ช่วงปลายปี พ.ศ.2538 ผมย้ายจากบ้านที่ อ.ดอยสะเก็ด ลงมาอยู่บ้านใน อ.เมืองเชียงใหม่ ผมเปิดบ้านเพื่อรับสอนไทฟูโดมีลูกศิษย์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทำให้ช่วงนั้นมีผู้ฝึกมวยจากแขนงต่างๆ ไปมาหาสู่ผมได้สะดวกขึ้น รวมถึง “เซี้ยง” ฉัตรณรงค์ รัตนวงศ์ รุ่นน้องที่ผมเจอตอนไปฝึกไอคิโด ที่ชมรมไอคิโด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนเจอกันผมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนการฝึกไท่เก๊กกับเซี้ยง
หัวข้อ
เริ่มเรียนไท่เก๊กกับเซี้ยง
เซี้ยงเล่าว่าเคยเรียนรำมวยไท่เก๊กตระกูลหยางกับอาจารย์เลอศิลป์ อักษรศรี เซี้ยงรำมวยไท่เก๊กชุด 81 ท่ารำ เซี้ยงรำไท่เก๊กย่อม้าได้ต่ำและท่วงท่ารำสวยมากคนหนึ่ง ผมจึงขอเล่นผลักมือด้วย แม้เซี้ยงจะรำมวยด้วยม้าต่ำได้แต่เมื่อผลักมือกัน เซี้ยงกลับโดนถอนได้ง่ายเพราะเซี้ยงอาจยังไม่สามารถจมแรงหยั่งรากได้นั่นเอง
ช่วงเวลานั้นเซี้ยงจึงมาฝึกมวยและเล่นไท่เก๊กเพิ่มเติมกับผมที่บ้าน (มวยไท่เก๊กในประเทศไทย เริ่มสืบสายมาจากมวยไท่เก๊กตระกูลหยาง อาจารย์ต่งอิงเจี๋ย (ตั่งเองเกี๊ยก) นำมวยไท่เก๊กมาเผยแพร่ในเมืองไทยเมื่อ พ.ศ.2498 ต่อมาในปี พ.ศ.2499 อาจารย์ต่งส่งบุตรชายของท่านคืออาจารย์ต่งหูหลิ่ง (ตั่งโหวเนี่ย) มาเป็นครูมวยไท่เก๊กคนแรกในประเทศไทย)
เซี้ยงพาผมไปพบพ่อครูฟ้อนเจิง
บ่ายวันหนึ่งเซี้ยงพาเพื่อนชื่อแสบ (ครูแสบ ธนชัย มณีวรรณ์) มาหาผมที่บ้าน แสบโชว์ฟ้อนเจิงมืออย่างคล่องแคล่วมีลีลาอ่อนช้อยสวยงามมากทีเดียว ทั้งสองขอให้ผมช่วยแกะท่าฟ้อนเจิงมือเพื่อใช้เป็นท่าต่อสู้ผมก็ช่วยแนะนำเพิ่มเติมให้ ผมยอมรับว่าผมมาเรียนที่มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่ในปี พ.ศ.2531จนปลายปี2538นี้ แม้จะเคยย้ายไปอยู่ที่อื่นบ้างแต่ก็ไปได้ไม่นานนัก ก็ได้กลับมาอยู่เชียงใหม่อย่างต่อเนื่องมาตลอด ผมเพิ่งเคยเห็นท่าฟ้อนเจิงมือครั้งแรกจากแสบที่มาฟ้อนให้ผมดูที่บ้านและรู้สึกประทับใจการก้าวย่างเดินขุมในการฟ้อนเจิงขึ้นมาทันที ผมสอบถามทั้งสองคนถึงพ่อครูที่สามารถสอนฟ้อนเจิงให้ เซี้ยงอาสาพาผมไปในวันรุ่งขึ้นทันที
การเรียนเจิง (เชิง)
เจิง (เชิง) คือ ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของชายชาวล้านนาในอดีต
ก่อนจะเรียนเชิง จะต้องทำพิธีตั้งขันครูโดยมีเครื่องประกอบในขันครูแตกต่างกันเครื่องประกอบในขันครูแตกต่างกันไปในแต่ละครูเมื่อตั้งขันครูแล้วจึงเริ่มเรียนได้ การเริ่มต้นเรียนเชิงนั้นมักจะเริ่มโดยการฝึกย่ำขุมซึ่งมีตั้งแต่ขุม 3 ไปจนถึงขุม 32 การฝึกย่ำขุมก็คือการฝึกแผนผังการเดินเท้าให้คล่องแคล่ว สามารถใช้งานในการต่อสู้ป้องกันตัวทั้งรุกและรับได้อย่างฉับไว จากนั้นจึงจะสอนลีลาของมือให้
แม่ท่าการฟ้อน
แม่ท่าการฟ้อนหรือที่เรียกว่าแม่ลายฟ้อนนั้นสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ
