เมื่อสิงหาคมปี พ.ศ.2543 มีงานเกษตรภาคใต้ จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต หาดใหญ่ (ม.อ.) ผมได้เข้าชมงานและดูสินค้าทั้งนอกงานและในงาน พบซุ้มขายดาบก็เลยเข้าไปชมและขอจับเล่นดูตามประสาคนอยากรู้แต่ยังไม่มีความรู้ใดๆ มากนัก และคงเกิดความอยากได้ ดาบ ไว้ใช้ที่บ้านสักเล่ม แต่ก็ไม่มีเงินมากนัก จึงรอไว้ก่อนจนกระทั่งเกือบสิ้นสุดงานเกษตร
ช่วงวันสุดท้ายซุ้มต่างๆ ก็เริ่มเก็บของจึงเก็บรวมเงินได้ จากนั้นจึงตัดใจไปซุ้มดาบซึ่งกำลังเก็บของอยู่จึงขอซื้อดาบมายาวเจ็ดกำคือ วัดจากโคนดาบถึงปลายยาว 7 กำมือ (โดยประมาณ) ซึ่งเป็นดาบจากช่างอรัญญิกตอนนั้นก็รู้สึกว่ามีไว้วางโชว์ที่บ้านก็พอใจแล้วและในปี พ.ศ.2546 รู้จักเพื่อนๆ ทางเชียงใหม่ที่มีดาบเก่า และมีความรู้เรื่อง “ดาบ” จึงมักขอคำแนะนำ และไปขอแบ่งซื้อดาบเก่ามาหนึ่งเล่ม
ในช่วงปี พ.ศ.2546
ผมได้ซื้อดาบเก่ามาจากเพื่อนหนึ่งเล่มเมื่อมีเวลาว่างก็จะนั่งพิจารณาดาบ ดูฝักดาบและเมื่อดูบ่อยเข้าก็เริ่มหลงเสน่ห์ของดาบมากขึ้นคิดอะไรต่างๆ มากมาย คนใช้ดาบเล่มนี้เป็นใคร มีท่าดาบอย่างไร เคยผ่านการต่อสู้มาไหม บางครั้งคิดว่าหากเป็นไปได้ขอให้ฝันถึงเจ้าของดาบเล่มนี้เสียเลย และให้สอนวิธีใช้ดาบให้ประมาณว่า เพ้อเจ้อจะเรียนทางลัดให้ครูบาอาจารย์มาสอนในฝัน และทำให้สนใจดาบมากขึ้น เมื่อมีเวลาหรือมีโอกาสขึ้นทางเหนือก็จะขอความรู้ตลอดจนคำแนะนำ จากเพื่อนๆ ที่มีดาบ, ผู้ที่รู้เชิงดาบ, การฟ้อนดาบ ซึ่งก็จะได้รับคำแนะนำเป็นอย่างดี เมื่อเริ่มศึกษาและได้ชมดาบเก่าหลายๆเล่มก็เหมือนมีแรงดึงดูดหรือพลังบางอย่างจากดาบทำให้อยากมีและอยากได้ดาบ
ในช่วงปลายปี พ.ศ.2546 – ต้นปี พ.ศ.2547
ได้เชิญเพื่อนทางเหนือมา 2 ท่าน คือ ครูธนัญชัย มณีวรรณ (ครูแสบ), สล่าโอ พรชัย ตุ้ยดง มาช่วยวาดภาพในโรงยิมให้ในครั้งนี้สล่าโอได้พาตัวอย่างดาบที่ทำไว้ติดมาด้วย เมื่อชมก็สนใจทันทีจึงรบกวนสล่าโอ ขอให้ทำดาบคู่นี้ให้สมบูรณ์จะนำมาเป็นดาบครูคู่แรกขึ้นบวงสรวงครูใหญ่นเรศวร ในงานไหว้ครูปี พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นการเปิดโรงเรียนไทยหัตถยุทธ ซึ่งก็มีดาบเก่า 1 เล่ม และดาบสล่าโอมาขึ้นบูชาครูและภาพสวยๆ ที่ประดับบนกำแพงห้องฝึกได้ลายมือของช่างแสบ และสล่าโอจึงขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย หลังจากงานไหว้ครูปี พ.ศ.2547
เมื่อเห็นดาบก็ยังเกิดความชื่นชอบมากขึ้น จึงสั่งดาบเพิ่มอีกหนึ่งคู่เป็นดาบชะตา ประกอบกับเริ่มค้นคว้าเรื่องดาบมากขึ้น แต่เมื่อศึกษาไป ก็ยิ่งทำให้น่าทึ่ง ถึงความเป็นมาของดาบ วิธีการ ทำให้รู้ถึงคุณค่าของดาบในสยามเรา พยายามขอคำชี้แนะเมื่อพบคนที่มีความรู้เรื่องดาบและได้ขอเข้าพบ อ.นวรัตน์ เลขะกุล และขอคำแนะนำเพิ่มเติม ขอเข้าพบ อ.วิลักษณ์ ศรีป่าซาง เพื่อขอชมดาบของท่านเมื่อมีโอกาสขึ้นเชียงใหม่ เพื่อนๆที่เชียงใหม่ครูแสบ สล่าโอ ครูเซี่ยง
