Taifudo Academy

บทที่ 10 ทิก๋วยลี้ฉายาเซียนไม้เท้าเหล็ก

บทที่ 10 ทิก๋วยลี้ฉายาเซียนไม้เท้าเหล็ก
taifudo book10 (Web V)

ในปี พ.ศ.2532 ขณะนั้นผมยังฝึกมวยจีนที่สำนักลิ่วเหอกับหมอน้อย หมอน้อยมีชื่อเสียงทางด้านรักษากระดูก เส้นเอ็นแบบแผนจีนโบราณทั้งยังเป็นครูสอนมวยจีน อยู่ที่ในเมืองเชียงใหม่มานานแล้ว (หมอน้อยให้ผมเรียกท่านว่า “พี่น้อย” แทนคำว่าหมอน้อยหรืออาจารย์น้อย) เวลาหนึ่งทุ่มถึงสามทุ่มของทุกวันอาจารย์น้อยนัดผมให้ไปฝึกมวยจีนที่บ้านพี่บูลย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักลิ่วเหอ พี่บูลย์นั่งบนรถเข็นเพราะเคยประสบอุบัติเหตุขาพิการ คนนำฝึกคือพี่ชุม ทั้งสองคนเป็นศิษย์น้องของอาจารย์น้อย ทั้งหมดเรียนมวยจีนมาจากอาจารย์ก๋วยเส็ง เมื่อเวลาสามทุ่มผมฝึกมวยจากสำนักลิ่วเหอเสร็จ ผมก็ไปฝึกต่อที่บ้านอาจารย์น้อยต่ออีก ต่อมาอาจารย์น้อยชวนอาจารย์โจ เหล่าวาง (อาจารย์โจบอกว่า ท่านเป็นชาวมูเซอดำ มีอาชีพพ่อค้าคาราวานเพชรพลอยบนดอย) มาร่วมกันทำ สำนักมวยจีน กับสำนักลิ่วเหอของ อาจารย์น้อยและตกลงใช้ชื่อว่า สำนักมวยจีนมังกรธิเบต อาจารย์โจมีทักษะ มวยจีน เป็นที่ยอมรับว่าแข็งแรง ดุดัน ทำให้ผมได้ฝึก มวยจีน กับอาจารย์น้อย และมีอาจารย์โจเข้ามาที่สำนัก (บ้านพี่บูลย์) เพื่อมาถ่ายทอดมวยจีนให้พวกเราเพิ่มเติมอีก

ในปี พ.ศ.2532 นั้นผมเรียนอยู่ชั้นปี 2 คณะบริหารธุรกิจสาขาวิชาการจัดการโรงแรม และการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยพายัพจังหวัดเชียงใหม่ ผมทำเรื่องกับทางฝ่ายกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเพื่อขอจัดตั้งชมรมศิลปะป้องกัน ตัวขึ้น มีคนสนใจ และสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกในครั้งแรกจำนวน 100 กว่าคน ผมขอตั้งชมรมและใช้ชื่อชมรมในครั้ง แรกว่า “ชมรมศิลปะป้องกันตัวโด” ภายหลังไม่นานผมก็เปลี่ยนชื่อชมรมมาเป็นชมรมศิลปะป้องกันตัวไทฟูโด โดยคิด ตั้งชื่อแบบง่ายๆ ขึ้นในตอนนั้นเพื่อให้ออกเสียงโดยมีนัยให้พอเข้าใจได้ว่าผมผู้ก่อตั้งชมรมและผู้นำฝึกซ้อมมีทักษะ มวยไทย (ฝึกกับครูทอง เชื้อไชยา) กังฟู (สำนักลิ่วเหอ และสำนักมวยจีนมังกรธิเบต) และคาราเต้โด (ชมรมคาราเต้ โด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย) รวมถึงเทควันโด (ฝึกกับอาจารย์กฤช วรธำรงค์) ด้วยการก่อตั้งศิลปะป้องกันตัวชื่อ “ไทฟูโด” จึงได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2532 ที่มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่