- ชื่อแม่ลายฟ้อนแต่ละท่าไม่เกี่ยวเนื่องกัน สามารถนำแม่ลายใดมาฟ้อนก่อนหลังก็ได้ แม่ลายฟ้อนกลุ่มนี้ เช่น บิดบัวบาน เกี้ยวเกล้า ล้วงใต้เท้ายกแหลก มัดแกบก้องลงวาง เสือลากหางเหล้นรอก เป็นต้น
- แม่ลายฟ้อนที่บันทึกไว้เป็นท่าต่อเนื่องกันไป เช่น สางฟ้อน หยุด ลางซ้าย ยกตีนซ้ายเข้าจิ เป็นต้น เมื่อเรียนการฟ้อนเชิงมือเปล่าได้คล่องแคล่วแล้ว พ่อครูที่สอนก็อาจจะสอนเชิงอื่นๆ ต่อไป เช่น เชิงดาบ เชิงไม้ค้อน เชิงหอก เมื่อเห็น ว่าศิษย์เรียนรู้วิชาจนใช้งานได้แล้ว ก็จะสอนแม่ป็อดให้ โดยครูจะพิจารณาดูว่าศิษย์คนใดมีอุปนิสัยเช่นไรก็จะสอนแม่ป็อดให้ต่างกันไป โดยถือคติว่าจะไม่ถ่ายทอดให้ศิษย์จนหมดเมื่อศิษย์ร่ำเรียนจนจบแล้ว ก็จะทำพิธีปลดขันครู โดยครูจะแบ่งขันครูให้ลูกศิษย์แต่ละคนไปดูแล เมื่อถึงปีใหม่หรือช่วงสงกรานต์ของทุกปี ก็จะจัดขันครูใหม่ทั้งหมดเพื่อทำพิธีไหว้ครูและเลี้ยงผีครู
การฟ้อนเชิงที่เห็นกันในปัจจุบันตามงานวัฒนธรรมต่างๆ นั้น เป็นการแสดงที่สืบทอดมาจากศิลปะการต่อสู้ของล้านนานั่นเอง แต่ผู้แสดงได้เพิ่มลีลาการฟ้อนให้อ่อนช้อยมากขึ้น จนหลายคนมองไม่ออกว่าเป็นศิลปะการต่อสู้ได้อย่างไร?
การฟ้อนเจิงในปัจจุบัน
ปัจจุบันการฟ้อนเชิงจะฟ้อนเข้ากับวงกลองต่างๆ เช่น วงกลองปู่เจ่ วงกลองมองเซิง วงกลองสะบัดชัย หรือกลองปู่จา เป็นต้น เพราะกลองเหล่านี้มักจะให้จังหวะที่คึกคักเร้าใจ เหมาะแก่การแสดงออกซึ่งความแข็งแกร่ง และพละกำลังของชายหนุ่ม แต่ผู้ฟ้อนบางคนก็นิยมฟ้อนเชิงเข้ากับวงดนตรีสะล้อซึง โดยเลือกเพลงที่มีจังหวะช้า-เร็วในตัว เช่น มอญเก๊าห้า เป็นต้น เครื่องแต่งกายของการฟ้อนเชิงนั้น โดยมากผู้ฟ้อนที่ฟ้อนตามงานวัฒนธรรมต่างๆ มักจะสวมกางเกงสะดอ เสื้อผ้าฝ้าย
ในธุรกิจขันโตก บางแห่งที่มีนโยบายจะอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมล้านนาแบบดั้งเดิม ผู้ฟ้อนจะสวมชุดกุยเฮง หรือหม้อห้อม แต่ในธุรกิจขันโตกทั่วไป หรืองานแสดงที่จัดต้อนรับกลุ่มนักท่องเที่ยว มักจะให้แต่งกายเป็นชุดนักรบโบราณ คือ สวมเสื้อยันต์ เค็ดม่าม เขียนลายสักที่ต้นขา ต้นแขน โพกผ้า เป็นต้น เพื่อสร้าง ความรู้สึกให้ดูฮึกเหิมสมจริง
ฟ้อนเจิง เป็นการร่ายรำตามกระบวนท่าตามแบบแผนที่แสดงออกถึงศิลปะในการต่อสู้ของชาย ซึ่งท่ารำนั้นมีทั้งท่าหลักและท่าที่ผู้รำแต่ละคน ในระยะแรก ฟ้อนเจิง หมายรวมเอาทั้งการฟ้อนประกอบอาวุธและไม่มีอาวุธโดยเรียกลักษณะการฟ้อนตามนั้นคือ ใช้ไม้ค้อน หรือไม้พลองประกอบการรำ เรียกว่า ฟ้อนเจิงไม้ค้อน
ใช้หอกประกอบการร่ายรำ เรียกว่า ฟ้อนเจิงหอก
ใช้ดาบประกอบการร่ายรำ เรียกว่า ฟ้อนเจิงดาบ ใช้ลา คือ ดาบวงพระจันทร์ประกอบการร่ายรำ เรียกว่า ฟ้อนเจิงลา
ร่ายรำด้วยมือเปล่า เรียกว่า ฟ้อนเจิงมือ