ผมมักรบกวนให้ช่วยพาไปพบพ่อครูต่างๆเพื่อขอความรู้เรื่องเชิงดาบและมีโอกาสเยี่ยมชมโรงตีดาบของช่างสล่าบุญตัน (โกเนี้ยว) ซึ่ง ณ ปัจจุบันท่านเป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้รับความนิยม ผู้ที่ต้องการดาบตลอดจนดาบซามูไรเองทางญี่ปุ่นได้เครดิตสั่งงานจากที่นี่ปีหนึ่งๆก็หลายเล่ม แต่นำเข้าไปขายในญี่ปุ่น(ทำในไทย, ฝีมือคนไทย ส่งขายญี่ปุ่นใช้ชื่อนอก) จอมยุทธท่านใดต้องการดาบซามูไรแล้วละก็ไม่ต้องไปหาช่างที่ไหนหรอกครับ อุดหนุนช่างสล่าบุญตัน คนนี้หละ ผมเคยชมฝีมือช่างสล่ามาแล้วครับ…
และในปี พ.ศ.2548
ก่อนงานไหว้ครูผมก็ได้ดาบชะตาของผมมาขึ้นบูชาครู และมีโอกาสงานพิธีพุทธาภิเษก ก็จะนำดาบเหล่านี้เข้าร่วมพิธีด้วยและครั้งสุดท้ายที่วัดเขาอ้อในถ้ำฉัททันต์ เมื่อเสร็จพิธีก็รอรับของกลับเป็นความบังเอิญและโชคดี อ.ประจวบ คงเหลือ ท่านเป็นผู้หยิบดาบและส่งให้ท่านก็ถามว่า “คืออะไร” ผมก็ตอบท่านว่า “ดาบครับ” และเปิดถุงให้ท่านดูดาบเล็กน้อย ท่านอาจารย์ประจวบก็เลยว่า “ไม่ได้รำดาบนานแล้ว หลังจากแต่งงานก็ไม่ได้จับอีกเลย” ผมก็ยิ้มรับและตอบท่านว่า “เหรอครับ” มีโอกาสจะมาขอคำชี้แนะจากครูนะครับ
ทุกวันนี้ยังไม่มีโอกาสไปพบท่านเลย ความจริงแล้วอยากจะเรียนไสยเวทย์จากท่านด้วย เสร็จก็เตรียมของขึ้นรถ กลับต้องขับรถกลับหาดใหญ่ (Hat Yai) แขวนไว้…ผมก็เริ่มสะสมและเก็บดาบเก่าไป พร้อมสั่งดาบใหม่แบบโบราณไปด้วย โดยได้รับคำแนะนำจากสล่าโอ ครูแสบ ครูกุ้ง
ผมได้คุยกับเพื่อนๆทางเหนือที่สะสมดาบ พวกเขาตั้งชื่อกลุ่มว่า “ชมรมคนรักดาบ” ผมว่าดีนะช่วยกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาใครมีโอกาสมีฐานะก็ช่วยกันเก็บดาบไว้ให้ผู้สนใจได้เข้ามาชมพูดคุยกัน จับต้องได้ แลกเปลี่ยนกัน ตาดู, หูฟัง, มือสัมผัส, ซักถามตอบ ดีกว่าดาบไปตกอยู่ต่างประเทศที่ไม่รู้คุณค่า แล้วก็ตีกลับมาขายเราคืนอีกต่อไป ศิลปะและสมบัติของชาติเราเองคงต้องไปชมยังต่างประเทศ ผมจึงขอร่วมวงไพบูรณ์ด้วย ตามกำลังทรัพย์ที่มีเก็บอะไรได้ก็ช่วยเก็บไว้ ทุกวันนี้ผม ยามว่างก็นั่งคุยกับเพื่อนๆ ลูกศิษย์ คุยโม้ให้ฟังเท่าที่มีความรู้อันน้อยนิด ก็เริ่มชักชวนหลายๆคนและก็มีหลายๆคนเริ่มสนใจ ในคารมปากของผมพลอยหลงเสน่ห์ดาบไปตามๆ กัน
