ในปี พ.ศ.2532 ขณะนั้นผมยังฝึกมวยจีนที่สำนักลิ่วเหอกับหมอน้อย หมอน้อยมีชื่อเสียงทางด้านรักษากระดูกเส้นเอ็นแบบแผนจีนโบราณทั้งยังเป็นครูสอนมวยจีนอยู่ที่ในเมืองเชียงใหม่มานานแล้ว (หมอน้อยให้ผมเรียกท่านว่า “พี่น้อย” แทนคำว่าหมอน้อย หรืออาจารย์น้อย) เวลาหนึ่งทุ่มถึงสามทุ่มของทุกวันอาจารย์น้อยนัดผมให้ไปฝึกมวยจีนที่บ้านพี่บูลย์ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักลิ่วเหอ พี่บูลย์นั่งบนรถเข็นเพราะเคยประสบอุบัติเหตุขาพิการ คนนำฝึกคือพี่ชุม ทั้งสองคนเป็นศิษย์น้องของอาจารย์น้อย ทั้งหมดเรียนมวยจีนมาจากอาจารย์ก๋วยเส็ง เมื่อเวลาสามทุ่มผมฝึกมวยจากสำนักลิ่วเหอเสร็จ ผมก็ไปฝึกต่อที่บ้านอาจารย์น้อยต่ออีก
ต่อมาอาจารย์น้อยชวนอาจารย์โจ เหล่าวาง (อาจารย์โจบอกว่าท่านเป็นชาวมูเซอดำ มีอาชีพพ่อค้าคาราวานเพชรพลอยบนดอย) มาร่วมกันทำสำนักมวยจีนกับสำนักลิ่วเหอของอาจารย์น้อยและตกลงใช้ชื่อว่าสำนักมวยจีนมังกรธิเบต อาจารย์โจมีทักษะมวยจีนเป็นที่ยอมรับว่าแข็งแรง ดุดัน ทำให้ผมได้ฝึกมวยจีนกับอาจารย์น้อย และมีอาจารย์โจเข้ามาที่สำนัก (บ้านพี่บูลย์) เพื่อมาถ่ายทอดมวยจีนให้พวกเราเพิ่มเติมอีก
หัวข้อ
จุดเริ่มต้นการก่อตั้งชมรมศิลปะป้องกันตัว ม.อ. (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
ในปี พ.ศ.2532 นั้นผมเรียนอยู่ชั้นปี 2 คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยวมหาวิทยาลัยพายัพจังหวัดเชียงใหม่ ผมทำเรื่องกับทางฝ่ายกิจกรรมของมหาวิทยาลัย เพื่อขอจัดตั้งชมรมศิลปะป้องกันตัวขึ้น มีคนสนใจและสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกในครั้งแรกจำนวน 100 กว่าคน ผมขอตั้งชมรมและใช้ชื่อชมรมในครั้งแรกว่า “ชมรมศิลปะป้องกันตัวโด”
ภายหลังไม่นาน ผมก็เปลี่ยนชื่อชมรมมาเป็น “ชมรมศิลปะป้องกันตัวไทฟูโด” โดยคิดตั้งชื่อแบบง่ายๆ ขึ้นในตอนนั้นเพื่อให้ออกเสียง โดยมีนัยให้พอเข้าใจได้ว่าผม ผู้ก่อตั้งชมรมและผู้นำฝึกซ้อมมีทักษะมวยไทย (ฝึกกับครูทอง เชื้อไชยา) กังฟู (สำนักลิ่วเหอและสำนักมวยจีนมังกรธิเบต) และคาราเต้โด (ชมรมคาราเต้โดมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย) รวมถึงเทควันโด (ฝึกกับอาจารย์กฤช วรธำรงค์) ด้วยการก่อตั้งศิลปะป้องกันตัวชื่อไทฟูโด จึงได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2532 ที่มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่