ต่อมาคำว่าเจิง ในการฟ้อนประกอบอาวุธต่างๆ ได้กร่อนหายไปและเรียกการฟ้อนเจิงประกอบอาวุธต่างๆ ตามชื่อของอาวุธเช่น ฟ้อนไม้ค้อน ฟ้อนหอก ฟ้อนดาบ ฟ้อนลา และเรียกการร่ายรำในลีลาการต่อสู้ด้วยมือเปล่านี้ว่าฟ้อนเจิง
การฟ้อนเจิงประกอบอาวุธบางประเภทนั้น ในระยะหลังไม่ค่อยได้รับความนิยม เช่น ฟ้อนเจิงไม้ค้อนและฟ้อนเจิงหอก แต่อาจพบอยู่บ้างในการพิธีฟ้อนผี ส่วนการฟ้อนเจิงลานั้นไม่ปรากฏว่ามีการฟ้อนให้เห็น ส่วนการฟ้อนเจิงดาบนั้น ได้รับความนิยมมากทั้งในการแสดงประกอบการตีกลองอย่างในขบวนแห่ครัวทานเข้าวัดและเป็นที่นิยมมากในการแสดงเชิงศิลปะวัฒนธรรมบนเวที สำหรับการฟ้อนเจิงมือ หรือฟ้อนเจิงนั้น จะมีลูกเล่นได้มากกว่าการฟ้อนประกอบอาวุธเพราะคล่องตัวมากกว่าที่จะต้องแสดงการรำอาวุธควบคู่กับการฟ้อน
คำว่า “ขุม” หมายถึงหลุม “เจิง” คือชั้นเชิงคนโบราณเวลาถ่ายทอดชั้นเชิงการต่อสู้ จะขุดหน้าดินให้เป็นหลุมลึกพอให้เห็น เพื่อกำหนดจุดหรือตำแหน่งการวางเท้า และเมื่อจะย้ายเท้าให้มีชั้นเชิง ก็ต้องเพิ่มจำนวนขุมให้มากขึ้น ขุมที่มากขึ้นจะมีหลักกำหนดในการย้ายเท้าตามตำรา จึงเกิดผังการเดินเท้า เรียกว่า “ขุมเจิง” การย่างย้ายเท้าต้องถูกต้องทั้งเชิงรุก เชิงรับและเชิงถอย อีกทั้งต้องกะระยะจังหวะการเหยาะย่างให้ถูกกระบวนยุทธ ที่เรียกว่า “ย่างขุม” การได้ฝึกฝนให้เกิดทักษะในการย่างขุมจะทำให้เกิดลักษณาการที่สง่างามในเชิง ยุทธลีลา
สำหรับแม่ลายนั้นเป็นสิ่งสำคัญควบคู่กับขุมเจิง กล่าวคือขุมเจิงเป็นทฤษฎีของการเดินเท้า ส่วนแม่ลายจะเป็นทฤษฎีของการเคลื่อนไหวของร่างกายส่วนบน โดยเฉพาะลำแขนและมือ คำว่า “แม่” คือ แบบฉบับ “ลาย”
คือลวดลายหรือลีลา (ชาวไทใหญ่เรียกการฟ้อนเจิงด้วยมือเปล่าว่า “ก้าลาย” ก้า หมายถึง ฟ้อน, ลาย คือลวดลายหรือชั้นเชิง), แม่ลาย หมายถึง แบบฉบับของศิลปะ ใช้กับศิลปะการฟ้อนเจิงโดยเฉพาะและถ้าจะอนุมานเข้ากับภาษาไทยภาคกลางก็น่าจะหมายถึง “ท่ารำ”
เมื่อประมาณ 90 ปีที่ผ่านมา ศิลปะการป้องกันตัวที่เรียกว่า “เจิง” แบบล้านนาไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่าหรือมีอาวุธ เช่น ดาบ ไม้ค้อน (พลอง) ยังเป็นที่นิยมกันอยู่ ชายชาตรียังคงเสาะแสวงหาครูอาจารย์ที่มีฝีมือดี เพื่อรับการถ่ายทอดไว้เป็นวิชาติดตัว ที่หมู่บ้านร้องวัวแดง ตำบลร้องวัวแดง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ มีชายฉกรรจ์ผู้หนึ่งมีฝีมือในเชิงต่อสู้เป็นที่เลื่องลือ ชายผู้นั้นคือ นายปวน คำมาแดง
พ่อครูปวน คำมาแดง
พ่อครูปวน คำมาแดง เป็นสล่าเจิง (เชิง) ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในล้านนา พ่อครูปวน คำมาแดง เป็นปู่ครูที่ถ่ายทอดเจิงที่มีลีลางดงาม และดุดันให้กับลูกศิษย์หลายต่อหลายคน ซึ่งล้วนแต่เป็นครูเจิงที่สร้างลูกศิษย์มากมายนับไม่ถ้วน