ตอนนี้ทางยิมฯ (โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ) ที่ หาดใหญ่ (Hat Yai) ได้เป็นศูนย์รวมคนรักดาบกลุ่มเล็กๆ แต่ผมก็ต้องศึกษาต่อไป หากมีผู้รู้ท่านใดให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ รบกวนส่งข้อมูลมายังอีเมล์ taifudo@yahoo.com หรือโทร 083 923 4204 ได้นะครับ หากมีภาพประกอบยิ่งดี อนาคตผมอาจจะเปิดห้องอาวุธที่ยิมฯ ให้ชาวหาดใหญ่ (Hat Yai) และผู้สนใจให้มาชมกันแบบจับต้องได้ แต่ขอดูกำลังทรัพย์ของตนเองก่อนนะครับ (คงต้องค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ครับ)
ผมพยายามหาจุดลากให้เข้าเรื่อง ที่ต้องการแต่เขียนไปเขียนมาอ้อมแม่น้ำทุกทีเลย ตอนที่ 1 เขียนเกริ่นเรื่องดาบที่ขึ้นในงานไหว้ครูไทฟูโดปี พ.ศ.2548 ผมเองเพิ่งมาศึกษาดาบจริงจังก็เพียง 5 ปีนี้เอง และก็ได้เพื่อนทางเหนือ คอยให้คำแนะนำ ตอนนี้ก็หลงเสน่ห์ของดาบไปแล้ว ครบองค์ 4 รัก, โลภ, โกรธ, หลง เพื่อนที่เป็นนักสะสม ไม่ว่าสะสมอะไรก็ตาม เช่น ของเก่า, แสตมป์, พระเครื่อง ฯลฯ คงเข้าใจอารมณ์นะครับ
เชิงศิลปะการป้องกันตัวทางเหนือ
ตอนนี้เราจะมาว่ากันด้วยเชิงศิลปะการป้องกันตัวทางเหนือ ผมเคยศึกษาอยู่ ม.พายัพ จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531-2534 จนไปทำงานที่ญี่ปุ่นกลับมายังไม่มีความสนใจในศิลปะทางเหนือ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2537 ได้กลับมาอยู่เชียงใหม่อีกครั้ง ในครั้งนี้มีโอกาสพบเพื่อน 2 คน คือ คุณฉัตรณรงค์ (หนานเสี้ยง) และคุณธนัญชัย (ครูแสบ) ได้นั่งพูดคุยเรื่องศิลปะจึงรบกวนให้ครูแสบช่วยสาธิต เมื่อดูแล้วเห็นการเดินเท้ารู้สึกชอบมากจึงได้สอบถามทั้ง 2 คนว่า พ่อครูผู้สอนยังมีชีวิตอยู่ไหม? เมื่อทราบว่าพ่อครูยังมีชีวิตอยู่และอายุมากแล้ว จึงรบกวนให้หนานเสี้ยงพาไปหาพ่อครูหน่อย
หนานเสี้ยงได้พาไปยังสันกำแพง ตามถนนใหญ่ เข้าถนนย่อย และจนถึงถนนดินลูกรัง ผ่านทุ่งนา และหลุมเล็กหลุมน้อยต่างๆ จริงๆแล้วก็ไม่มากนัก แต่สภาพรถเก๋งคงไม่ค่อยเหมาะนักถ้าเข้าไปขับในทางเช่นนั้น จนถึงหน้าบ้านของพ่อครู ซึ่งมีต้นไผ่กอใหญ่อยู่หน้าบ้าน
เมื่อลงจากรถเดินเข้าไปอีกหน่อย หนานเสี้ยงก็ยืนหน้าบ้านแล้วถามออกไปว่า “พ่อครูอยู่ก่อครับ” สักครู่มีผู้หญิงสูงอายุ ออกมาบอกว่าอยู่ให้รอสักครู่ เราก็ยืนรอ มองดูซ้าย,ดูขวา สังเกตโน่นนี่ สักพักก็มีชายผู้สูงอายุร่างเล็ก ผอมบาง ผมขาว หลังโก่งโค้งเล็กน้อย ใส่กางเกงขาสั้น เสื้อม่อฮ่อม แต่สิ่งที่พิเศษคือฝ่าเท้าที่ใหญ่มากสำหรับคนรูปร่างเล็ก พอเข้ามาใกล้ หนานเสี้ยงก็แนะนำให้รู้จักว่าท่านคือ พ่อครูคำสุข ช่างสาร พ่อครูก็คุยกับหนานเสี้ยงครู่หนึ่งแบบคนไม่ได้พบกันนาน เราจึงเข้าไปนั่งคุยที่ซุ้มข้างๆมีต้นไม้หลากหลาย โดยเฉพาะต้นหนวดฤาษี ยาวเป็นม่านย้อย สวยงามมาก