ในวันแรกที่เปิดชมรมศิลปะป้องกันตัวไทฟูโด ผมเชิญอาจารย์โจ เหล่าวาง มาเป็นเกียรติด้วย ในครั้งนั้น อาจารย์โจเดินไปที่ต้นฉำฉา (จามจุรีแดง) (ก้ามปู) หน้ามหาวิทยาลัยพายัพเพื่อโชว์การส่งพลังกระแทกสั้นๆ ไปยังฝ่ามือทั้งสองที่แตะอยู่ที่ลำต้นของต้นฉำฉาขนาดใหญ่ พลังกระแทกนั้นทำให้กิ่งไม้แห้งๆ และผุที่ยังคาติดอยู่กับต้นพากันร่วงลงมาจำนวนมาก เหล่าสมาชิกที่ได้ชมพากันทึ่งในพลังของอาจารย์โจ เมื่อชมรมเปิดให้มีการฝึกซ้อมก็มี
สมาชิกมาฝึกอย่างสม่ำเสมอราว 30 กว่าคน โดยผมเป็นผู้นำฝึกซ้อมทักษะมวยให้กับสมาชิกในชมรม ทักษะที่ผมนำมาให้สมาชิกในชมรมฝึกในช่วงแรกนั้นมีรูปแบบทักษะการออกหมัดชกแบบคาราเต้ ท่าเตะแบบทั้งคาราเต้และเทควันโด รวมถึงฝึกทักษะการทุ่มของยูโดเป็นหลัก ส่วนทักษะอื่นๆ ที่ผมเคยฝึกมา ผมก็ยังฝึกซ้อมด้วยตัวเอง มวยจีนผมก็ยังคงฝึกที่สำนักตามเวลาปกติ
ต่อมามีการจัดงานพิธีไหว้ครูของสำนักมวยจีนมังกรธิเบตที่บ้านพี่บูลย์ขึ้น อาจารย์โจบอกชื่อมวยและอาวุธต่างๆ ที่สามารถถ่ายทอดได้ให้พวกเราเลือกว่าจะเรียนอะไรอาจารย์โจให้เลือกคนละสองอย่าง ผมเลือกอย่างแรกคือเพลงเตะทิก๋วยลี้ ที่ต้องแลกกับกระดูกเท้าหักก่อนถึงจะได้เรียนและอีกอย่างคือพลองผู้เฒ่า “ทำไมนายเลือกเรียนพลอง ไม่เลือกเรียนเพลงมวยไว้ก่อน อาวุธมันถือไปไหนไม่ได้” อาจารย์น้อยถามผมน้ำเสียงไม่เห็นดีด้วย ผมรู้ว่าทำไมผมถึงอยากเรียนพลองผู้เฒ่า ผมตอบอาจารย์น้อยไปว่า “………………..”
“หม่าม้าไม่ชอบให้ต๊ะไปมีเรื่องชกต่อยกับใคร” นี่คือประโยคที่หม่าม้าบอกผมตั้งแต่เล็กด้วยน้ำเสียงหนัก และดุ เรียนมวยไม่ดีตรงไหน เราโดนรังแกก็สามารถช่วยป้องกันตัวได้ ผมคิด ผมเริ่มฝึกมวยโดยที่ไม่ให้หม่าม้ารู้ แต่เวลาผ่านไปไม่นานก็ปิดไม่ได้อีกต่อไป “หม่าม้าไม่อยากให้ต๊ะเล่นมวย อยากให้ตั้งใจเรียนหนังสือให้ดี” หม่าม้าพูดเสียงหนักอีกครั้งเมื่อทราบว่าผมหันมาฝึกมวยอย่างจริงจัง หม่าม้าเล่าว่าตอนผมยังเล็กเคยมีคนมาทักว่า เลี้ยงดูลูกชายคนนี้และดูแลให้ดีๆ ดวงเด็กคนนี้ “ถ้าเป็นพระจะได้เป็นถึงสังฆฯ ถ้าเป็นโจรจะเป็นถึงขุน”
นี่คงเป็นเหตุผลหลักที่ฝังใจหม่าม้าไม่อยากให้ผมมีเรื่องทะเลาะชกต่อย หม่าม้าคิดไปว่ายิ่งถ้าผมได้ฝึกมวยก็ยิ่งกระตุ้นให้ผมใช้กำลังในการตัดสินปัญหา จนสักวันอาจต้องเดินไปหนทางโจรก็อาจเป็นได้
ครั้งหนึ่งหม่าม้าเคยเล่าประวัติให้ฟังว่า หม่าม้าเกิดที่อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช พ่อของหม่าม้าเป็นชาวจีนอพยพมาจากเมืองกู่เถียง อำเภอฮกจิว มณฑลฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยน ประเทศจีน ไปยังประเทศมาเลเซีย ก่อนจะอพยพมาปักหลักปักฐานที่อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช อาจารย์ชวลิต อังวิทยาธร กล่าวไว้ใน ประวัติศาสตร์โบราณคดี ผู้คนและวัฒนธรรมนครศรีธรรมราชว่า ในราว พ.