ในวันแรกที่เปิดชมรมศิลปะป้องกันตัวไทฟูโด ผมเชิญอาจารย์โจ เหล่าวาง มาเป็นเกียรติด้วย ในครั้งนั้น อาจารย์โจเดินไปที่ต้นฉำฉา (จามจุรีแดง) (ก้ามปู) หน้ามหาวิทยาลัยพายัพเพื่อโชว์การส่งพลังกระแทกสั้นๆ ไปยัง ฝ่ามือทั้งสองที่แตะอยู่ที่ลำต้นของต้นฉำฉาขนาดใหญ่ พลังกระแทกนั้นทำให้กิ่งไม้แห้งๆ และผุที่ยังคาติดอยู่กับต้นพากันร่วงลงมาจำนวนมาก เหล่าสมาชิกที่ได้ชมพากันทึ่งในพลังของอาจารย์โจ เมื่อชมรมเปิดให้มีการฝึกซ้อมก็มีสมาชิก มาฝึกอย่างสม่ำเสมอราว 30 กว่าคน โดยผมเป็นผู้นำฝึกซ้อมทักษะมวยให้กับสมาชิกในชมรม ทักษะที่ผมนำมาให้สมาชิกในชมรมฝึกในช่วงแรกนั้นมีรูปแบบทักษะการออกหมัดชกแบบคาราเต้ ท่าเตะแบบทั้งคาราเต้และเทควันโด รวมถึงฝึกทักษะการทุ่มของยูโดเป็นหลัก ส่วนทักษะอื่นๆ ที่ผมเคยฝึกมา ผมก็ยังฝึกซ้อมด้วยตัวเอง มวยจีน ผมก็ยังคงฝึกที่สำนัก ตามเวลาปกติ

ต่อมามีการจัดงานพิธีไหว้ครูของ “สำนักมวยจีน มังกรธิเบต” ที่บ้านพี่บูลย์ขึ้น อาจารย์โจบอกชื่อมวย และอาวุธต่างๆ ที่สามารถถ่ายทอดได้ให้พวกเราเลือกว่าจะเรียนอะไร อาจารย์โจให้เลือกคนละสองอย่าง ผมเลือกมวยเตะทิก๋วยลี้และพลองผู้เฒ่า เมื่อทำพิธีไหว้ปรามาจารย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว อาจารย์โจเรียกให้ผมมาเป็นหุ่นเพื่อสาธิตการเข้า ท่าและใช้ท่ามวยต่างๆ จนเมื่อขณะที่ผมอยู่ในท่านั่งชันเข่าด้านขาขวา ด้านขาซ้ายเข่าแตะพื้นและจิกจมูกเท้าลงพื้นส้นเท้าตั้งขี้น อาจารย์โจยืนอยู่ด้านหลังผมพร้อมกล่าวสั้นๆ เพียงว่า “ถ้าจะเรียนมวยเตะทิก๋วยลี้ งั้นขอแลกเท้าเทฯ แล้วกัน” (อาจารย์โจทราบว่าผมฝึกเทควันโดมาแล้ว) พูดจบก็เหยียบกระแทกไปยังส้นเท้าซ้าย เสียงกระดูกเท้าด้านนอก หักดังเป๊าะ! สีหน้าผมเรียบเฉยไม่มีเสียงร้องซักแอะ ได้ยินแต่เสียงอาจารย์น้อยเร่งโขลกตำยาเพื่อใช้พอกรักษาให้ผมเมื่อการสาธิตเสร็จสิ้นลง ผมเดินด้วยขาขวาได้ปกติ ส่วนด้านขาซ้ายผมต้องใช้นิ้วโป้งเท้าจิกเพื่อรับน้ำหนักแทน ผมเดินกะเผลกอย่างคนที่ขาพิการไม่ปกติแบบนั้นราวกว่าสามเดือน