เมื่อได้สัมผัสพ่อครู ก็รู้ได้ทันทีว่าท่านเป็นคนมีเมตตา ยิ้มแย้มแจ่มใส ผมจึงบอกความตั้งใจของผม เมื่อท่านทราบความประสงค์ ท่านก็ลุกจากที่นั่ง (โดยที่ท่านไม่มีสีหน้าครุ่นคิดใดๆ) เข้ามาจับข้อมือซ้ายผม แล้วจูงไปตรงลานดินบริเวณหน้าบ้าน พ่อครูบอกให้หนานเสี้ยงช่วยไปเอากระป๋องน้ำมา เอาน้ำหยอดลงบนพื้นเป็น 12 ตำแหน่ง พ่อครูก็ถามหนานเสี้ยงว่าจำได้มั้ย หนานเสี้ยงก็ลองเดินดู หลังจากนั้นพ่อครูก็ไปหยิบไม้ไผ่มา 3 อัน พ่อครูเข้าตีพลองกับหนานเสี้ยง ด้วยขุม 12
พ่อครูคำสุขก็จะให้หัดเดินเท้าก่อน แรกเริ่มที่ผมฝึกก็ คือขุม 12 พร้อมการตีไม้พลอง (ทางเหนือเรียกว่า ไม้ฆ้อน 2 หัว) หัดฝึกเข้าคู่กับหนานเสี้ยง จากนั้นก็ให้ผมลองตีพลองกับหนานเสี้ยงดู หลังจากนั้นก็เป็นขุม 16 เมื่อเสร็จ เวลาก็ใกล้ 4 โมงเย็นผมจึงขอลากลับ
โดยตอนแรกจะมาใหม่ในครั้งหน้าด้วยว่าผมมีชั่วโมงสอนในเมืองช่วงเย็น แต่พ่อครูเครื่องติดแล้วครับ พ่อครูบอกว่า “อีกขุมนึงนะ ขุม 17” ผมจึง ฝึกต่อขุม 17 เมื่อเสร็จจึงขอลากลับ และรบกวนพ่อครูขอไม้ไผ่กลับไปฝึกฝนด้วย พ่อครูจึงพามาหน้าทางเข้าบ้าน ที่มีกอไผ่อยู่ และท่านก็ตัดให้ แยกเป็น 2 ท่อน ทุกวันนี้ผมก็ได้นำกลับมาใช้อยู่ ไว้ซ้อมเองอันหนึ่ง และอีกอันหนึ่งทำเป็นไม้ครูครับ
เมื่อพูดถึงพ่อครูคำสุข ช่างสาร
ก็คงต้องกล่าวถึงความเป็นมาพอสังเขป เพราะผมเองก็ได้รู้จากการบอกเล่าของเพื่อนชาวเหนือ และเอกสารที่มีอันน้อยนิด แต่เพื่อนชาวเวบจะได้มีข้อมูลเบื้องต้น เป็นแนวทางในการทำความเข้าใจและช่วยกันศึกษาค้นคว้าต่อ และหากมีผู้ทรงความรู้ได้โปรดส่งข้อมูลเข้ามาเป็นวิทยาทานได้ครับ จะได้ช่วยกันเผยแพร่ความรู้
ศิลปะการต่อสู้ของทางล้านนา และการต่อสู้ของไทใหญ่ มีมานานไม่น้อยกว่า 400 ปี และมีการสันนิษฐานเรื่อง “เจิง” คงได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีน เพราะมีความคล้ายคลึงกันมาก เช่นเดียวกับเจิงเมือง ก็อาจจะได้รับอิทธิพลสายวัฒนธรรมจีนมาเช่นกัน ทั้งนี้อาจได้รับโดยตรงในอดีต และได้รับผ่านทางชาวไทใหญ่ แต่เจิงที่คนเมืองได้รับก็มีการนำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับบุคคลิกและอุปนิสัยของคนเมือง จึงทำให้มีรูปแบบที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว ที่ต่างไปจากรูปแบบเดิม
“เจิง” มีลีลาอ่อนช้อยสัมพันธ์กับทุกส่วนของร่างกาย มีลูกเล่น ลูกล่อ เช่น ตบมะผาบ ซึ่งมีผลทางด้านจิตวิทยา คือเป็นการยั่วยุให้ศัตรูเกิดโทสะ ฯลฯ มีการปรับแต่งให้มีความสวยงามและใช้แสดง การฝึกจะเริ่มจากการเดินผังเท้า ที่เรียกกันว่าขุม หรือขุมเชิง การเดินเท้าต้องเดินตามขุม ทั้งในจังหวะรุก และจังหวะรับ พร้อมกันนั้นการวาดมือออกไป ไม่ว่าจะมีอาวุธหรือไม่มีอาวุธก็ต้องให้สัมพันธ์กันกับมือและเท้าที่เดินขุม สำหรับการเดินก็ขึ้นอยู่กับครูแต่ละท่านว่ามีเชิงขุมมากน้อยอย่างไรบ้าง