ในสมัย 20-30 ปีก่อน หากเราถามถึงผู้ชำนาญวิทยายุทธจีนในไทย หนึ่งในผู้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในฝีมือด้านการใช้วิทยายุทธจีนก็คงจะไม่พ้น อาจารย์ประมวล ภูมิอมร หรืออาจารย์โค้ว ครูมวยไท่เก๊ก ตระกูลหยางสายเจิ้งมั่นชิงและมวยตั๊กแตนใต้
ปัจจุบัน ผู้ที่สืบทอดหลักวิชาและทักษะของท่านได้จนเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิทยายุทธรุ่นปัจจุบันนี้ ก็คือ อาจารย์ชีวิน อัจฉริยะฉาย หรือที่คนในวงการวิทยายุทธทั้งจีนทั้งไทยเรียกว่า “พี่ต๊ะ”
ผู้เขียนได้ยินชื่อพี่ต๊ะมาเป็นระยะเวลานาน น่าจะช่วงที่พี่ต๊ะเพิ่งเริ่มตั้งไทฟูโดในช่วงแรก และได้รับรู้ข่าวสารผ่านศิษย์น้องของพี่ต๊ะอยู่ตลอด จนปัจจุบันนี้ไทฟูโดเปิดมาได้ 27 ปีแล้ว ผู้เขียนจึงได้มีโอกาสพบพี่ต๊ะอย่างเป็นทางการครั้งแรก เดิมทีบทความนี้จะเป็นการถอดเทปจากการสนทนา แต่เนื่องจากวันที่ผู้เขียนไปสัมภาษณ์ ได้พาศิษย์น้องของพี่ต๊ะไปด้วย ด้วยความที่พี่น้องไม่ได้เจอกันนาน การสัมภาษณ์เลยกลายเป็นการฝึกฝนปนกับการพูดคุยไปแทน ซึ่งก็ได้อรรถรสไปอีกแบบ วันนั้น ผู้เขียนก็ได้มีโอกาสเปิดหูเปิดตาเห็น “เท้าไร้เงา” อันลือชื่อของหวงเฟยหงเป็นครั้งแรก
พี่ต๊ะได้เล่าประวัติส่วนตัวให้ฟังสั้นๆ ว่า หัดศิลปะการต่อสู้เพียงเพราะว่าเมื่อตอนเด็กๆ โดนรังแก เลยอยากมีวิชาไว้ป้องกันตัว เมื่อเรียนวิชาหนึ่งแล้ว เห็นวิชาอื่นซึ่งมีข้อดีที่แตกต่างจากวิชาที่เรียน ก็อยากเรียนเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ เลยเปิดใจศึกษาวิทยายุทธแทบจะทุกสำนักที่หาได้ จนเมื่อคิดจะประกอบอาชีพก็รู้สึกว่า จิตใจมีความรักในวิชามวยมากเสียจน ถ้าไปทำอาชีพอย่างอื่นแล้ว นานวันไปก็คงจะไม่มีเวลาอยู่กับสิ่งที่เรารัก เหมือนผู้ฝึกมวยและรักมวยหลายท่านที่พอทำงานก็ไม่มีเวลาให้กับมวย พี่ต๊ะจึงตัดสินใจใช้การสอนวิทยายุทธเป็นอาชีพหลักมาจนถึงทุกวันนี้ สำนักไทฟูโด จึงได้ถือกำเนิดเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2532 ที่จังหวัดเชียงใหม่
จุดหักเหอีกจุดในการที่พี่ต๊ะอยากจะเก็บสะสมมวยจีนทั้งหลายเอาไว้ที่ตัวเอง เพื่อให้ตัวเองเป็น ห้องสมุดวิทยายุทธ นั้น พี่ต๊ะเล่าว่า เมื่อครั้งที่ได้มีโอกาสเจอพ่อครูคำสุข ช่างสาร (ครูสอนเจิงล้านนาที่มีชื่อเสียงทางภาคเหนือ) แต่โชคร้าย ได้เรียนกับท่านไม่นานท่านก็ได้เสียชีวิตลง ความเสียดายวิชาความรู้ของพ่อครู กับความรู้สึกเสียดายโอกาสอันดี จึงทำให้พี่ต๊ะได้พยายามเก็บสะสมความรู้ด้านวิทยายุทธจีนทุกชนิดเท่าที่พอจะเรียนได้ เพื่อถ่ายทอดต่อให้ผู้ที่สนใจต่อไป พี่ต๊ะจึงได้เป็นสมาชิกของสมาคมจิงอู่ เพื่อสืบทอดวิชาต่างๆ ที่สมาคมได้เก็บเอาไว้เพื่อมาถ่ายทอดให้กับทางไทยอีกต่อหนึ่ง
วิชาที่น่าสนใจของพี่ต๊ะ ในความเห็นของผู้เขียน นอกจากวิชามวยไท่เก๊กของท่านอาจารย์โค้ว (ซึ่งพี่ต๊ะเป็นที่ยอมรับในหมู่ศิษย์อาจารย์โค้วว่า ได้ “มืออาจารย์โค้ว”ติดมามากที่สุด) คือ วิชามวยจีนใต้ที่พี่ต๊ะได้ค้นคว้าและตามเก็บมาอย่างมากมาย อาทิ มวยตั๊กแตนใต้ , มวยหง(ซีกวน) , มวยหย่งชุนสายยิปกิ่น(ไม่ได้เกี่ยวดองอะไรกับยิปมัน) ซึ่งเป็นมวยหย่งชุนที่ผู้เขียนดูแล้วรู้สึกว่า เว่ยเต้า(味道 – บุคลิกลักษณะ)ของมวยใกล้เคียงกับปากั้วจ่างสายกงเป่าเถียนของสำนักอู่ถาน จนหลายครั้งอดนึกไม่ได้ว่า มวยสองสายนี้ แม้จะห่างไกลกันเป็นเหนือเป็นใต้ แต่จริงๆ แล้วอาจมีอะไรเกี่ยวข้องกันหรือไม่