ภาพ : เทพ 8 องค์ ผู้อำนวยโชคลาภและความร่ำรวย แปดเซียน หรือ โป๊ยเซียน

เทพ 8 องค์ ผู้อำนวยโชคลาภและความร่ำรวย แปดเซียน หรือ โป๊ยเซียน มีนามว่า

  1. ทิก๋วยลี้ เซียนแห่งยาและการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
  2. ฮั่นเจงหลี เซียนแห่งโชคลาภ การบริการ การปกครอง
  3. ลื่อทงบิน เซียนแห่งการรักษาโรค
  4. เจียงกั๋วเล้า เซียนแห่งความมั่นคง อายุยืน สุขภาพดี
  5. น่าใช้หัว เซียนแห่งมวลบุปผาชาติ ความอุดมสมบูรณ์
  6. นางฮ่งเซียนไกว เซียนแห่งความดีงาม ความซื่อสัตย์
  7. ฮั่นเซียงจื้อ เซียนพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และการดนตรี
  8. เช่าก๊กกู่ เซียนแห่งยศฐาบรรดาศักดิ์

ทิก๋วยลี้ เซียนแห่งยาและการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ภาษาจีนแต้จิ๋ว : ทิก๋วยลี้ | ภาษาจีนกลาง : หลี่เถียไกว่

  • 李 = Lǐ อ่านว่า หลี่ เป็นแซ่หนึ่งของชาวจีน ทั้งยังเป็น ชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่ง มีผลกินได้ ฝรั่งเรียกว่า “plum” มีรสชาติหวาน อมเปรี้ยว
  • 铁 = Tiě อ่านว่า เถี่ย แปลว่า เหล็ก
  • 拐 = Guǎi อ่านว่า ไกว่ แปลว่า ไม้ค้ำ, ไม้เท้า

ตำนานได้กล่าวไว้ว่าถือกำเนิดเมื่อวันที่ 10 ค่ำ เดือน 7 ตามจันทรคติจีน ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ระหว่าง พ.ศ. 341 – พ.ศ.535 เป็นคนแซ่หลี่ ชื่อตัวว่าหนิงเอี๋ยงหรือหงซุ่ยหรือหลี่เชวียนหลี่เชวียนเป็นคนหนุ่มที่มีรูปร่างคมสัน สติปัญญาเฉลียวฉลาด ชอบถือศีลกินเจ และบำเพ็ญเพียรเป็นประจำ หลี่เชวียนรำพึงว่า “ตนเราเกิดมาแล้วต้องตาย ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า ความอยากคือดาบอันคมกริบที่คอยตัดรอนธรรมอันบริสุทธิ์อยู่เสมอ ลาภยศทรัพย์สินเงินทองเป็นยาพิษ คอยเบื่อให้จิตใจหลงเมามัว ถึงแม้จะเป็นฮ่องเต้ มีอาณาจักรกว้างใหญ่ทั้งสี่ทิศ ก็เหมือนกับก้อนเมฆลอยอยู่นอกดวงจันทร์เท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของไม่เที่ยง เหตุใดหนอมนุษย์จึงไม่พิจารณา กลับปล่อยให้จิตใจจมปลักอยู่กับโลกียธรรมที่ผูกมัดอยู่เป็นปีที่ล่วงไป ไม่น่าหลงอยู่กับวัฏจักรเหล่านี้เลย”

เมื่อหลี่เชวียนคิดได้ดั่งนี้ เขาจึงออกธุดงค์เข้าป่าเขาไปตามถ้ำ ตลอดจนตามศาลเจ้าโรงเจ แต่ก็ยังไม่สำเร็จมรรคผล เพราะไม่มีอาจารย์ชี้แนะ หลี่เชวียนจึงเดินทางไปยังสำนักไท่ซังเล่าจุนที่ภูเขาหัวซาน ซึ่งเป็นภูเขา สูงเทียมเมฆเต็มไปด้วยต้นสนสูงหลายคนโอบ ยามเย็นมีเมฆลอยมาสัมผัสยอดเขาจนทำให้เกิดรังสีสายรุ้งสลับสวยงาม หลี่เชวียนเดินชมป่าเขามาจนมืดค่ำ รุ่งเช้า ไท่ซังเล่าจุน เจ้าสำนักนั่งสนทนากับอวนคูเซียนภายในถ้ำสำนัก ได้กลิ่นดอกไม้หอมโชยเข้าไปมากกว่าทุกวัน จึงตรวจดูบัญชีเซียน รู้ว่าหลี่เชวียนอยู่ปากถ้ำซึ่งจะได้เป็นเซียนทิก๋วยลี้ในไม่ช้า จึงให้ศิษย์ออกไปเชิญเข้ามา
สนทนา หลี่เชวียนฝากตนเป็นศิษย์ศึกษาคำสอน ไท่ซังเล่าจุนกล่าวว่า “จงพยายามสงบอารมณ์ ร่างกายจึงจะสงบ เมื่อร่างกายและอารมณ์สงบแล้ว กามราคะก็ไม่เกิด กิเลสก็จะหมดไป จิตวิญญาณก็จะผ่องใสสะอาดบริสุทธิ์ยิ่งกว่าสำลี ทำให้ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย”