เมื่อคำนวณอายุจากปี พ.ศ.2500 อันเป็นปีที่พ่อครูปวนเสียชีวิต จึงคาดเดาว่าพ่อครูปวนน่าจะเกิดประมาณปี พ.ศ.2420 เป็นคนบ้านร้องวัวแดง อำเภอสันกำแพงในปัจจุบัน พ่อครูปวนออกบวชตั้งแต่อายุประมาณ 12-13 ปี มีโอกาสได้ติดตามพระอาจารย์ไปธุดงค์ขึ้นไปทางเหนือเรื่อยๆ ผ่านพม่าไปจนถึงสิบสองปันนา ประเทศจีน ระหว่างทางที่ธุดงค์ไปนั้น ก็ได้เรียนวิชาเจิง วิชามวยจากครูมวยที่มีชื่อเสียงหลายคนเพราะความที่สนใจในศิลปะการต่อสู้เป็นทุนเดิม เนื่องจากการออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์ไปจนถึงประเทศจีน จึงทำให้ขาดการติดต่อกับทางบ้านนานนับสิบปี ญาติๆ คิดว่าพ่อครูปวนคงจะเสียชีวิตแล้ว เมื่อมีการแบ่งที่ดิน แบ่งสมบัติกันจึงไม่มีเหลือให้พ่อครูปวน ท่านจึงลาสิกขาบทจากการบวชเป็นสามเณรและออกมาใช้ชีวิตฆราวาส
ด้วยความสนใจจึงได้ตระเวนศึกษาวิชาการต่อสู้ จากครูอาจารย์หลายสำนัก วิชาการต่อสู้ป้องกันตัวที่พ่อครูปวนได้เรียนนั้นจึงน่าจะมีทั้งเจิงของไทยวน ลายของไทใหญ่ มวยจีน และศิลปะการต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ได้พบเห็นทั้งที่เป็นศิลปะลายเมือง (ล้านนา) ลายแข่ (จีน) ลายห้อ (จีนฮ่อ) ลายเงี้ยว (ไทยใหญ่) และลายยางแดง (กะเหรี่ยง)ท่านเชี่ยวชาญหาตัวจับได้ยาก จนได้รับฉายาว่า “ปวนเจิง”
อาชีพหลักของนายปวน คือทำนา ฐานะค่อนข้างจะยากจน หลังจากฤดูทำนาได้ออกหารายได้พิเศษ ออกไปสอนลายเจิง ไปตามหมู่บ้านต่างๆ โดยมีเพียง “ผ้าป๊กกับจ้อง” (ผ้าห่อเสื้อผ้าและร่ม) และดาบคู่มือ 1 เล่ม ติดตัวไปถึงหมู่บ้านไหนก็สอบถามดูความประสงค์ว่าจะมีคนเรียนมากพอหรือไม่ ถ้ามีจำนวนพอสอนได้ ก็ตั้งสำนักชั่วคราวสอน โดยส่วนใหญ่จะใช้สถานที่สงัด เช่น วัด ป่าช้า สำหรับค่าสอนจะคิดเป็นเงินตามที่ตกลงกันว่าจะเรียนมากหรือน้อย หากใครไม่มีเงินก็ขอเป็นข้าวสาร ข้าวสารที่ได้ก็นำไปขายเป็นเงินอีกทีหนึ่ง เงินค่าสอนที่สะสมตามจุดสอนต่างๆ ได้นำไปซื้อวัวกลับบ้าน การออกตระเวนสอนบางครั้งใช้ระยะเวลาเป็นแรมเดือน กลับบ้านครั้งหนึ่งก็ได้วัวกลับไปด้วยครั้งละ 2-3 ตัว เมื่อถึงฤดูทำนา พ่อครูปวนก็ดำรงชีวิตเป็นชาวนาจนถึงเวลาเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้น ก็จะออกเดินทางไปสอนเจิงยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วไปทั้งในล้านนาและจังหวัดห่างไกล มีหลักฐานที่สืบค้นจากผู้ที่เรียนเจิงสายของพ่อครูปวน พบว่าพื้นที่ที่ไกลที่สุดที่พ่อครูปวนน่าจะเดินทางไปสอนเจิงก็คือจังหวัดสุโขทัย แต่ลูกศิษย์บางคนก็ว่าน่าจะไปถึงจังหวัดนครสวรรค์ก็มี
การไปสอนเจิงของพ่อครูปวนนั้นมักจะเป็นไปในรูปแบบของการหาเรื่องชวนต่อยตีจนเป็นที่รู้จัก พ่อครูปวนยังสร้างชื่อเสียงให้คนสนใจอีกหลายวิธี เช่น เมื่อไปถึงหมู่บ้านหนึ่งก็จะไปนอนตามป่าช้าให้ชาวบ้านสนใจและร่ำลือกันก็มี หรือบางครั้งไปพบน้ำบ่อห่าง หรือบ่อน้ำที่ไม่ใช้แล้ว ก้นบ่อแห้งขอด ก็จะกระโดดลงไปในบ่อน้ำแล้วตบมือเสียงดัง ตะโกนให้คนมามุงดูแล้วก็ท้าให้เขาเอาไม้พุ่งใส่ ซึ่งพุ่งลงไปเท่าไหร่ก็ไม่ถูกตัวพ่อครูปวนเลยแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำยังเอาไม้ที่ชาวบ้านพุ่งลงไปนั้นมาพาดขอบบ่อน้ำแล้วไต่ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เป็นต้น