พี่ต๊ะได้แบ่งปันประสบการณ์ในการสอนมวยไว้ว่า ในสมัยก่อนด้วยความเกรียนและอยากแสดงความเหนือต่ออีกฝ่าย ในบางครั้งที่มีการลองกัน จึงไม่รู้จักคำว่า ยั้งมือหรือไว้หน้า กล่าวคือมักจะทำให้หนักให้อีกฝ่ายรู้สึกกลัว แต่เมื่อล่วงกาลผ่านเวลามามากเข้า ฝีมือและการฝึกฝนตนเองที่สูงขึ้นกลับทำให้ความคิดของพี่ต๊ะเปลี่ยนไปเป็น เมื่อได้มีโอกาสลองวิชากับใครนั้น การแสดงฝีมือกลับกลายเป็นอยู่ในขอบเขตที่ว่า จะทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่า เรามีกลยุทธหรือความสามารถอะไรที่เหนือกว่า จนอีกฝ่ายเข้าทำเราไม่ได้ แต่เราสามารถคุมและตามการเคลื่อนไหวเขาได้ โดยที่เขาไม่เจ็บตัว เจ็บใจ หรือเสียหน้า
ซึ่งตรงนี้ ผู้เขียน เห็นว่า ครูมวยทุกท่านควรถือเป็นเยี่ยงอย่าง เพราะการที่คนที่เป็นมวย ฝึกฝนมานานกว่าจนเป็นถึงอาจารย์ แสดงกำลังให้กับคนที่มาเรียน หรือ มาลอง(ด้วยความสุภาพอยากศึกษา) ให้เขาเจ็บตัวจนกลัว ไม่ใช่วิธีการที่ดีในยุคสมัยนี้สักเท่าไร เพราะครูมวยผู้นั้น สุดท้ายแล้วก็จะได้ลูกศิษย์แบบที่นิยมวิธีการคล้ายๆ กับตนเองมาอยู่ใกล้ๆ เช่นกัน ซึ่งในระยะยาวเป็นการก่อปัญหาให้กับสำนักและวิชามากกว่าจะช่วยสร้างสรรค์และเผยแผ่ต่อไปในอนาคต
ในส่วนของความคาดหวังในวงการวิทยายุทธ พี่ต๊ะอยากเห็นการมีสมาคมวิทยายุทธจีนระบบดั้งเดิมขึ้นมาในประเทศไทย โดยอยากให้มีการจัดกิจกรรมเผยแผ่ ให้ความรู้ ออกใบรับรอง เพื่อให้มาตรฐานวิทยายุทธจีนในไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ในส่วนของสิ่งที่พี่ต๊ะอยากจะฝากให้กับผู้เริ่มต้นฝึกวิทยายุทธยุทธทุกคน นั่นคือ แม้จะฝึกมวยภายในก็ตาม ก็อย่าทิ้งพละกำลังและการฝึกภายนอก โดยเฉพาะคนที่ยังหนุ่มแน่น เพราะร่างกายที่แข็งแรงนั้น จะมีความสามารถในการรับแรงและต้านทานการบาดเจ็บได้มากอยู่ อย่างน้อยเมื่อสถานะการคับขับ มวยภายนอกก็จะสามารถเป็นเครื่องมือให้เราเอาตัวรอดในขั้นต้น ได้มากกว่ามวยภายใน ที่ต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนานในการพัฒนาทักษะขึ้นมา กว่าจะสามารถใช้ได้ดีในระดับหนึ่ง
ส่วนอีกเรื่องก็คือ พี่ต๊ะมองว่า การเรียนมวยหลายมวยนั้นเป็นตัวเสริมกันและกันได้อย่างดี(แต่การฝึกฝนต้องมีการแบ่งช่วงเวลาให้ไม่ปะปนกัน – ผู้เขียน) บางครั้งฝึกมวยชนิดหนึ่งมาหลายปีก็ไม่เข้าใจหลักบางอย่าง แต่พอได้ไปศึกษามวยชนิดอื่นซึ่งแตกต่างออกไปและฝึกฝนจริงจังจนเข้าใจมวยนั้น กลับมีทักษะบางอย่างที่ทำให้กลับมาเข้าใจมวยที่ติดขัดอยู่ จนฝีมือพัฒนาจากเดิมไปอีกหลายเท่า
ผู้เขียนหวังว่าการพูดคุยกับอาจารย์ชีวินหรือพี่ต๊ะในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ฝึกวิทยายุทธจีนในไทยทุกท่าน
(หมายเหตุ – ท่านที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถค้นหาด้วยคำว่า Taifudo ได้)
จากเพจ : Silk Road Kungfu Club – 博大武堂