หลี่เชวียนจึงกลับมาปฏิบัติบำเพ็ญเพียรที่สำนักของตนตามโอวาทของ ไท่ซังเล่าจุน จนสำเร็จญาณสามารถถอดวิญญาณออกไปท่องเที่ยวได้ คนที่สนใจสมัครมาเป็นศิษย์หลายคน ข้างไท่ซังเล่าจุนกับอวนคูเซียนขี่นกกระเรียนมาบนยอดเขา นัดกับหลี่เชวียนจะไปท่องเที่ยวตามถ้ำพืดเขาเทียนซานทางภาคตะวันตก หลี่เชวียนจึงให้เย่จื่อศิษย์เฝ้าร่างตนไว้พร้อมกับสั่งว่า หากครบเจ็ดวันแล้วตนไม่มาให้เผาร่างนี้เสีย ว่าแล้วหลี่เชวียนก็ถอดวิญญาณออกจากร่างไปหาสองเซียนตามที่นัดกันไว้ พอถึงวันที่หก ทางบ้านบอกเย่จื่อว่ามารดาเจ็บหนักเย่จื่อคิดหนักว่าจะรักษาพยาบาลมารดาดีหรือเฝ้าร่างของอาจารย์ดี จึงปรึกษากับเพื่อนศิษย์ด้วยกันว่าจะทำอย่างใดดี เมื่อความคิดที่ว่า อาจารย์สั่งสอนศิษย์เมื่อโตใหญ่ แต่มารดาสั่งสอนตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ จะเอาบุญคุณของอาจารย์กับมารดามาเทียบกันคงไม่ได้ ถ้าทิ้งร่างอาจารย์ก็เป็นแต่ผิดสัญญา แต่ถ้าไม่ไปรักษาพยาบาลมารดาก็จะกลายเป็นคนอกตัญญู เมื่อคิดได้ดังนี้จึงจัดการเผาศพของอาจารย์แล้วรีบกลับไปบ้าน แต่มารดาถึงแก่กรรมเสียก่อน

ฝ่ายไท่ซังเล่าจุนกับอวนคูเซียนต่างนำวิญญาณหลี่เชวียนท่องไปตามสำนักเซียนที่ภูเขาเทียนซาน 36 สำนัก เพื่อให้หลี่เชวียนศึกษาปฏิบัติทางเวทมนตร์และสมาธิทุกสำนัก กล่าวกันว่า หลี่เซียนได้ศึกษาเวทมนตร์กับเทพเจ้าซื่อหวังมู่ และเล่าจื่อปรมาจารย์แห่งลัทธิเต๋าด้วย เมื่อครบ ๗ วันแล้วทำให้หลี่เชวียนร้อนใจเรื่องร่างของตน จึงลาอาจารย์มาที่โรงเจ ไม่พบร่างกาย ของตน มีแต่กระดูกยังติดไฟกรุ่นอยู่จึงรู้แจ้งชัดแล้ว วิญญาณจึงล่องลอยไปยังเชิงเขาแห่งหนึ่ง เห็นศพขอทานเพิ่งตาย น่าตาน่าเกลียด ผมเผ้ารุงรัง ขาพิการข้างหนึ่ง มีไม้เท้าและถุงข้าวสารวางอยู่ข้างศพ เขาไม่มีทางเลือกจึงตัดสินใจเข้าสิงศพขอทาน จึงกลับฟื้นขึ้น เวทมนตร์คาถาศักดิ์สิทธิ์ตื่นทันทีด้วยมีร่างกายอาศัย เขาจึงเสกไม้เท้าให้เป็นเหล็ก ถุงข้าวสารเป็นน้ำเต้า แล้วกลับไปหาเย่จื่อ เสกมารดาเย่จื่อที่ตายไปให้ฟื้นขึ้น ต่างเล่าให้ฟังซึ่งกันและกันถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ทิก๋วยลี้ให้ยาวิเศษแก่เย่จื่อหนึ่งเม็ดทำให้ร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บไม่ป่วย ทำมาหาเลี้ยงมารดาจนสิ้นอายุขัย แล้วตนจึงไปบำเพ็ญเพียรที่สำนักเก่าของทิก๋วยลี้จนสำเร็จเป็นเซียน ทิก๋วยลี้จึงกลับมานำเย่จื่อไปอยู่ในสำนักเซียนเดียวกัน

