ (พลอง) ให้กับผู้ที่จะสอบขึ้นสายน้ำตาล ท่านทราบว่าผมเคยฝึกคาราเต้มาก่อนจึงให้โอกาสผมได้เข้าร่วมฝึกซ้อมเทคนิคดาบและโจ้ (พลอง) ด้วย
หลังจากผมฝึกไอคิโดตามที่ตั้งใจไว้ ครบสามเดือนแล้ว ผมก็แวะไปนั่งดูการฝึกซ้อมอยู่บ้างเรื่อยๆ การไปฝึกไอคิโดที่ชมรมในช่วงนั้นทำให้ผมต้องทานยาแก้ปวดต่อวันเพิ่มปริมาณขึ้นอีกเป็น 2 เท่า เพื่อระงับหรือบรรเทาอาการปวดที่ตามมาจากการลงฝึกซ้อม ผมทานยามากติดต่อกันจนผมเกิดอาการข้างเคียง ปวดท้องและอาเจียนเมื่อทานอาหาร จนร่างกายทรุดโทรมลงไปมาก
การฝึกทักษะไอคิโดด้วยการเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนทิศทางโมเมนตัมของท่าโจมตีของคู่ต่อสู้ การทุ่มหรือล็อกข้อต่อ สิ่งที่ผมได้จากการลงฝึกฝนไอคิโดด้วยตัวเองครั้งนี้ผมพบว่าการยืมแรง ฟังแรงและย้อนตามแรงจากวิชา ไท่เก๊กที่ผมฝึกมาก่อนนั้น ทำให้ผมฝึกไอคิโดได้อย่างรวดเร็ว และรู้สึกได้ว่าวิชาทั้งสองเข้ากัน และส่งเสริมกันได้เป็นอย่างดีมาก
ติดต่อเรา
- สถานที่ : ถนน ปุณณกัณฑ์ ตำบล คอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ สงขลา 90110
- Facebook : Taifudo Academy – โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
- Instagram : taifudoacademy.official
- Tiktok : Taifudo Academy
- Twitter : Taifudo Academy
- Youtube : @taifudoacademy
- LINE : Taifudo Academy
- เบอร์โทร : 083 923 4204
- เว็บไซต์ : www.taifudo.com
- แผนที่ : Taifudo Academy