ศ.2472-2473 ชาวจีนที่ใช้ภาษาฮกจิว จากอำเภอฮกจิว มณฑลฺกเกี้ยน ที่เคยอพยพมาอยู่ที่เปรัค ประเทศมาเลเซียได้อพยพเข้ามาอยู่ในบ้านนาบอนและบ้านจันดี จังหวัดนครศรีธรรมราช ชาวจีนที่นาบอน และคลองจันดีเป็นบรรพบุรุษของชาวฮกจิวในประเทศไทย นาบอนซึ่งเป็นตำบลในเขตอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2518 ได้ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอโดยได้แยกตำบลทุ่งสงตำบลนาบอนและบางส่วนของตำบลนาโพธิ์มาสังกัดจนถึง พ.ศ.2524 ได้ยกฐานะเป็นอำเภอนาบอนตามประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 115 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2524
ชาวฟูโจว หรือ ฮกเกี้ยนเหนือ หรือ ชาวฮกจิว มีจำนวนมากในจังหวัดภูเก็ต นครศรีรรมราช โดยเฉพาะอำเภอนาบอน และตำบลจันดี และปัตตานี
พ่อของหม่าม้า (คุณตาหรือฮัวกง (แต้จิ๋ว) หรืองวยกุ๊งในภาษาฮกจิว) ซึ่งอพยพมาอยู่ที่นาบอนแล้วนั้นมีภรรยาคนแรกและได้เสียชีวิตลง จึงได้เดินทางไปพบแม่ของหม่าม้า (คุณยายหรือฮัวม่า (แต้จิ๋ว) หรืองวยม่าในภาษา ฮกจิว) ตามคำแนะนำของญาติผู้ใหญ่ให้มาอยู่ที่อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้วยกัน หม่าม้าจึงเกิดที่บ้านนาบอน พออายุได้แค่ 2 ขวบงวยกุ๊งก็เสียชีวิตลง (หม่าม้าผมมีพี่ชายต่างมารดาอีก 2 คน) ทำให้หม่าม้าฟังเรื่องเล่าของงวยกุ๊งแทบทั้งหมดจากงวยม่าเล่าอีกที
งวยม่าเล่าให้หม่าม้าฟังอีกว่า สมัยนั้นคนจีนมาบุกเบิกนาบอนร่วม 10 คน มีแค่ 4 ตระกูลที่ร่วมกันก่อตั้งโรงเรียนจีนจงหัวเซียะเซี่ยว มีตระกูลผ่าง, ตระกูลเฉิน (ติ่ง), ตระกูลเล่า อีกตระกูลต้องถามคนแก่ๆที่นาบอนดู เพราะหม่าม้าจำไม่ได้แล้ว ผู้ที่ร่วมก่อตั้งคือตระกูลที่มาบุกเบิก จนมีฐานะพอสมควร สามารถที่จะทำประโยชน์ให้กับลูกหลานของชาวจีนทุกคนที่มาบุกเบิกนาบอนด้วยกัน งวยม่าบอกว่างวยกุ๊ง (ตระกูลเฉิน) เป็นผู้ริเริ่มแล้วชวนเพื่อนๆที่มีความคิดเดียวกันมาร่วมก่อตั้งโรงเรียนจีนจงหัวเซียะเซี่ยวจนสำเร็จ ในสมัยนั้นงวยกุ๊งโอนเงินไปฝากธนาคารที่เมืองจีนมากหลายล้านบาทตั้งใจว่าจะส่งลูกชายไปเรียนที่เมืองจีน พอจีนกับไทยตัดสัมพันธไมตรีกัน ก็เลยส่งลูกชายไปเรียนที่เมืองจีนไม่ได้ จึงส่งลูกชายไปเรียนที่รัฐปีนังตั้งแต่อายุยังน้อย คนจีนที่อยู่นาบอนไม่ใช่จะส่งลูกๆไปเรียนได้ทุกครอบครัว บางคนที่มาบุกเบิกฐานะยังไม่ดีก็ส่งลูกไปเรียนที่ปีนังไม่ได้ก็ไม่ได้เรียน สี่ตระกูลจึงสร้างอาคารและก่อตั้งโรงเรียนจีนจงหัวเซียะเซี่ยว เพื่อให้ลูกหลานของทุกครอบครัวได้เรียนหนังสือ