อาณาเขตที่เดินทางไปสอน ขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ จำนวนศิษย์ที่ถ่ายทอดวิชาให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทุกคนเรียกด้วยความเคารพยกย่องว่า “พ่อครูปวน” โดยการสอนเจิงสร้างชื่อเสียง สร้างฐานะของตนเองนับตั้งแต่นั้นเป็นต้น เมื่อชื่อเสียงเป็นที่รู้จักก็เลิกอาชีพทำนาและยึดอาชีพเป็นพ่อครูสอนเจิงอย่างเดียว หมู่บ้านแม่คือตำบลแม่คืออำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่พ่อครูปวน ได้มีโอกาสไปสอนศิษย์ ที่หมู่บ้านนี้มีผู้สมัครเป็นศิษย์ประมาณ 10 คน และตามมาเรียนเอาวิชา พ่อครูปวนได้ฉายาว่า “พญาเตปอย” คือเมื่อมีงานปอยที่ไหนก็จะไปหาเรื่องกับชาวบ้านในงานให้ได้ประลองกำลังกัน มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพ่อครูปวนมีเรื่องกับใครแล้ว พอต่อยตีกันเสร็จ ตำรวจจะมาจับกุมในขณะที่คู่กรณีหนีหายไปแล้ว แต่พ่อครูปวนกลับนั่งรอตำรวจให้มาจับและท้าทายตำรวจให้จับให้ได้แต่ตำรวจก็จับตัวไม่ได้ เพราะพ่อครูปวนมีเคล็ดลับวิชาที่ทำให้เคลื่อนไหวร่างกายได้คล่องแคล่วว่องไว จนเล่าลือกันต่อๆ ไปว่า พ่อครูปวนมีคาถา “ปลาเหยี่ยนเผือก” ทำให้ตัวลื่นไหลเหมือนปลาเหยี่ยนหรือปลาไหล
เมื่อมีชื่อเสียงมากขึ้น มีคนมาเรียนเจิงมากขึ้น ได้เป็นครูเจิงแล้ว พ่อครูปวนก็เลิกไปก่อเรื่องวุ่นวายแต่ก็มีคนมาขอลองวิชาอยู่เรื่อยๆ และก็ต้องเจ็บตัวกลับไป ซึ่งก็ได้พ่อครูปวนเป็นคนรักษาให้เพราะนอกจากจะเป็นครูเจิงแล้ว พ่อครูปวนยังเป็นหมอเมือง (หมอพื้นบ้านรักษาโรค) อีกด้วย สุดท้ายคนที่มาลองวิชาก็มาขอเรียนด้วย จึงทำให้มีลูกศิษย์มากมายอยู่ทั่วไป
นอกเหนือจากการไปก่อเรื่อง หนึ่งในจำนวนนั้นมีนายกุย สุภาวสิทธิ์ ด้วย หลังจากได้รับการถ่ายทอดชั้นเชิงต่างๆ ซึ่งรวมถึงฟ้อนเชิงสาวไหมด้วย นายกุยก็อพยพไปอยู่บ้านศรีทรายมูล จังหวัดเชียงราย และได้ถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่สนใจอีกเป็นจำนวนมาก จนได้รับการยกย่องเป็น “พ่อครูกุย”
ในเวลาต่อมาพ่อครูกุยได้นำแม่ท่าสาวไหมในเจิงที่ได้เรียนจากพ่อครู ปวนไปสอนให้กับลูกสาวและดัดแปลงให้อ่อนช้อยขึ้น เหมาะกับการฟ้อนของผู้หญิง ส่วนฟ้อนสาวไหมที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เป็นที่ทราบกันดีว่าต้นฉบับมาจากนางบัวเรียว รัตนมณีกรณ์ ช่างฟ้อนของวัดศรีทรายมูลตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ฟ้อนสาวไหมของนางบัวเรียวได้รับการปรับปรุง ดัดแปลงท่ารำจากเจิงสาวไหมที่บิดาคือ นายกุย สุภาวสิทธิ์ ถ่ายทอดให้ จนพัฒนามาเป็นฟ้อนสาวไหมแบบฉบับของนาฏศิลป์ไทยปัจจุบัน