ท่าเตะทิก๋วยลี้คืออะไร?

อาจารย์โจบอกว่าผมฝึกท่าเตะจากที่ฝึกเทควันโดมาแล้ว ส่วนท่าเตะทิก๋วยลี้คือหลักการที่คนมักประมาทคิดว่าขาด้านที่พิการจะไม่มีแรงหรือใช้งานไม่ได้ เมื่อผมถูกหักกระดูกเท้าทำให้พิการแบบเฉพาะกิจ ต้องบังคับใช้นิ้วโป้งเท้าเพื่อจิกพื้นรับน้ำหนักเวลาเดินลักษณะเหมือนขาพิการอย่างเซียนทิก๋วยลี้

เวลานานกว่าสามเดือนแล้ว นิ้วโป้งเท้าผมถูกใช้งานจนแข็งแรงกว่าปกติ เมื่อยกเหวี่ยงเท้าที่เหมือนพิการ เตะเหมือนไม่ตั้งใจใส่แรง แต่เมื่อส่งพลังไปยังนิ้วโป้งเท้าท่าเตะจิกไปยังจุดเป้าหมาย การโจมตีนั้นมีประสิทธิภาพ และรุนแรงมากขึ้น เป็นอันว่าผมได้ฝึกวิชามวยเตะทิก๋วยลี้จากอาจารย์โจ สมดังที่ตั้งใจอยากฝึก ส่วนอาจารย์โจก็ได้หักกระดูกเท้าผมโดยไม่รอฟังคำยินยอมเพื่อทดสอบจิตใจก่อนจะยอมถ่ายทอดเพลงเตะจิกให้

แหล่งอ้างอิง

ติดต่อเรา

บทความและข่าวสารอื่นๆ

Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หลานไฉ่เหอ (藍采和; แต้จิ๋ว: น่าไชหัว, ฮกเกี้ยน: หน่าไฉฮัม) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนผู้เ...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หานเซียงจื่อ (韓湘子; ฮกเกี้ยน: ฮั้นเจียวจู้) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนแห่งลัทธิเต๋า ผู้ม...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
หลี่เถียไกว่ (李鐵拐; กวางตุ้ง: เหล่ยทิดกวาย, แต้จิ๋ว: ลี้ทิก๋วย, ฮกเกี้ยน: ลี่ทิกุย) หรือที่รู้จักในชื...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
เหอเซียนกู (何仙姑; แต้จิ๋ว: ฮ่อเซียนโกว, ฮกเกี้ยน: เฮอเซียนก๊อ) หรือที่รู้จักในชื่อ “นางฟ้าเหอ&#...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
ลฺหวี่ ต้งปิน (呂洞賓; แต้จิ๋ว: ลือท่งปิน, ฮกเกี้ยน: ลีตงปิ่น) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซียนใ...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
จงหลีเฉฺวียน (鐘离權; กวางตุ้ง: จงสิดขือ, ฮกเกี้ยน: เจี๋ยงตีควน) เป็นหนึ่งใน โป๊ยเซียน (八仙) หรือแปดเซีย...