ส่วนเงินที่งวยกุ๊งฝากในธนาคารประเทศจีน เมื่องวยกุ๊งเสียชีวิต ครอบครัวเราคงไม่มีวาสนาใช้เงินนั้นเพราะไม่รู้ว่าจะเบิกอย่างไร ทางจีนบอกให้เจ้าของบัญชีมาเบิก เจ้าของบัญชีตายแล้ว ทายาทเบิกไม่ได้ ถ้าเบิกได้เราคงไม่ลำบาก เคยให้ญาติที่จีนติดต่อธนาคารว่าลูกชายของเจียเซี่ยว (ชื่อของงวยกุ๊ง) มาเบิกเงินที่ธนาคารได้มั้ย ทางธนาคารปฏิเสธการเบิก เงินก้อนนั้นคงตกเป็นของรัฐบาลจีนไปแล้ว
งวยกุ๊ง เป็นคนเก่ง ขยัน ทั้งอดทนสู้จนประสบความสำเร็จ และเป็นที่นับถือของคนทุกคนใน อ.นาบอน งวยกุ๊งทำให้โจรกลับใจมาทำงานเป็นลูกจ้างที่ภักดีได้ด้วย พอฟังถึงตรงนี้ผมขอให้หม่าม้าช่วยขยายความให้ฟังว่าทำให้โจรกลับใจมาทำงานเป็นลูกจ้างที่ภักดีได้ คืออะไร ยังไงกัน
หม่าม้าบอกผมว่างวยม่าเคยเล่าให้ฟังว่ามีโจร 6 คนเข้ามาขโมยน้ำยางในสวนยาง งวยกุ๊งใช้ไม้พลองสู้กับโจรทั้ง 6 คน จนต่อมาโจรทั้ง 6 คนกลับมาเพื่อขอให้งวยกุ๊งสอนมวยให้ แต่งวยกุ๊งไม่ยอมสอน กลับชวนทั้งหมดให้มาทำงานดูแลสวนยางให้กับงวยกุ๊ง ทั้งหมดก็ตกลงทำงานเป็นลูกจ้างที่ซื่อสัตย์และภักดีต่องวยกุ๊งตลอดมา
“ต๊ะรู้แล้วที่ต๊ะชอบฝึกมวยก็เพราะมีเลือดงวยกุ๊งถ่ายทอดมานี่เอง อากุ๊ง (อากงหรือคุณปู่) ก็รำไท่เก๊กด้วย ต่อไปนี้หม่าม้าเลิกห้ามให้ต๊ะเล่นมวยแล้วนะ” ผมพูดด้วยความดีใจและรู้สึกภูมิใจในประวัติของงวยกุ๊งอย่างมาก
“ไม่เกี่ยว ยังไงก็ต้องมุ่งเรื่องเรียน” หม่าม้าตัดบทเพราะเริ่มรู้สึกว่าประวัติงวยกุ๊งเริ่มเข้าทางผม
“ทำไมนายเลือกเรียนพลอง ไม่เลือกเรียนเพลงมวยไว้ก่อน อาวุธมันถือไปไหนไม่ได้” อาจารย์น้อยถามผมน้ำเสียงไม่เห็นดีด้วย ผมรู้ว่าทำไมผมถึงอยากเรียนพลองผู้เฒ่า ผมตอบอาจารย์น้อยไปว่า “ตาผมเคยใช้พลองปราบโจร 6 คนผมจึงอยากศึกษาพลองไว้ด้วยครับ”
ผมในฐานะผู้ที่สืบทอดสายเลือดนักสู้จากบรรพบุรุษ ต้นตระกูลผมมีความเป็นนักสู้ที่ถ่ายทอดมายังผม และสิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งแรงขับที่ทำให้ผมยังคงฝึกฝนและก้าวต่อไปในหนทางแห่งการฝึกยุทธ
ติดต่อเรา
- สถานที่ : ถนน ปุณณกัณฑ์ ตำบล คอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ สงขลา 90110
- Facebook : Taifudo Academy – โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
- Instagram : taifudoacademy.official
- Tiktok : Taifudo Academy
- Twitter : Taifudo Academy
- Youtube : @taifudoacademy
- LINE : Taifudo Academy
- เบอร์โทร : 083 923 4204
- เว็บไซต์ : www.taifudo.com
- แผนที่ : Taifudo Academy