ฟ้อนสาวไหม ฟ้อน คือ การร่ายรำ, สาวไหม หมายถึง การดึงเส้นด้ายออกเป็นเส้นเพื่อนำไปทอเป็นเครื่องนุ่งห่มต่อไป คำว่า “ไหม” ในภาษาล้านนา หมายถึง เส้นด้าย เรียกด้ายสำหรับผูกข้อมือว่า “ด้ายไหมมือ” เรียกด้ายสำหรับเย็บผ้าว่า “ไหมหยิบผ้า” เรียกวัวที่มีสีขาวขุ่น คล้ายสีของด้ายดิบว่า “งัวไหม” กิจกรรมในวิถีชีวิตของชาวล้านนาส่วนใหญ่ผูกพันกับด้ายที่มาจากฝ้าย เพราะทำไร่ฝ้ายซึ่งเป็นพืชที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ มิได้มีอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเหมือนภาคอื่น ดังนั้น คำว่า สาวไหม จึงมิได้หมายถึง การสาวหรือดึงเส้นไหมที่เป็นเส้นใยของตัวไหมแต่ประการใด
ฟ้อนสาวไหม เป็นศิลปะการฟ้อนรำประเภทหนึ่งของชาวล้านนาที่มีพัฒนาการทางรูปแบบมาจากการเลียนแบบอากัปกิริยาการสาวไหม ผู้ฟ้อนที่เห็นส่วนใหญ่มักเป็นหญิงสาว ลีลาในการฟ้อนดูอ่อนช้อยและงดงามยิ่งและลีลาอันน่าดูชมนี้เองเป็นผลมาจากมายาวิวัฒน์แห่งศิลปะการต่อสู้ของชายชาตรีในล้านนาประเทศตั้งแต่อดีต
ในบรรดาผู้ที่ฟ้อนเจิงเป็นทั้งหลาย น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักคำว่า “สาวไหม” ช่างฟ้อนเจิงหรือที่เรียกว่า “สล่าเจิง” ทราบกันดีว่า “สาวไหม” เป็นลายเจิง (ท่ารำ) ที่งดงาม มีความเข้มแข็งและอ่อนช้อยสลับกันไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยลีลาการหลอกล่อ รับและรุกอย่างเฉียบพลันเมื่อศัตรูชะล่าใจ
ปัจจุบันการฟ้อนสาวไหม ที่เป็นลายเจิงยังมีปรากฏให้เห็นอยู่ โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยฟ้อนตอนสมัยหนุ่มๆ และมีการถ่ายทอดให้กับเยาวชนรุ่นใหม่บ้าง ในรูปแบบของ “ฟ้อนเจิง” เรียกว่า “เจิงสาวไหม” หลังจากที่พ่อครูปวนได้ถ่ายทอดแก่ศิษย์รุ่นแรกที่บ้านแม่คือนั้นแล้วต่อมามีคนขอร้องให้ไปสอนอีก ซึ่งพ่อครูก็มิได้ขัดข้อง พ่อครูปวนขณะนั้นอายุ 80 ปี ผู้ได้รับการถ่ายทอดมีประมาณ 7 คนและหนึ่งในจำนวนนั้นคือ นายคำสุข ช่างสาร (หล้า) ด้วย จึงนับได้ว่าพ่อครูคำสุขเป็นศิษย์ผู้น้องของพ่อครูกุยนั่นเอง
ตลอดชีวิตของพ่อครูปวนไม่เคยต่อสู้แพ้ใครเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่เมื่อปี พ.ศ.2500 เมื่ออายุได้ 80 ปี ท่านได้ขึ้นชกมวยในงานวัด คู่ต่อสู้เป็นหนุ่มฉกรรจ์อายุประมาณยี่สิบปีเศษ การชกในครั้งนั้นพ่อครูปวนเป็นฝ่ายแพ้ จึงทำให้ท่านตรอมใจตาย ซึ่งเป็นการแพ้ครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตของพ่อครูเจิงท่านนี้ (ข้อมูลจาก: สำนักส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
เซี้ยงพาผมไปหาพ่อครูคำสุข ช่างสารหรือพ่อครูหล้า พ่อครูคำสุขเป็นชาวบ้านแม่ก๊ะ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีอาชีพหลักเป็นเกษตรกร สนใจศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวตั้งแต่ยังเป็นเด็กได้เรียนเจิงกับครูหลายท่าน
พ่อครูคำสุขเป็นพ่อครูเชิงดาบ เชิงไม้ค้อน เป็นครูเจิงที่สืบสายลายเจิงและได้สืบทอดเจิงสาวไหมของพ่อครูปวน คำมาแดง อีกด้วย
พ่อครูคำสุข ช่างสาร ถ่ายทอดเจิงให้กับลูกศิษย์อีกมากมาย เช่น อาจารย์สนั่น ธรรมธิ ครูธนชัย มณีวรรณ์ (ครูแสบ) และนักศึกษาในชมรมพื้นบ้านล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกหลายสิบคน
การฝึกเจิงกับพ่อครูคำสุข
ผมกับเซี้ยงไปถึงบ้านพ่อครูคำสุขในช่วงบ่าย ท่านอายุค่อนข้างมากแล้ว เราพูดคุยกันอยู่ครู่หนึ่ง ผมบอกกับพ่อครูว่า ผมสนใจเรียนย่างขุมเจิงเพื่อนำมาเสริมการเคลื่อนเท้าในวิชามวยไทยที่ฝึกเดินย่าง3ขุมเป็นหลัก ถ้ามวยไทยได้ฝึกการเดินขุมต่างๆ ที่มีในเจิงล้านนาเพิ่มจะทำให้การเคลื่อนเท้าเพื่อใช้ทักษะมวยไทยที่ผมฝึกพัฒนาต่อยอดและได้ประโยชน์อีกมาก
พ่อครูฟังก็ลุกขึ้นเดินไปที่กอไผ่สีสุก ที่ปลูกบริเวณบ้าน แล้วตัดลำต้นไผ่สีสุกมาวัดความยาวจากเท้าถึงติ่งหูผมและเซี้ยงมาทำเป็นไม้ค้อน (พลอง) เพื่อใช้ฝึกกัน
พ่อครูให้เซี้ยงหยอดน้ำ แล้วขุดหน้าดินให้เป็นหลุมลึกพอให้เห็นเพื่อเป็นผังการเดินเท้า กำหนดจุดฝึกย่างขุมเจิง พ่อครูบอกให้เซี้ยงย่างขุมให้ผมดูก่อน
สักพักพ่อครูก็มาสาธิตย่างขุมประกอบการใช้พลองและสอนให้ ในการย่างขุมช่วงแรกของพ่อครูนั้นค่อนข้างช้าและดูไม่คล่องแคล่ว แต่พอพ่อครูได้ย่างขุมไปสักพักกลับเป็นการย่างขุมที่มีกำลังวังชาดูคล่องแคล่วว่องไว ต่างกับตอนต้นโดยสิ้นเชิง
ผมฝึกไม้ค้อนย่างขุม 12 และ 16 เสร็จจึงขอตัวกลับเพราะตอนเย็นผมมีนัดสอนไทฟูโดที่ในเมืองเชียงใหม่ พ่อครูบอกว่าให้ฝึกไม้ค้อนย่างขุม 17 ไปด้วยเลย แล้วคราวหน้าให้มาต่อเจิงดาบ ผมจึงเร่งฝึกขุม 17 เสร็จแล้วจึงลาท่านกลับ ครั้งนี้พ่อครูถ่ายทอดให้ผมอย่างมีเมตตา ผมรู้สึกซาบซึ้งใจยิ่งนัก
การเผยแพร่ศิลปะการต่อสู้ของผม
ในปี พ.ศ.2541 ผมย้ายกลับมาอยู่บ้านเกิดที่หาดใหญ่และเริ่มเผยแพร่ฝึกสอนไทฟูโดแก่ผู้สนใจ ราวปี พ.ศ.2546 เซี้ยงได้ส่งวีซีดีของพ่อครูส่างอินทร์พรหม ครูลายไตเชิง 12 ไว้ให้ผมได้ศึกษาเพิ่มเติม
ต้นเดือนมีนาคมปี พ.ศ.2547 ผมกลับไปเที่ยวที่เชียงใหม่เพื่อเยี่ยมเยือนเพื่อนๆ กลุ่มสล่า (ช่าง) ทำดาบ สล่ากุ้ง (ดิษฐิดุลย์ ราชแพทยาคม) สล่าโอ (ครูพรชัย ตุ้ยดง) กลุ่มเพื่อนเจิงมวย, เจิงดาบและฟ้อนเจิง ทั้งเซี้ยง (ฉัตรณรงค์ รัตนวงศ์) และครูแสบ (ครูธนชัย มณีวรรณ์) และในการไปเชียงใหม่ครั้งนี้ผมได้ชักชวนเพื่อนๆ ไปพบพ่อครูเจิงที่พอจะไปหาได้ผมได้ขึ้นขันกับพ่อครูสิงห์คำที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ พ่อครูสิงห์คำซำยาให้ (สัก) และสอนเชิงดาบคู่ให้ผม และมีโอกาสได้พบพ่อครูทูลแข่ง เพื่อขอซำยา (สัก) พ่อครูทูลแข่งก้าลาย หรือฟ้อนเจิง ศิลปะของชาวไทใหญ่ให้ชมด้วย
ในปี พ.ศ.2548 นายสงบ ธนบำรุงกูล ซึ่งฝึกไทฟูโดกับผมตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 ที่ชมรมศิลปะป้องกันตัว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ สงบเรียนจบแล้วจึงไปทำงานที่กรุงเทพฯ สงบเป็นลูกศิษย์สายในไทฟูโดสายดำดั้ง 1 ในขณะนั้นเป็นผู้นำฝึกซ้อมไทฟูโดให้แก่กลุ่มผู้สนใจไทฟูโด ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีหรือมหาวิทยาลัยบางมด ภายในสองเดือนมีผู้สนใจเพิ่มมากขึ้นถึงกว่า 50 คน ทำให้สงบอยากจัดงานพิธีไหว้ครูไทฟูโด และจัดอบรมสัมมนาหลักสูตรไทฟูโดระยะสั้นขึ้นด้วย โดยเชิญผมในฐานะอาจารย์ผู้ก่อตั้งไทฟูโดเป็นวิทยากร ผมจึงเดินทางจากหาดใหญ่ไปกรุงเทพฯ ครั้นเมื่อเสร็จจากการอบรมสัมมนาหลักสูตรไทฟูโดและงานพิธีไหว้ครูไทฟูโดแล้ว ผมพาลูกศิษย์ที่มาเรียนไท่เก๊กกับผมที่หาดใหญ่ ชื่อปิแอร์เป็นชาวแอฟริกาใต้ (ผิวขาว) เดินทางต่อจากกรุงเทพฯไปยังเชียงใหม่ ครั้งนี้ผมได้ขึ้นขันครูวิชากระเรียนกับพ่อครูปายเมือง ลายไส อ.เวียงแหง เชียงใหม่ พ่อครูเจิงสายไทใหญ่
อีกด้วยขอขอบคุณเซี้ยง สล่าโอและครูแสบล้านนา ผู้แนะนำและพาผมไปพบครูดาบครูเจิงล้านนาทุกท่าน วัยเด็กผมตัวเล็กและผอม ชอบถูกเพื่อนๆรังแก จนวันหนึ่งเริ่มฝึกผมฝึกศิลปะการต่อสู้ ผมก็บอกกับตัวเองว่า “จะไม่ให้ใครมารังแกเราอีก จะไม่ทน ทนไม่ได้ ซัดมันเลย” เมื่อเรียนวิชาหนึ่งแล้วเห็นวิชาอื่นซึ่งมีข้อดีที่แตกต่างจากวิชาที่เรียน ก็อยากเรียนเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ เลยเปิดใจศึกษาวิทยายุทธแทบจะทุกสำนักที่หาได้ เพราะอยากเก่งและไว้ใช้ต่อสู้ไม่ให้ใครมารังแก
จนเมื่อปี พ.ศ.2538 ที่ผมมีโอกาสเจอพ่อครูคำสุข ช่างสาร ครูสอนเจิง เชิงดาบล้านนาที่มีชื่อเสียง ท่านเป็นผู้มีเมตตาจิตที่ทำให้ผมได้หลงใหลในศาสตร์แห่งศิลป์ของศิลปะ เชิงมวยเชิงดาบของล้านนา โดยเฉพาะการเดินขุมเท้า หลังจากผมได้เรียนกับพ่อครูในวันนั้น ต่อมาไม่นานเท่าไหร่ท่านก็ได้เสียชีวิตลง ผมรู้สึกเสียดายวิชาความรู้ของพ่อครูคำสุขที่ท่านสั่งสมมา การเจอพ่อครูคำสุขทำให้ผมเปลี่ยนความคิดที่จะฝึกมวยเพื่อไว้ใช้ต่อสู้ เป็นเรียนไว้เก็บสะสมความรู้ด้านวิทยายุทธโดยมีความตั้งใจว่าเราจะเอาตัวเองเป็นห้องสมุดมวยที่มีชีวิตเเละ “ใช้มวยเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม” นับแต่นั้นมา
ติดต่อเรา
- สถานที่ : ถนน ปุณณกัณฑ์ ตำบล คอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ สงขลา 90110
- Facebook : Taifudo Academy – โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
- Instagram : taifudoacademy.official
- Tiktok : Taifudo Academy
- Twitter : Taifudo Academy
- Youtube : @taifudoacademy
- LINE : Taifudo Academy
- เบอร์โทร : 083 923 4204
- เว็บไซต์ : www.taifudo.com
- แผนที่ : Taifudo Academy